X

2567 ปีทองของอุตฯ EV! 11 เดือนเปิดเพิ่ม 1,033 บริษัท ทุนจดทะเบียน 7,797.57 ลบ.

Last updated: 27 ธ.ค. 2567  |  104 จำนวนผู้เข้าชม  | 

2567 ปีทองของอุตฯยานยนต์ไฟฟ้า!

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผย ปี 2567 เป็นปีทองของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 7 ค่ายรถ EV ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ส่งผลให้มียอดจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลของกลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สะสม 11 เดือน (ม.ค. - พ.ย. 2567) ทะลุ 1,033 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ถึง 21.53% ทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีมูลค่า 7,797.57 ล้านบาท

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผย ปี 2567 ถือเป็นปีทองของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายผลักดันมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งการลดภาษี และการสนับสนุนการผลิตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตจำนวน 7 แบรนด์ผู้ผลิต ส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตในกลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ธุรกิจผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า ธุรกิจแบตเตอรี่ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจผลิตตัวถังยานยนต์ ฯลฯ

ทั้งนี้ ในปี 2567 เฉพาะกลุ่มธุรกิจย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นกว่า 61% โดยปี 2566 กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีรายได้รวมกว่า 3.6 ล้านล้านบาท ปี 2567 ยอดสะสม 11 เดือน (ม.ค. - พ.ย.) กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 1,033 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 183 ราย (คิดเป็น 21.53%) (ม.ค. - พ.ย. 2566 จำนวน 850 ราย) ขณะที่ทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่มีมูลค่า 7,797.57 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 3,560.37 ล้านบาท (31.35%) (ม.ค. - พ.ย. 2566 จำนวน 11,357.94 ล้านบาท) เนื่องจากปี 2566 มีนิติบุคคลในกลุ่มการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีทุนจดทะเบียนสูงหลายราย ส่งผลให้ทุนจดทะเบียนจัดตั้งในปี 2567 ลดลง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “เป็นธรรมเนียมทุกปีที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้นำข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจเชิงลึกมาทำการวิเคราะห์ธุรกิจดาวรุ่งและธุรกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย/ต้องเร่งปรับตัว เพื่อให้ภาคธุรกิจและนักลงทุนนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการลงทุนหรือขยายธุรกิจ รวมทั้ง รับทราบถึงภาพรวมธุรกิจไทยตลอดปีที่ผ่านมา

โดยปี 2567 ธุรกิจในประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายด้านทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ เช่น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศมหาอำนาจ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ปัญหาอุทกภัยในบางพื้นที่ กำลังซื้อในประเทศที่ลดลงจากปัญหาภาระหนี้สินครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญทั้งสิ้น

การวิเคราะห์ธุรกิจดาวรุ่ง - ธุรกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย/ต้องเร่งปรับตัว ปี 2567 ได้นำข้อมูลด้านการจดทะเบียนธุรกิจ เช่น จำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ ผลประกอบการ (กำไร-ขาดทุน) การเลิกประกอบกิจการ รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น แนวโน้มธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ กระแสความนิยม นโยบายภาครัฐ ดัชนีทางเศรษฐกิจ สถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และการแข่งขันของธุรกิจ โดยผลการวิเคราะห์ฯ พบว่า ปี 2567 ธุรกิจดาวรุ่งมาแรงที่จูงมือกันเติบโตจะสอดคล้องกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ กีฬาและออกกำลังกาย/ท่องเที่ยวและบันเทิง/ยานยนต์ไฟฟ้า/ออนไลน์/ผลิตภาพยนตร์ ขณะที่ ธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย/ต้องเร่งปรับตัวจะเป็นธุรกิจที่ยังคงทำธุรกิจในรูปแบบดั้งเดิมที่ยังไม่นำเทคโนโลยีมาใช้หรือยังไม่มีการปรับปรุงเทคโนโลยีในการบวนการผลิตและบริการ เช่น ผลิตเหล็ก-โลหะมีค่า-อัญมณี ค้าปลีกแบบออฟไลน์ สื่อและประชาสัมพันธ์แบบออฟไลน์ แปรรูปสินค้าเกษตร ตัวแทนนายหน้า เผชิญภาวะถดถอย ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

