X

เจาะใจ ธีรภัทร์ ธิติโสตถิกุล CEO OneCharge เราคือ VISA แห่งวงการเครื่องชาร์จ/สถานีชาร์จ EV

Last updated: 22 พ.ย. 2567  |  785 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เจาะใจ ธีรศักดิ์ ธิติโสตถิกุล CEO OneCharge “เราคือ VISA แห่งวงการเครื่องชาร์จ/สถานีชาร์จ EV”

“OneCharge” เป็นผู้ให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ประกาศแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างชัดเจนว่ามุ่งนำเสนอโซลูชั่น แอพพลิเคชั่น และแพลตฟอร์มสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ท อพาร์ทเมนท์ และคอนโดมิเนียม ทั้ง Normal Charge (AC) และ Fast Charge (DC) ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นกิจการ โดยปลายทางคือการก้าวย่างสู่ “แพล็ตฟอร์มระดับเอเชีย”

ด้วยจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะลุยตลาดแพลตฟอร์มสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าโดยไม่ลงทุนทำสถานีชาร์จฯเอง และไม่ลงทุนผลิตหรือนำเข้าเครื่องชาร์จมาทำตลาดภายใต้แบรนด์ “OneCharge”  แต่เลือกที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มร่วมกับผู้ผลิต/จำหน่ายเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทุกแบรนด์ที่สนใจร่วมเป็นพันธมิตรในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรมากกว่า 30 แบรนด์นั้น มีส่วนอย่างมากที่ทำให้ “OneCharge” สามารถขยายการให้บริการได้อย่างรวดเร็วน่าจับตา

ใครเลยจะคาดคิดว่าจากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ช่วงต้นปี 2566 ธีรภัทร์ ธิติโสตถิกุล ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วันชาร์จ โซลูชั่น จำกัด เคยเปิดเผยตัวเลขของสถานีชาร์จที่ใช้แพลตฟอร์มของวันชาร์จว่ามีอยู่เพียง 20-30 สถานี ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนล่าสุดมีผู้เข้ามาใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นของวันชาร์จประมาณ 8% หรือประมาณ 8,000-9,000 ยูสเซอร์ ของจำนวนผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทย

ปริมาณยูสเซอร์ที่ใช้แอพพลิเคชั่นวันชาร์จที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นสะท้อนถึงการทำตลาดที่เดินไปในทิศทางที่สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด แน่นอนว่ากว่าจะทำตัวเลขการเติบได้ในระดับนี้ ต้องมีกลยุทธ์ในการบริหารกิจการที่ได้รับความยอมรับและไว้วางใจเลือกใช้บริการในกลุ่มผู้ค้าเครื่องชาร์จ EV และผู้สนใจลงทุนสร้างสถานีชาร์จอิสระ

จะว่าไปแล้ว สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันถูกครอบครองโดยผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ขณะที่ในส่วนของตลาดเครื่องชาร์จรถ EV มีการแข่งขันค่อนข้างดุเดือด มีผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายกว่า 100 แบรนด์ ณ สถานการณ์ตลาดแบบนี้ “OneCharge” เลือกวางหมุดหมายให้กิจการเติบโตไปในทิศทางไหน เป็นประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง...

สถานการณ์การทำธุรกิจของวันชาร์จปัจจุบันเป็นอย่างไร

มีการขยายไปในกลุ่มลูกค้าที่เป็นบริษัทฯค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เป็นฟลีตของบริษัทที่อยากจะเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และมีไพล็อตโปรเจคที่สระบุรี เป็นสถานี DC Charger 360 กิโลวัตต์ 2 เครื่อง 4 หัวชาร์จ ให้บริการบริษัทขนส่งที่ใช้รถบรรทุกไฟฟ้าสามารถเข้ามาชาร์จได้ ตอนนี้มีลูกค้าประจำอยู่ 3 ราย ส่วนของระบบบริหารจัดการสามารถใช้ได้ทุกหน่วยงานในแอปพลิเคชั่นเดียว คือแอปฯวันชาร์จ



ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

ตอนนี้มีคนเข้ามาใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นของวันชาร์จประมาณ 8% ของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าในไทย มีประมาณ 8,000-9,000 ยูสเซอร์ รวมทั้งไอโอเอสและแอนดรอยส์ เพราะในไทยมีผู้ใช้รถ EV อยู่ประมาณ 100,000 ราย

ที่ขยายได้เยอะเพราะวันชาร์จมีพันธมิตรเยอะ ตอนนี้มีพันธมิตรกี่ราย

มีประมาณ 30 ราย เป็นกลุ่มผู้จำหน่ายเครื่องชาร์จที่ไม่มีแพล็ตฟอร์มของตัวเอง แต่มาเลือกใช้ของวันชาร์จ แล้วเอาไปกระจายเครือข่ายของเขาอีกทีนึง

จุดเด่นของวันชาร์จคือแพล็ตฟอร์ม

วันชาร์จทำตลาดโดยเน้นแพล็ตฟอร์ม และซอฟท์แวร์อย่างเดียว ไม่อยากเป็นเหมือนสถานีชาร์จหรือผู้จำหน่ายเครื่องชาร์จ EV ที่ทำตลาดเน้นบีทูซี คือลงทุนเครื่องชาร์จ แล้วนำไปจัดจำหน่ายให้อีวียูสเซอร์อีกทีนึง เราทำตลาดแบบบีทูบีทูซี คืออาจจะไปครอบระบบกับเครื่องชาร์จ EV ที่ไม่มีระบบ หรือไปตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ให้ลูกค้าที่สนใจซื้อเครื่องชาร์จแล้วต้องการใช้ระบบของวันชาร์จ

ทำอย่างไรแพล็ตฟอร์มวันชาร์จถึงได้เป็นที่สนใจและมีพันธมิตรเป็นจำนวนมาก

เราเป็นโอเพ่นแพล็ตฟอร์มเดียวที่ทำโซลูชันประมาณนี้ และก็ทำก่อนใคร มองว่าเรื่องการตลาดหรือมาร์เก็ตติ้ง ลูกค้ามักจะมีการบอกต่อกัน ขณะเดียวกันก็เน้นทำการตลาดแบบอินบาวด์มาร์เก็ตติ้ง ทำให้แบรนด์น่าเชื่อถือผ่านโซเชียลมีเดีย

ตอนนี้มีแพลนจะขยายบริการเพิ่มที่อื่นอีกไหม

ถ้าให้เจาะจงตามจังหวัดก็เลยยังบอกไม่ได้ เพราะพาร์ทเนอร์ของเรามีเข้ามาเรื่อยๆ ลูกค้าต่างจังหวัดก็มีหลากหลาย ส่วนในกรุงเทพฯนั้นเริ่มมีเครื่องชาร์จ DC เพิ่มมากขึ้น เพราะเริ่มมีแท็กซี่ที่ใช้รถอีวีมากขึ้นก็เข้ามาชาร์จกันเยอะขึ้น

เท่าที่ติดตามในเพจ แม้แต่ศูนย์ศัลยกรรมวันชาร์จก็มีไปติดตั้งที่ชาร์จให้

มีเหมือนกันครับ มีหลากหลายมาก ผมเลยบอกเจาะจงมากๆ ไม่ค่อยได้เท่าไหร่ ต้องบอกว่าเครื่องชาร์จ EV สามารถติดตั้งได้ทุกที่ เพราะทุกพื้นที่มีไฟฟ้าเข้าถึงหมด ถ้าหากสถานที่แห่งไหนมีที่จอดรถก็สามารถติดตั้งได้แล้ว

ถ้าเป็นเฉพาะสถานีชาร์จที่วันชาร์จลงทุนทำล้วนๆ มีเยอะไหม ที่เป็นโลโก้วันชาร์จเลย

จริงๆ วันชาร์จเราไม่ได้ลงทุนทำสถานีชาร์จเอง แต่ว่าจะมีลูกค้าวิ่งเข้ามาหาเรา อยากจะให้ออกแบบสถานีชาร์จให้ แล้วก็ใช้โลโก้วันชาร์จ รูปแบบนี้มีหลายสถานีเหมือนกัน คือสถานีชาร์จ EV ทุกที่มีโลโก้วันชาร์จติดอยู่นั้น เราเปรียบเสมือนเป็นวีซ่า หรือมาสเตอร์การ์ดของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า



