X

แบรนด์รักษ์โลกหันมาใช้บริการขนส่งด้วย EV คึกคัก DHL เดินหน้าลงทุนขยายฟลีตยานยนต์ไฟฟ้า/สถานีชาร์จ

Last updated: 25 พ.ย. 2567  |  70 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บริการขนส่งด้วย EV คึกคัก DHL เดินหน้าลงทุนขยายฟลีตยานยนต์ไฟฟ้า/สถานีชาร์จ

กลุ่มแบรนด์รักษ์โลกใช้บริการขนส่งด้วย EV เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนกันคึกคัก DHL รับลูก พร้อมลงทุนขยายฟลีตยานยนต์ไฟฟ้า แต่ติดปัญหาสถานีชาร์จยังไม่เพียงพอ ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วยการเพิ่มจุดชาร์จตามศูนย์บริการเพื่อรองรับปริมาณรถ EV ที่จะเพิ่มขึ้น

คุณวินเซนต์ ยง กรรมการผู้จัดการของ ดีเอชแอล โกลเบิล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง ประเทศไทย กล่าวว่า “DHL มีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี และการศึกษาต่างๆ ว่าจะทำอย่างไรในการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ โดยการใช้เชื้อเพลิงสะอาด รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีต่างๆ สำหรับการขนส่งในประเทศไทย หากเป็นการขนส่งทางถนน DHL ได้มีการนำรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้ในการขนส่ง”


“ประเทศไทยถือเป็นประเทศนำร่องที่ DHL นำรถ EV มาใช้ในการขนส่งภายในประเทศ” คุณวินเซนต์ กล่าว “ที่ผ่านมามีการใช้รถ EV ขนส่งสินค้าทุกประเภท โดยไม่จำกัดว่าเป็นของชิ้นเล็กหรือชิ้นใหญ่ แต่การจะเดินหน้าให้ถึงเป้าหมายจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากทางภาครัฐ และเอกชน ต้องเข้ามาช่วยกันดูแลเรื่องนี้ เนื่องจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาคขนส่งยังมีต้นทุนสูงกว่ายานยนต์สันดาป ประมาณ 30-35 % ซึ่งต้นทุนที่สูงจากตัวรถยนต์ไฟฟ้าและสถานีชาร์จที่ยังมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ” คุณวินเซนต์ ระบุ

“รถบรรทุกไฟฟ้าเวลาชาร์จไฟเต็มที่หนึ่งครั้งจะวิ่งได้ระยะทางประมาณ 300-400 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันจุดชาร์จทั่วประเทศไทยยังมีจำนวนน้อย ถามว่าเรามีแพลนลงทุนสร้างจุดชาร์จแต่ละประเภทเพิ่มขึ้นไหม ก็มีแพลนตรงนี้ เพราะธุรกิจขนส่งมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ได้มากอยู่แล้ว โดยเฉพาะการขนส่งโดยเครื่องบิน ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ค่อนข้างเยอะ ดังนั้น DHL จึงให้ความสำคัญกับการขนส่งทางถนน เพราะถือว่ามีส่วนช่วยลดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถธรรมดา รถอีวี หรือรถเชื้อเพลิงไฮโดรเจนก็ตาม”


“ถ้าเทียบกันระหว่างน้ำมันกับไฟฟ้า ถ้าเทียบกันในด้านราคาการใช้เชื้อเพลิง ราคาน้ำมันขณะนี้แพงกว่า แต่ขณะเดียวกันถ้ามองถึงว่าเรื่องจุดชาร์จที่ยังมีไม่มาก กับการขนส่งที่ไปได้ 300-400 กม. เท่ากับว่าบริษัทต้องเพิ่มจุดชาร์จในทุกๆ 300-400 กม. ตรงนี้ถือว่าเป็นการลงทุนอีกอันหนึ่งที่ได้มีการวางแผนและมีการทำวิจัยไว้แล้วสำหรับการให้บริการในอนาคต”



