Last updated: 20 ธ.ค. 2566 | 1017 จำนวนผู้เข้าชม |
พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 นับเป็นต้นแบบของปั๊ม ปตท. ที่ Transform จากจุดพักรถ หรือ PTT STATION มาเป็นสถานีบริการที่สะท้อนให้เห็นแนวการดำเนินธุรกิจของโออาร์ ที่มีบริการหลากหลายตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกกลุ่มเป้าหมาย นอกจากจะให้บริการเติมน้ำมัน ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ร้านค้า โชว์รูมรถ EV และบริการอื่นๆ มากมายบนทำเลที่มีการจัดสรรพื้นที่สนับสนุนกิจกรรมของชุมชนอย่าง “Common Space”
บริการต่างๆ ที่เพิ่มเติมขึ้นมาให้มีบริการหลากหลายมากขึ้นอาจจะดูแตกต่างจาก PTT STATION สถานีอื่น ๆ อยู่บ้าง แต่ก็ยังอยู่ในกรอบความคิดเดิม คือการให้บริการครบวงจรแบบครบจบในที่เดียว
แต่ถ้าพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ความเป็น Flagship ของ PTT STATION สาขานี้น่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีบริหารจัดการพลังงานของ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด มาบริหารจัดการให้เป็นสถานีบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานผ่านแบตเตอรี่ (G-Box) บริหารการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในสถานีบริการให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมๆ กับติดตั้ง Solar Rooftop นำพลังงานสะอาดมาใช้ภายในสถานีบริการ และร้านค้าที่ OR ดำเนินการ
นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ในวันเปิดตัวพีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62
“โออาร์เชื่อในเรื่องของการทำงานร่วมกัน นูออโวเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของเอนเนอจี สตอเรจ ขณะที่เราเองเป็นผู้ใช้พลังงาน จึงได้ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานผ่านแบตเตอรี่ของนูออโว เพื่อจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด และกำลังจะนำเทคโนโลยี AI-CCTV for Customer Carbon ที่สามารถตรวจจับระยะเคลื่อนรถ และยี่ห้อรถ เพื่อคำนวณก๊าซ CO2 ที่เกิดขึ้นของผู้บริโภคภายในสถานีบริการได้”
นี่คือคำกล่าวของ นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ในวันเปิดตัวพีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 ที่อธิบายถึงการนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการสถานีให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ระบบกักเก็บพลังงานอาจไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับวงการพลังงาน แต่การติดตั้งระบบนี้พร้อมๆ กับติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป ในสถานีบริการน้ำมัน ที่มีเครื่องชาร์จขนาด 360 kWh จำนวน 6 หัวชาร์จ ในทำเลที่มีร้านค้าและบริการต่างๆ จำนวน 30 ร้าน นั้นมีความน่าสนใจว่า NUOVO PLUS ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโออาร์ จะบริหารจัดการพลังงานอย่างไร?
ดร.พัฑฒิ บุณยสุขานนท์ ผู้จัดการส่วนพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการพาณิชย์ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด
“แบตเตอรี่ที่ใช้เก็บกักพลังงานใน G-Box มีความจุ 160 kWh รถ EV ทั่วไปส่วนใหญ่ชาร์จไฟประมาณ 40 kWh เท่ากับว่าแบตเตอรี่ของเราสามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ประมาณ 4-5 คันพร้อมๆกัน การใช้งานของแบตเตอรี่เก็บกักพลังงานเป็นการสำรองไฟฟ้า ทำหน้าที่เหมือนแท็งก์เก็บน้ำตามบ้าน ที่ต้องเก็บน้ำสำรองไว้ใช้เวลาน้ำไม่ไหล...