วางโพซิชั่นของตัวเองไว้ตรงนั้น

ใช่ครับ เราโพสิชั่นตัวเองเหมือนเป็นวีซ่าในวงการเครื่องชาร์จ มองว่าเลเยอร์จากการที่ทำโพรดักส์ในรูปแบบเซอร์วิส มันก็คือแพล็ตฟอร์ม คือตัวซอฟท์แวร์ มองว่าถ้ามุ่งพัฒนาธุรกิจในรูปแบบนี้จะไปได้ไกลกว่า สามารถขยายออกต่างประเทศ คือออกไปนอกบ้านเราได้ด้วย เคยมีคนอยากให้เราพัฒนาเครื่องชาร์จเหมือนกัน ส่วนตัวมองว่าถ้าไปแข่งกับจีน การผลิตเขาก็จะทำได้วอลุ่มเยอะกว่า ต้นทุนถูกกว่า ก็เลยไม่ได้ไปโฟกัสเรื่องเครื่องชาร์จ

ในเมื่อรายได้ของวันชาร์จคือการบริการ มีการแบ่งผลประโยชน์กับเจ้าของสถานที่อย่างไร

เรามีแพ็กเกจเริ่มต้น 8% ต่อการชาร์จ จากเจ้าของสถานี และจริงๆ เราได้ค่าคอมฯจากการขายเครื่องด้วย ตรงนี้มีข้อดีตรงที่เราไม่ได้สต็อกสินค้าเอง การขายเครื่องชาร์จก็ทำร่วมกับพาร์ทเนอร์นี่แหละ พาร์ทเนอร์มีฮาร์ดแวร์ เรามีซอฟท์แวร์ พอลูกค้ามาหาเรา สนใจเครื่องชาร์จ เราก็แนะนำให้ แล้วเราก็ได้ค่าคอมฯตรงนี้ด้วย



กับเดมโก้นี่ร่วมมือกันอย่างไร

เดมโก้ต้องการติดตั้งเครื่องชาร์จ DC ให้พนักงานใช้ ต้องใช้เงินลงทุนสูงนับล้านบาท ก็เลยสนใจเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้บริการชาร์จรถ EV ในระหว่างเวลาทำงาน เราก็เลยเอาแพล็ตฟอร์มวันชาร์จเข้าไปครอบ ทำให้เดมโก้สามารถบริการชาร์จให้พนักงานชาร์จในราคาย่อมเยา ส่วนรถข้างนอกเข้ามาชาร์จก็จะคิดเรทค่าชาร์จในราคาปกติ คือมันสามารถทำอะไรได้หลายอย่างกับเครื่องชาร์จอีวีเครื่องหนึ่ง สามารถสร้างแวลูมากกว่าใช้ชาร์จในองค์กรแต่เพียงอย่างเดียว การให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้เครื่องชาร์จได้จะช่วยให้ถึงจุดคุ้มทุนเร็วขึ้น

ส่วนของเดมโก้ มีโอกาสที่จะขยายธุรกิจสถานีชาร์จออกข้างนอกไหม

ทางเดมโก้น่าจะขยายสถานีชาร์จอีกหลายสาขา การที่เราเซ็นเอ็มโอยูกับเดมโก้ก็จะผูกพันระบบการให้บริการชาร์จรถ EV ไปกับเดมโก้ในทุกสถานที่ด้วย

เพราะเดมโก้ถนัดในเรื่องสร้างสถานี

ใช่เดมโก้เก่งเรื่องระบบไฟ เรื่องฮาร์ดแวร์ ขณะที่วันชาร์จเก่งทางด้านซอฟท์แวร์ ก็เลยมาปลั๊กอินกัน

แล้วก็เลยจับมือกันในประเด็นที่ว่าถ้าลูกค้าต้องการสถานีบริการชาร์จลักษณะนี้ ก็เอาเดมโก้ไปสร้างให้