ฟีดแบ็คจากการนำรถ EV มาให้บริการนั้นปัจจุบันมีกลุ่มก้อนของผู้ใช้บริการที่ค่อนข้างชัดเจน ทำให้ DHL พร้อมเดินหน้าลงทุนรองรับกลุ่มที่จะหันมาใช้บริการรถ EV ในการขนส่ง

“ถามว่าตอนนี้ต้นทุนในการให้บริการด้วยรถ EV ยังสูงกว่าไหม ยังสูงกว่า เพราะราคารถยังสูง จุดชาร์จยังมีน้อย แต่ว่าเราเริ่มเห็นความต้องการมากขึ้น เริ่มเห็นคนที่พร้อมจะหันมาช่วยลดสภาวะโลกร้อนมากขึ้น บริการขนส่งด้วยรถอีวีในประเทศไทยในขณะนี้มีกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ชัดเจน ผู้ประกอบการบางรายระบุแบบจำเพาะเจาะจงมาเลยว่าจะไม่ใช้การขนส่งแบบอื่นที่ไม่ใช่ EV เพราะว่า...ข้อแรก เกี่ยวกับแบรนด์ของเขา เพราะแบรนด์ของเขาต้องการลดโลกร้อน เขาระบุมาเลยว่าเขาไม่เอารถแบบอื่นที่ไม่ใช่อีวี แต่ในอีกด้านหนึ่ง การลดโลกร้อนด้วยการใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็เจอปัญหาเรื่องจุดชาร์จที่ยังมีไม่พอ ก็เลยทำให้ต้นทุนบางส่วนยังสูงอยู่ อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งการลงทุน ซึ่ง DHL พร้อมลงทุนด้านยานยนต์ไฟฟ้าแน่นอน”

คุณวินเซนต์ให้ข้อมูลว่าลูกค้าที่เจาะจงใช้รถอีวีส่วนใหญ่เป็นกลุ่มค้าปลีกที่สร้างแบรนด์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงแบรนด์สินค้าแฟชั่นสำหรับผู้หญิง

“องค์กรเหล่านี้ แต่ละองค์กรมักจะมีเป้าหมายในการลดคาร์บอนในแต่ละปีอยู่แล้ว ตรงนี้แทบไม่เจอลูกค้าที่จะเลือกใช้วิธีออริจินอล ส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีที่จะลดโลกร้อนกันหมด จะเลือกใช้พลังงานสะอาด หรือรถไฟฟ้า ที่สามารถนำมาคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตต่อไปในอนาคต ถามว่ามันใช่การใช้อีวีอย่างเดียวไหม ไม่ใช่ เรามีอย่างอื่นด้วย อย่างเช่นการใช้เชื้อเพลิงสะอาด บางทีถ้าเผื่อจะขนส่งทางเรือหรือเครื่องบิน อันนี้แน่นอนใช้ไฟฟ้าไม่ได้ แต่ว่าเขาก็มีทางเลือกอื่นๆ ให้อีก อย่างเช่นการใช้เชื้อเพลิงสะอาดในการขนส่งทางเครื่องบิน”

การส่งเสริมการใช้รถ EV ในการขนส่งนั้น DHL มีการอบรมฝ่ายขายให้แนะนำลูกค้าเพื่อให้เป็นอีกตัวเลือกในการใช้บริการ

“เราจะช่วยเหลือลูกค้าใหม่ๆ ด้วยการฝึกสอนเซลล์ให้สอบถามลูกค้าว่าอยากลองเลือกใช้การขนส่งที่เป็นรถอีวีไหม พร้อมทั้งให้ข้อมูลว่าการใช้รถอีวีช่วยอะไรได้บ้าง ตรงนี้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับลูกค้า ถือว่าทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ลูกค้าอาจจะเลือกใช้แบบเก่าก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันเขาได้รับรู้ไปแล้ว ก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เขามีไว้ในใจ ตอนนี้อาจจะยังไม่ได้ใช้ แต่ในอนาคตมันช่วยอะไรเขาได้บ้าง”

