Last updated: 28 ต.ค. 2567 | 227 จำนวนผู้เข้าชม |
TONY+ PATRICK เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าฝีมือคนไทยที่ตอบโจทย์การใช้งานครบทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ และแพล็ตฟอร์ม มีให้บริการครบทั้งเครื่องชาร์จระบบ AC และ DC ตั้งเป้าขยายเครือข่ายสถานีชาร์จเพิ่มเป็น 40 แห่ง และติดตั้งโฮมชาร์จเจอร์ 400 ยูนิต ภายในสิ้นปีนี้
การลงทุนเปิดสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ทั้งในเรื่องทำเล การลงทุน การบริหารจัดการ และการเลือกเครื่องชาร์จรถยนต์ให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งควรต้องเป็นเครื่องชาร์จฯที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีซอฟท์แวร์รองรับการใช้งานในระยะยาว
ที่ผ่านมามีผู้ผลิตและผู้นำเข้าเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามาจำหน่ายในประเทศไทยหลากหลายแบรนด์ และส่วนใหญ่มักนิยมขายเฉพาะตัวเครื่องชาร์จฯ หรือฮาร์ดแวร์ ส่วนซอฟท์แวร์ หรือแพลตฟอร์มสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถคิดค่าบริการชาร์จและโซลูชั่นในการบริหารจัดการนั้นต้องซื้อเพิ่มหรือเข้าไปเป็นสมาชิกของเครือข่ายสถานีชาร์จฯ ที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Provider
ข้อจำกัดตรงนี้มีผู้มองเห็นโอกาสนำมาเป็นไอเดียพัฒนาเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถตอบสนองความต้องการได้ครับครันทั้งในด้านฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ได้สำเร็จ จนนำไปสู่การแนะนำสินค้าสู่ตลาด EV ไทยภายใต้แบรนด์ TONY+ PATRICK ครั้งแรกเมื่อปี 2565
นายอชิตศักดิ์ พชรวรณวิชญ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบี เทคโนโลยี จำกัด เปิดเผยว่าธุรกิจเดิมของเอบี เทคโนโลยี ประสบความสำเร็จจากการดำเนินกิจการแฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก ที่ให้บริการซัก-อบเสื้อผ้าด้วยระบบหยอดเหรียญ ด้วยระบบอัตโนมัติ สามารถเชื่อมโยงการทำงานกับอินเตอร์เน็ต และสั่งการผ่านแอปพลิเคชั่นให้เครื่องทำงานโดยอัตโนมัติได้โดยไม่ต้องใช้คนดูแลเครื่อง
เมื่อเห็นว่าประเทศไทยเริ่มมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น จึงนำความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติมาต่อยอดสู่ธุรกิจ EV Charger ที่มีแนวทางการบริหารจัดการโดยระบบอัตโนมัติ ไม่ต้องจ้างเด็กปั๊มมาคอยเสียบชาร์จ ซึ่งเป็นระบบที่ทางบริษัทฯมีความถนัดในการพัฒนาโปรแกรมให้สามารถรันธุรกิจได้ 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องใช้คนดูแล และเมื่อศึกษาดูก็พบว่าอุปกรณ์เหล่านี้เข้าถึงได้ง่าย หากพัฒนาซอฟท์แวร์เข้ามาเติมเต็มเข้าไปก็จะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี
“เครื่องชาร์จ TONY+ PATRICK เป็นเทคโนโลยีของคนไทย 100% จะมีความแตกต่างจาก EV Charger รายอื่นๆ ตรงที่เราดูแลให้ครอบคลุมทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ และระบบแพล็ตฟอร์ม ดังนั้นจึงสามารถเพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ รองรับความต้องการของลูกค้าได้ทันท่วงที และไม่มีเงื่อนไขให้ไปซื้อฮาร์ดแวร์หรือซอฟท์แวร์จากที่นั่นที่นี่ สินค้าเรามีลักษณะเหมือนมือถือของแอปเปิ้ล ก็คือ ถ้าซื้อไอโฟนมาใช้ก็สามารถใช้ซอฟท์แวร์ของเขาได้ตลอดไป ที่สำคัญตัวซอฟท์แวร์นั้นจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเสถียรกว่า”
นายอชิตศักดิ์ กล่าวว่า TONY+ PATRICK พัฒนาโดยคนไทย แต่ว่าได้มาตรฐานระดับโลก แอปพลิเคชันรองรับได้ 3 ภาษา คือ ภาษาไทย จีน และอังกฤษ ถ้าอยากได้ฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่างเช่น ต้องการเพิ่มเมนูภาษาญี่ปุ่นก็ใช้เวลาทำให้ได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ ขณะเดียวกันในส่วนของการจ่ายเงินจะเป็นระบบวอลเล็ตที่รองรับการชำระเงินผ่าน WeChat Pay ที่มีความปลอดภัยสูงและใช้ง่าย และได้รับความนิยมแพร่หลายในประเทศจีนและตลาดระหว่างประเทศ ดังนั้นคนจีนที่มาใช้ก็ไม่จำเป็นต้องแลกเป็นเงินบาท สามารถชำระด้วยเงินหยวนเข้ามาในวอลเล็ตได้เลย
ปัจจุบันเครื่องชาร์จ TONY+ PATRICK มีการพัฒนาออกมาจำหน่ายอย่างครอบคลุมทั้งระบบ AC และ DC โดยระบบ AC เป็นเครื่องชาร์จขนาด 7 kW และ 22 kW ส่วนเครื่องชาร์จแบบ DC มีขนาด 47 kW , 60kW , 120 kW และ 240 kW โดยมีการรับประกันงานติดตั้งและตัวเครื่อง 2 ปี ล่าสุดมีผู้ติดตั้งไปแล้ว 20 สถานี ส่วนโฮมชาร์จเจอร์มีประมาณ 100 ยูนิต ทางบริษัทฯได้มีการตั้งเป้าหมายขยายเครือข่ายเพิ่มเป็น 40 สถานี และ 400 ยูนิต ภายในสิ้นปีนี้