ใช่ครับ ต้องมีโซลูชันนี้ให้ลูกค้าที่สนใจ


ความยืดหยุ่นทำให้วันชาร์จสามารถขยายโซลูชันไปได้ในหลายๆ ตลาด

โชคดีที่เครื่องชาร์จเค้ามีมาตรฐาน เป็นอินนูเวอร์เซอร์เวิร์ดคอล แล้วเราก็ดีเวลลอป คอสตอมมาให้เป็นมาตรฐานกลางของเรา ทำให้สามารถนำไปเชื่อมกับเครื่องชาร์จหลากหลายแบรนด์ ตอนนี้ที่เราทดสอบไปน่าจะ 60 แบรนด์ทั่วโลก มีทั้งแบรนด์ยุโรปและจีน

ตอนนี้มีใครตามรอยมาหรือเปล่า

น่าจะเป็นคู่แข่งทางอ้อมมากกว่า วันแรกที่เราทำหลายคนมองว่าเจ้าโน้นเป็นคู่แข่งเรา แต่วันนี้ก็มาเป็นพาร์ทเนอร์กัน

แทบไม่มีคู่แข่งชัดๆ เลย

คู่แข่งชัดๆ ตรงๆ ยังไม่มีในไทย เพราะเราเป็นสตาร์ทอัพ เกิดจากการที่อยากจะแก้ปัญหาของผู้ใช้จริงๆ ผมเองก็เดินทางทั่วประเทศไทย ไปเสาะหา ไปเก็บดาต้ามาดูว่ามีปัญหาตรงไหนบ้าง ต้องรู้ปัญหาจากพื้นที่จริง จากนั้นถึงจะสร้างโซลูชันมาแก้ไขปัญหาให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้รถ EV มากที่สุด

ฟังดูเหมือนทำได้ง่ายๆ แต่ความจริงคงไม่ง่าย

ยากมาก อย่างสถานีแรกที่ได้ลงพื้นที่ ผมต้องนั่งเครื่องบินไปถึงเชียงใหม่ แล้วนั่งรถตู้ต่อไปอำเภอชัยปราการอีก 2 ชั่วโมง เพื่อไปเชื่อมเครื่องชาร์จ EV ให้ลูกค้า 2 เครื่อง แล้วเก็บสิ่งที่เขาต้องการมาดูว่าเจอปัญหาอะไรบ้าง ตัวเราเองก็ต้องสวมรอยเป็นยูสเซอร์เหมือนกัน ต้องมองว่าตรงไหนที่สามารถแก้เพนพ้อยท์ได้ สามารถอิมพรูฟได้ ก็อยากจะทำให้ดีที่สุด

เป็นการเริ่มต้นจากจุดที่ยากลำบาก


เลือกไม่ได้แต่ก็คุ้มค่า เพราะว่าเป็นสถานีเดียวในอำเภอเลย ถือว่าประสบความสำเร็จและดึงยูสเซอร์มาได้เยอะ

มีเคสอื่นๆ อีกไหม

ที่ผ่านมาออกไปหน้างานค่อนข้างบ่อยเพราะเชื่อว่าถ้าวิ่งไปคุยกับลูกค้าได้มากเท่าไหร่ก็จะรู้ว่าปัญหาจริงๆว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งผู้ประกอบการรายอื่นอาจจะอยู่ในห้องแลป แล้วคิดกันว่าปัญหาของยูสเซอร์คืออะไร ก็สามารถทำได้ แต่อาจจะไม่ได้รู้ปัญหาจริงๆ ของยูสเซอร์ว่าเขาต้องการอะไร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร

ไม่ได้วางตัวเป็นบอสแล้วก็สั่งการ

ไม่ครับ เป็นคนโอปะเรชั่น เป็นลีดเดอร์ ไม่ได้เป็นบอส เราก็ลงลุยงานด้วยเหมือนกัน

สนุกกับงานไหม

สนุกครับ เพราะว่าเราเห็นมันเติบโต แต่ก็มีอุปสรรคมาก เราเป็นสตาร์ทอัพไม่ได้มีเงินทุนเยอะ ในช่วงแรกมาจากไอเดียอย่างเดียว ไม่ได้มีเงินทุน เพราะการทำบริษัทซอฟท์แวร์ค่อนข้างยาก ต้องใช้เงินลงทุนสูงในการพัฒนาขึ้นมา ต้องวิ่งไล่ตามหาเงิน ไล่ตามหายูสเซอร์ เพื่อไปแข่งขันทำโครงการให้ได้เงินสนับสนุนมาจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ทำให้ต้องทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น ไปพูดหน้าเวที มีผู้ฟังนับร้อยคน ต้องทำทุกอย่าง



