X

แจ้งเกิดแบตเตอรี่กราฟีน! สจล.เซ็น MoA กับ ซัน วิชั่น เทคโนโลยี ผลักดันสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรมป้อนอุตฯอีวีไทย

Last updated: 19 ม.ค. 2567  |  1733 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สจล.เซ็น MoA กับ ซัน วิชั่น เทคโนโลยี ผลักดันสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรมป้อนอุตฯอีวีไทย

เมด อิน ไทยแลนด์! สจล. ลงนาม MoA กับ ซัน วิชั่น ผลักดัน “แบตเตอรี่กราฟีน” นวัตกรรมแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าฝีมือคนไทย ที่มีคุณสมบัติ ชาร์จได้เร็ว กักเก็บพลังงานได้ยาวนาน สู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม ป้อนตลาด EV ในไทย


นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ (Memorandum of Agreement : MoA) ระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กับบริษัท ซัน วิชั่น เทคโนโลยี จำกัด ในการผลักดันเทคโนโลยีแบตเตอรี่กราฟีนสู่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรม รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย


“แบตเตอรี่กราฟีน” มีคุณสมบัติ ชาร์จได้เร็ว กักเก็บพลังงานได้ยาวนาน มีความเหมาะสมสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง นับเป็นความภูมิใจ ที่เป็นการพัฒนาโดยฝีมือคนไทย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ  และที่สำคัญคือเป็นการใช้วัตถุดิบจากภายในประเทศ


ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม และจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ ผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เน้นให้เกิดการสร้างมูลค่าจากการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)



ขณะนี้อยู่ในระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์ ทั้ง Reuse และ Recycle ในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือการผลิตอุปกรณ์สำรองไฟฟ้า (Energy Storage System : ESS) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น Cloud Service โดยคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง



ขณะเดียวกันในส่วนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้มีการพิจารณาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Recycle ในจังหวัดระยอง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งได้กำหนดมาตรการ แนวทางการส่งเสริมไปพร้อมกับการแสวงหาความร่วมมือในอนาคตต่อไป



ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้วิจัยและพัฒนานวัตกรรมแบตเตอรี่กราฟีน โดยทีมวิจัย ของรองศาสตราจารย์ ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ นักวิจัยและอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 ซึ่งในปัจจุบันมีการวางแผนการผลิตในเชิงพาณิชย์ โดยแบตเตอรี่กราฟีน มีประสิทธิภาพสูง สามารถนำไปใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นการสนับสนุนการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย และรองรับแนวคิด BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือ (Memorandum of Agreement : MoA) แบตเตอรี่กราฟีน ระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ บริษัท ซัน วิชั่น เทคโนโลยี จำกัด โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี  อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รองศาสตราจารย์ ดร.สุธี ชุติไพจิตร  คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ นักวิจัยและอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด นายวัชรินทร์ อินเมฆ กรรมการบริหาร บริษัท ซัน วิชั่น เทคโนโลยี จำกัด พลโท กฤษฎา เริ่มรุจน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัท ซัน วิชั่น เทคโนโลยี และผู้บริหารสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้าร่วม ณ ห้องบรรยาย 2 อาคารเรียนรวมวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567



ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้