ฟลีตรถ EV ของ DHL Express

DHL Express ประเทศไทย มีรถ Big EV 21 คันในเส้นทางขนส่งสินค้าของ DHL Service Center และมี E-bike 32 คันวิ่งให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้มีรถขนส่งพลังงานไฟฟ้าใน fleet แล้ว 53 คัน

ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส นำรถ EV มาให้บริการขนส่งในกรุงเทพฯเพิ่มมากขึ้น ตั้งเป้าเปลี่ยนมาใช้รถ EV ขนส่ง 60% ของยานพาหนะขนส่งในประเทศไทยภายในปี 2573 นับเป็นผู้ให้บริการลอจิสติกส์รายแรกในประเทศไทยที่เปลี่ยนไปใช้รถ EV ในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ


DHL กับเป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050

ปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจก ที่มาจากการขนส่งสินค้าทุกประเภท ครอบคลุมทั้งการขนส่งทางรถ เครื่องบิน เรือ และรถไฟ เป็นภารกิจที่ดีเอชแอลให้ความสำคัญ และมุ่งผลักดันให้ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ร่วมมือกันลดการปล่อยมลพิษ โดยตั้งเป้าปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 หรือปี 2050 ที่จะลดให้ได้ถึงระดับที่ต้องการ

ทั้งนี้ทั้งนั้น การขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในมุมมองของ DHL นอกจากการเลือกใช้เชื้อเพลิงสะอาดแล้ว การปฏิวัติการขนส่งเพื่อลดความซ้ำซ้อนให้ลูกค้าสามารถขนส่งได้อย่างไร้รอยต่อนับว่าเป็นอีกวิธีที่นำมาใช้ จากเดิมที่การขนส่งระหว่างประเทศต้องมีการเปลี่ยนยานพาหนะ ปัจจุบันได้มีการเปิดให้บริการขนส่งระหว่างประเทศแบบมัลติโมดอล “Multimodal” ที่เชื่อมโยงทางการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยยกระดับอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ของไทยให้เป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค ด้วยการลดขั้นตอนทางศุลกากรให้สามารถใช้รถคันเดียวและเชื่อมต่อระหว่างประเทศโดยผ่าน HUB นี้โดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าผ่านรถหลายคันเหมือนเช่นที่ผ่านมา

การลดขั้นตอนเปลี่ยนถ่ายสินค้าทำให้ใช้รถน้อยลง และการเลือกใช้เชื้อเพลิงสะอาดนั้น มีส่วนช่วยให้การขนส่งมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การขนส่งทางถนนจะยังคงมีความสำคัญต่อการบริการขนส่งแบบมัลติโมดอล “Multimodal ” เพราะจะเป็นตัวเชื่อมต่อการขนส่งตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางได้อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งการส่งโดยรวมมีความหลากหลาย มีทั้งการขนส่งทางรถ เรือ เครื่องบิน และรถไฟ นอกจากนี้การขนส่งด้วยรถยังมีความยืดหยุ่นสูง ช่วยให้ขนส่งได้ถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างราบรื่น ทั้งยังสามารถเลือกใช้พลังงานสะอาดอย่างพลังงานไฟฟ้าหรือไฮโดรเจนได้ ซึ่งการขนส่งทางเรือ และเครื่องบินยังไม่สามารถใช้ไฟฟ้าได้ อาจต้องใช้พลังงานสะอาดจากทางเลือกอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม DHL มีเชื้อเพลิงทางเลือกสำหรับช่วยลดปัญหาโลกร้อนไว้ให้ลูกค้าที่มีเป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เลือกใช้บริการ 4 ประเภท คือ เชื้อเพลิงชีวภาพ ไฟฟ้า ไฮโดรเจนสีเขียว และ E-Diesel โดยเชื้อเพลิงแต่ละประเภทมีจุดเด่น และมีความท้าทายแตกต่างกัน


(ซ้าย) คุณวินเซนต์ ยง กรรมการผู้จัดการ ดีเอชแอล โกลเบิล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง ประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้