การที่มีพันธมิตรหลากหลาย ได้ทำซอฟท์แวร์ร่วมกับเครื่องชาร์จหลายแบรนด์ หลายรูปแบบ มองว่าตลาดจะโตไปในทิศทางไหน

ถ้ามองจากภายนอกคนส่วนใหญ่อาจจะมองว่า DC CHARGER เครื่องชาร์จเร็วอาจจะมา Disrupt เอซีชาร์จเจอร์ สำหรับผมมองว่า AC CHARGER อาจจะมา Disrupt ดีซีชาร์จเจอร์ด้วยซ้ำ ในอนาคต ออนบอร์ดชาร์จเจอร์ของรถจะอัพเกรดขึ้นเรื่อยๆ อย่างตอนนี้เครื่องชาร์จแบรนด์จีนก็เริ่มพัฒนาเป็นขนาด 11 กิโลวัตต์แล้ว จากเดิมใช้เวลาชาร์จ 8 ชั่วโมง ก็ลดลงเหลือเพียง 4-5 ชั่วโมงก็ชาร์จเต็ม ถ้าหากอัพเกรดเป็นเครื่อง 22 กิโลวัตต์ ระบบไฟไม่ต้องเปลี่ยน สามารถติดตั้งได้เลย แล้วราคาถูกว่า 10 เท่า ในอนาคตเครื่อง AC น่าจะมาแรงกว่า DC

เวลาชาร์จเครื่อง 22 กิโลวัตต์จะลดเหลือกี่ชั่วโมง

เหลือ 3 ชั่วโมง ชาร์จจาก 0-100% ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงก็เต็ม

ตลาดตามที่พัก หรือโรงแรมก็จะเติบโตเร็วขึ้น

ใช่ครับ เชื่อว่าทุกสถานที่ หากเป็นที่ที่จอดรถได้ แล้วคนที่นำรถมาจอดใช้เวลาเกินชั่วโมง ต่อไปต้องติดตั้งเครื่องชาร์จ EV เป็นเหมือนอีก 1 เซอร์วิสที่ให้บริการคนที่มาใช้บริการจนกลายเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับอาคารสูงที่ต้องมีลิฟต์ บันไดเลื่อน ในอนาคตเครื่องชาร์จจะเป็นอย่างนั้น

การใช้พื้นที่ก็น้อยลง ใช้พื้นที่ไม่เยอะก็สามารถติดตั้งได้

เครื่องชาร์จจะมีขนาดประมาณเครื่องทำน้ำอุ่น คือเครื่องเล็กมาก ระบบไฟเท่ากับเครื่องทำน้ำอุ่น 2 เครื่อง และจะกระทบกับทุกอุตสาหกรรม อย่างโลจิสติกส์ใครทำธุรกิจขนส่งต้องใช้รถ ส่วนใหญ่ต้องเปลี่ยนมาใช้รถอีวีอย่างแน่นอน

สภาพตลาดตอนนี้ถึงขั้นสงครามราคา หรือต่างคนต่างโตในทิศทางของตัวเอง

ถ้าสงครามราคาตอนนี้จะเป็นในส่วนของเครื่องชาร์จ แข่งขันกันค่อนข้างดุเดือด ถ้าในฝั่งของฮาร์ดแวร์เรียกได้ว่าเรดโอเชียนล่ะ คนเข้ามาเล่นตลาดเครื่องชาร์จ EV ในประเทศไทยเยอะมาก น่าจะมีเป็นร้อยแบรนด์ แต่ว่าดีสำหรับเรา เพราะยิ่งมีการแข่งขันในตลาดเครื่องชาร์จมาก วันชาร์จยิ่งขยายตลาดได้มากขึ้นถ้าเขามาเป็นพาร์ทเนอร์กับเรา

