X

ส่องแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจากสายพานการผลิต “อมิตา เทคโนโลยี” ผลงานความร่วมมือระหว่าง EA กับ EVE และ Sunwoda

Last updated: 23 ก.พ. 2567  |  887 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ส่องแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจากสายพานการผลิต “อมิตา เทคโนโลยี” ผลงานความร่วมมือระหว่าง EA กับ EVE และ Sunwoda

หลัง “อมิตา เทคโนโลยี” ประกาศผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Li-ion) ชนิด Pouch Cell กำลังผลิต 1 GWh/ปี และล่าสุดขยายกำลังการผลิตเป็น 4 GWh/ปี หน้าตาแบตเตอรี่ลิเทียมที่ผลิตในไทยจะเป็นอย่างไร มาดูกัน!

หลังจาก บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ประกาศจับมือ 2 ยักษใหญ่ผู้ผลิตแบตเตอรี่จากไต้หวันอย่าง EVE และ Sunwoda ร่วมศึกษาและจัดตั้งโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ กำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 1 GWh ในไทย รองรับตลาดแบตเตอรี่ในประเทศไทยและอาเซียน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566

ความร่วมมือครั้งนั้น EA ระบุว่าเมื่อผลการศึกษาวิจัยประสบความสำเร็จจะนำเสนอ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมการลงทุนกับพันธมิตรจากจีนเพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่แบบ Prismatic Battery Cell โดยใช้เทคโนโลยีกระบวนการผลิตระบบอัตโนมัติขั้นสูงที่มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนวัตถุดิบต่ำจากพันธมิตรจีนที่มี Raw material supply chain ครบวงจร มีการวิจัยพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง รวมถึงการต่อยอดการผลิตแบตเตอรี่แพ็คให้มีต้นทุนรวมในการผลิตใกล้เคียงกับต้นทุนแบตเตอรี่ที่ผลิตจากจีน


ถัดจากนั้นไม่นานนัก เมื่อราวๆ ปลายเดือนมกราคม 2567 อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ก็ได้ประกาศตัวเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Li-ion) ชนิด Pouch Cell มีกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 GWh ต่อปี มีระบบการผลิตอัตโนมัติที่ทันสมัยเพื่อให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุดและต้นทุนไม่สูง

กำลังการผลิตเริ่มต้น 1 GWh ต่อปีนั้นเพจของอมิตา เทคโนโลยี ระบุว่าสามารถผลิตแบตเตอรี่ Li-ion เพื่อใช้ในรถโดยสารไฟฟ้าขนาด 11 เมตร ที่บรรจุแบตเตอรี่ 240 kWh ได้ถึง 4,160 คัน การขยายกำลังการผลิตเพิ่ม 4 เท่า เป็น 4 GWh/ปี จึงเท่ากับสามารถผลิตแบตเตอรี่รองรับรถโดยสารไฟฟ้าขนาด 11 เมตร ที่ใช้แบตเตอรี่ 240 kWh ได้ 16,640 คันสบายๆ นับเป็นโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแห่งแรกในอาเซียนที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

ความรวดเร็วฉับไวในการลงทุนก่อตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ทำให้ “อมิตา เทคโนโลยี” อยู่ในความสนใจของผู้ผลิตและผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยล่าสุดบริษัทฯได้นำผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ลิเทียมไปจัดแสดงในงานเปิดตัวนโยบาย “อว. For EV” เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 มีทั้งเซลล์แบตเตอรี่ในรูปแบบ Pouch Cell รูปแบบโมดูล และแบบแพ็กแบตเตอรี่มาจัดแสดง

เซลล์แบตเตอรี่ลิเทียม รูปแบบ Pouch Cell

แบตเตอรี่ลิเทียม รูปแบบ MODULE

แพ็คแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ใน 1 แพ็คโชว์ มี 4 โมดูล แพ็คนี้สำหรับใช้สำหรับรถบัสไฟฟ้า

ดร.วิชญ์พล โมทนียชาติ ผู้จัดการแผนก ฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรงงานของบริษัทฯมีกำลังผลิตเชลล์แบตเตอรี่ปีละ 6,500,000 เซลล์ ในอนาคตอันใกล้จะผลิตเพิ่มเป็น 12,000,000 เซลล์ กำลังผลิต 6.5 ล้านเซลล์เทียบเท่ากับแบตเตอรี่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลประมาณ 3 แสนคัน ซึ่งเพียงพอต่อการป้อนให้บริษัทแม่“พลังงานบริสุทธิ์ (EA)” ที่ส่วนมากผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ มีทั้งรถกระบะ รถบัส และรถบรรทุก EV โดยมีการผลิตรถบัสไฟฟ้ามากที่สุด

“แบตเตอรี่ลิเทียมที่ผลิตออกมาส่วนใหญ่นำไปใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าของ EA และ NEX มีบางส่วนนำไปใช้กับรถจักรไฟฟ้า (รถไฟพลังงานไฟฟ้า) และเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า โดยเรือ 1 ลำจะใช้แบตเตอรี่เทียบเท่ากับรถบัส 5 คัน ขณะที่รถบัส 1 คันใช้เท่ากับรถเก๋ง 10 คัน”


ประสิทธิภาพหลักๆ ของเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียมที่ “อมิตา เทคโนโลยี” ผลิตจะใช้งานได้ประมาณ 3 พันไซเคิล  หรือ 3 พันรอบ สมมติชาร์จรถ EV วันละ 1 ครั้ง เท่ากับใช้ได้ประมาณ 8 ปี ความจุของแบตเตอรี่อยู่ที่ประมาณ 200 kWh คือจะไม่สูงจนถึงแม็กซิมั่มเท่าแบตเตอรี่จีน แต่ไม่ได้น้อย หลักๆ ที่เป็นจุดเด่นของแบตเตอรี่ของอมิตาคือชาร์จไฟได้เร็ว จากระดับ 0%-80% ใช้เวลาชาร์จ 15 นาที แต่การจะชาร์จไฟได้เร็วต้องมีซีสเท็มข้างนอกช่วยด้วย เช่น ต้องมีระบบระบายความร้อน มีการวิ่งน้ำเย็น เพื่อไม่ให้แบตฯร้อนจนเกินไป รวมทั้งยังขึ้นอยู่กับการรองรับของตัวรถยนต์อีกด้วย

ด้วยศักยภาพของกำลังการผลิต และคุณภาพของแบตเตอรี่ลิเทียมที่ผลิตได้จากโรงงานในประเทศไทย ทำให้ “อมิตา เทคโนโลยี” มีความพร้อมในการผลิตป้อนโรงงานในเครือ EA และพร้อมผลิตจำหน่ายให้กับลูกค้าที่สนใจ รวมทั้งยังมองถึงตลาดดัดแปลงรถสันดาปเป็นรถพลังงานไฟฟ้า เพียงแต่  ณ เวลานี้ กำลังรอให้มีการกำหนดมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ที่กรมขนส่งทางบกต้องกำหนดมาตรฐานออกมาในรูปแบบคล้ายๆ กับอู่มาตรฐานเอ็นจีวีและแอลพีจี

ถ้ามีการกำหนดมาตรฐานตรงนี้ออกมาชัดเจน ทางบริษัทฯจึงจะเข้าสู่ตลาด EV conversion อย่างเต็มรูปแบบ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้