คาดปี ‘68 ภาคธุรกิจต้องเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง แนะให้นำเทคโนโลยีเข้ามาในการผลิต/การบริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ สร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่แตกต่างจากคู่แข่ง ใช้ Data เป็นตัวช่วยตัดสินใจทางธุรกิจ และปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวโน้มธุรกิจที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

5 ธุรกิจดาวรุ่ง
1) กลุ่มธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกาย ได้แก่ ธุรกิจจำหน่ายเสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา สถานฝึกสอนกีฬา และธุรกิจจัดการแข่งขันกีฬา

2) กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและความบันเทิง ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมที่พัก ธุรกิจร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจความบันเทิงและการแสดงโชว์

3) กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ธุรกิจผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า ธุรกิจแบตเตอรี่ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจผลิตตัวถังยานยนต์

4) กลุ่มธุรกิจ e-Commerce ได้แก่ ธุรกิจแพลตฟอร์ม e-commerce ธุรกิจคลังสินค้าและขนส่งสินค้า ธุรกิจกล่องบรรจุพัสดุ
5) กลุ่มธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ ได้แก่ ธุรกิจการผลิตภาพยนต์ วิดีทัศน์ รายการโทรทัศน์ และการตัดต่อภาพและเสียง

5 ธุรกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย/ต้องเร่งปรับตัว
1) ธุรกิจการผลิตเหล็ก โลหะมีค่า และอัญมณี ได้แก่ ธุรกิจผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ขั้นต้น ขั้นกลาง เหล็กแผ่น ธุรกิจผลิตโลหะมีค่า ธุรกิจผลิตเครื่องประดับ การเจียระไน เพชรพลอย เป็นต้น

2) ธุรกิจร้านค้าส่งค้าปลีกแบบออฟไลน์ (ร้านค้าโชห่วย) ได้แก่ ธุรกิจขายปลีกสินค้าอื่นๆ ในร้านค้าทั่วไป ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ใช้ช่องทางออนไลน์ในการซื้อสินค้ามากขึ้น

3) ธุรกิจสื่อและการประชาสัมพันธ์แบบออฟไลน์ ได้แก่ ธุรกิจพิมพ์หนังสือพิมพ์และวารสาร ธุรกิจจัดพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่โบรชัวร์ใบปลิวและสิ่งพิมพ์อื่นๆ ธุรกิจกิจกรรมเผยแพร่ภาพยนตร์ฯ เป็นต้น

4) ธุรกิจแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ได้แก่ ธุรกิจแปรรูปและการถนอมผลไม้และผักด้วยวิธีอื่นๆ ธุรกิจการผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำด้วยการอบแห้ง การรมควัน การทำเค็ม

5) ธุรกิจตัวแทนและนายหน้า ได้แก่ ธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าและตัวแทนออก ธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนและนายหน้า ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้ายว่า ปี 2568 ภาคธุรกิจยังคงต้องเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่องทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าขอแนะนำให้ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องและยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต/การบริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ สร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจและเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกันในลักษณะการช่วยเหลือเกื้อกูล นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่แตกต่างจากคู่แข่ง มีการใช้ Data เป็นตัวช่วยตัดสินใจทางธุรกิจ และปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวโน้มธุรกิจที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องติดตามข่าวสารและแนวโน้มการประกอบธุรกิจทั้งของประเทศไทยและทั่วโลกอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและรวดเร็ว ดังนั้น ผู้ประกอบการที่รู้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจและสามารถปรับตัวได้ทัน จะช่วยให้สามารถรับมือและนำพาธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจและธุรกิจมีความมั่นคง

อ่านข่าวฉบับเต็มได้ที่.. https://www.dbd.go.th/news/27925122567

ที่มา : กองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

วันที่ 25 ธันวาคม 2567

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้