ตลาดแข่งขันสูง ตอนนี้ต่อเครื่องเหลือมาร์จิ้นเท่าไหร่

เมื่อก่อนเครื่อง AC Charger จากจีน เครื่องละ 3-4 หมื่นบาท ตอนนี้ขายกันหลักพันก็มีแล้ว ถูกลงเยอะ อย่างน้อยก็เป็นผลดีกับเจ้าของสถานีที่เขาอยากจะลงทุน เริ่มต้นได้ง่าย คืนทุนได้เร็วกว่า



ตั้งสถานีตอนนี้หลักหมื่นก็เริ่มต้นได้

จริงๆ ติดเครื่องชาร์จเครื่องนึง ถ้าระบบไฟไม่ต้องเปลี่ยน ใช้ทุนหมื่นต้นๆ ถึงหมื่นกลางๆ ก็ติดตั้งได้แล้ว

จากจุดเริ่มตันวันชาร์จที่ต้องวิ่งไปอำเภอชัยปราการ มาถึงตอนนี้วางอนาคตอย่างไร มีเป้าหมายอย่างไร

มองว่าเราจะขยายบริการ สำหรับผู้ใช้รถ EV มากขึ้น ตอนนี้ดูแล้วค่อนข้างกระจัดกระจาย ทั้งรถอีวี และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ถ้าหากนำเอาเซอร์วิสมาเอาไว้ในแอปพลิเคชั่นเดียวน่าจะดี ตอนนี้ในเอเชียยังไม่มีเจ้าตลาด เราก็อยากจะเป็นแพลตฟอร์มกลางในเอเชียที่สามารถขยายไปประเทศเพื่อนบ้านรอบประเทศไทยได้ ส่วนหลักๆ น่าจะเป็นในส่วนของซอฟท์แวร์ ที่เราจะมีการพัฒนาให้กับองค์กรต่างๆ ตามที่เขาต้องการ และมีฟีเจอร์ใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น

การจะพัฒนาเป็นแพล็ตฟอร์มระดับเอเชีย จะทำตลาดอย่างไร เพราะในประเทศไทยมีแพล็ตฟอร์มรายใหญ่หลายราย

ผมมีคติอย่างนึง ถ้าเราแข่งเขาไม่ได้ ก็ร่วมกับเขาไปเลย การที่วันชาร์จวางตัวไว้แต่แรกว่าไม่ลงทุนทำสถานีชาร์จทำให้เราคล่องตัว อย่างตอนนี้เราก็จับมือกับสถานีชาร์จรายใหญ่ในการแชร์โลเคชั่น ถ้าเข้าแอปวันชาร์จ ก็จะเห็นสถานีของผู้ให้บริการชาร์จรายใหญ่เหมือนกัน ล่าสุดจะมีการอินฟอร์เมนท์กันเรื่องเครื่องชาร์จเอซี ตอนนี้ทดสอบกับเรียบร้อยหมดแล้ว... ในเมื่อแข่งไม่ได้ก็ต้องร่วมกัน

เป้าหมายภายในสิ้นปีนี้บริษัทจะทำรายได้เท่าไหร่ โตเท่าไหร่

ปีที่แล้วเรามีรายได้ประมาณ 7-8 ล้านบาท ปีแรกที่เราทำธุรกิจนี้น่าจะมีรายได้ล้านเดียว พอปีที่สองโตขึ้นมาคูณ 8 สำหรับปีนี้เรามองไว้ประมาณ 30 ล้านบาท

ตัวเลขไม่ได้สูงมากนัก

ตอนนี้รายได้อาจจะดูไม่เยอะ แต่น่าจะเยอะประมาณปี 2025 ถ้าเทียบสัดส่วนรถน้ำมันกับรถยนต์ไฟฟ้า รถ EV ก็มีแชร์ในตลาดยังน้อยอยู่ ถ้าเทียบก็เป็นหลักแสนกับล้านคัน มองว่าปี 2025 คนใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รายได้เราก็จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนคนใช้รถยนต์ที่เพิ่มขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้