การเก็บไฟไว้ในแบตเตอรี่เป็นการสำรองไฟให้มีไฟฟ้าใช้ได้ตลอด ในสถานีมีการติดตั้ง DC Charger การชาร์จเร็วจะดึงไฟมาก อาจทำให้ไฟฟ้าในสถานีไม่เสถียร การมีไฟฟ้าสำรองไว้จะทำให้สามารถบริหารจัดการพลังงานได้ราบรื่น” ดร.พัฑฒิ บุณยสุขานนท์ ผู้จัดการส่วนพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการพาณิชย์ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด อธิบายถึงหลักการนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ใน PTT STAION
นอกจากใช้สำรองไฟแล้วตัวแบตเตอรี่ยังทำหน้าที่กักเก็บพลังงานสะอาดจากโซลาร์ รูฟท็อป ที่ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด…
“ปกติเวลามีแดด โซลาร์เซลล์จะสร้างพลังงานได้ตลอดเวลา ถ้าไม่มีระบบกักเก็บเอาไว้ พลังงานหรือไฟฟ้าที่ผลิตได้หากไม่ได้ใช้ก็ต้องทิ้งไป การนำเก็บมาไว้ใช้ โดยพลังงานจากแสงอาทิตย์จะวิ่งเข้าส่วนกลางแล้วเก็บไว้ในแบตเตอรี่ ซึ่งเราจะมี ENERGY MANAGEMENT SYSTEMS เป็นระบบบริหารจัดการที่จะเลือกว่าควรจะดึงไฟจากไหนไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีเสถียรภาพที่สุด คือไฟฟ้าที่ใช้ในปั๊มจะรับมาจากการไฟฟ้าเป็นหลัก ส่วนที่ผลิตจากโซลาร์มาเก็บไว้ในแบตเตอรี่เป็นลักษณะของบัฟเฟอร์ในการดึงเอาไปใช้เวลาที่ขาด และเอามาเก็บในเวลาที่ผลิตไฟฟ้าได้เกิน”
การเก็บไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่จึงมีความสำคัญในการช่วยเสริมความเสถียรของระบบ เนื่องจากผู้เข้ามาใช้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ต้องการชาร์จแบบชาร์จเร็ว ทำให้ต้องใช้กำลังไฟสูง หากรถเข้ามาชาร์จพร้อมกัน 3-4 คัน อาจดึงไฟใช้แบบกระชาก ถ้าไฟฟ้าไม่พออาจเกิดปัญหาไฟไม่เสถียร แต่แทนที่จะดึงไฟจากการไฟฟ้าเป็นหลัก ก็มีไฟฟ้าในส่วนของแบตเตอรี่ที่กักเก็บไฟฟ้าเอาไว้มาใช้แทน ทำให้ระบบส่วนกลางไม่เกิดปัญหา
“หากเกิดเหตฉุกเฉินไฟ ฟ้าดับติดต่อกันหลายชั่วโมง ถ้าไม่ได้โหลดหรือดึงไฟไปชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า การดึงไฟจากแบตเตอรี่ไปใช้ในร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ หรือร้านค้าอื่นๆ เพื่อการส่องสว่าง หรือใช้กับระบบแอร์คอนดิชั่น จะสามารถใช้รองรับได้หลายชั่วโมง” ดร.พัฑฒิ อธิบายถึงเคสเกิดปัญหาไฟฟ้าดับเป็นเวลานาน
ปัจจุบัน ลูกค้าของ “นูออโว พลัส” มีทั้งกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มโซลาร์ฟาร์ม หรือแม้กระทั่งสถานที่ราชการ หรือโรงเรียนที่มีความต้องการใช้แบตเตอรี่เก็บกักพลังงานไว้สำรองใช้ให้ระบบไฟฟ้ามีความเสถียร
และด้วยธุรกิจพลังงานสะอาดเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และอยู่ในเทรนด์ที่กำลังเติบโต ทำให้บริษัทฯมีการเติบโตก้าวกระโดด โดยล่าสุดได้มีการร่วมทุนกับ บริษัท โกชั่น ไฮเทค จำกัด ก่อตั้งบริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) ในสัดส่วนการลงทุน 51% และ 49% ด้วยทุนจดทะเบียนมากกว่า 600 ล้านบาท เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566
โดยบริษัทร่วมทุนนี้จะมุ่งดำเนินธุรกิจนำเข้า ประกอบ และจัดจำหน่ายโมดูลแบตเตอรี่ ชุดแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 2 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และพร้อมขยายกำลังการผลิตเป็น 8 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปีในอนาคต
เมื่อโรงงานผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าเดินเครื่องผลิตในประเทศไทยได้แล้วจะมีราคาจำหน่ายใกล้เคียงกับแบตเตอรี่นำเข้า แต่สิ่งที่ได้คือระบบนิเวศน์หรืออีโคซิสเท็มในประเทศ เกิดการจ้างงาน มีเทคโนโลยีอยู่ในประเทศไทย และมีเทคนิคคอลซัพพอร์ต และบริการต่างๆ อยู่ในมือคนไทย ซึ่งล่าสุด “นูออโว พลัส” มีลูกค้าเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ในมือแล้ว โดยในเบื้องต้นจะมีการส่งมอบแบตเตอรี่ให้กับ Hozon Auto ที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ภายใต้แบรนด์ Neta ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนฟอสเฟต (LFP) ขนาด 38 กิโลวัตต์ชั่วโมง โดยจะถูกส่งมอบตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2024
ระบบกักเก็บพลังงาน G-Box ภายในจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนของระบบบริหารจัดการพลังงาน ENERGY MANAGEMENT SYSTEMS และส่วนที่เป็นแบตเตอรี่แพ็ก โดยใน 1 แพ็กจะมีแบตเตอรี่หลายโมดูลอยู่ในนั้น สำหรับ G-Box ที่ใช้ในพีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 จะเป็นขนาด 160 kWh มีด้วยกัน 8 โมดูล ที่แต่ละโมดูลจะเป็นขนาด 20 kWh เมื่อนำมาต่ออนุกรมจนได้ค่าไฟฟ้าค่าที่ต้องการแล้ว ก็จะนำไปต่ออินเวอร์สเตอร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบบริหารจัดการพลังงาน ก็จะทำหน้าแปลงไฟจากกระแสตรงเป็นกระแสสลับจ่ายไฟฟ้าให้ใช้ในปั๊มตามที่ต้องการ ทั้งนี้การดีไซน์ว่าจะใช้เอนเนอร์จี สตอเรจ ขนาดไหนจะคำนวณจากความต้องการของลูกค้า