X

Turing ยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับเทคโนโลยี 5G โชว์ตัวที่งาน Sustainability expo 2024

Last updated: 6 ต.ค. 2567  |  315 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“Turing” ยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับเทคโนโลยี  5G

“Turing” ยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับเทคโนโลยี  5G สำหรับขนส่งผู้โดยสารของคณะวิศวฯ จุฬาฯ มาโชว์ตัวที่งาน Sustainability expo2024  โซน Better Living ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จนถึง 6 ต.ค 2567

“Turing” เป็นชื่อของยานยนต์ไฟฟ้าอัตโนมัติสำหรับขนส่งผู้โดยสาร (Autonomous Shuttle pod) ที่ทำงานโดยใช้เทคโนโลยี AI , เซ็นเซอร์ , เรดาร์  และกล้องรอบคัน เชื่อมต่อสื่อสารกันผ่านเทคโนโลยี  5G เพื่อรับข้อมูลจากสภาพแวดล้อมรอบๆรถ แล้วนำมาวิเคราะห์เส้นทางเพื่อการเคลื่อนที่ได้อย่างปลอดภัย


จุดประสงค์ในการสร้างเจ้า “ทัวริ่ง” ขึ้นมาก็เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านการจราจร ลดอุบัติเหตุทางถนน โดยมีการพัฒนาระบบควบคุมการขับขี่ในระดับการควบคุมขั้นสูง (High level control) ของรถอัตโนมัติ ประกอบด้วย

1) การระบุตำแหน่ง (Localization) โดยใช้แผนที่ความละเอียดสูง (HD Map) ควบคู่กับเซ็นเซอร์ Lidar สำหรับระบุตำแหน่งรถยนต์

2) การวางแผนการวิ่ง (Path planning) ซึ่งเป็นระบบสำหรับควบคุมการขับขี่ โดยใช้โปรแกรม โอเพ่นซอร์ส (Open source program) AUTOWARE เพื่อควบคุมการขับขี่ของรถตามเส้นทางการวิ่ง (Way point) ให้เป็นไปอย่างปลอดภัย


คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ทำการวิจัยและทดสอบระบบรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ (Autonomous Shuttle pod) โดยนำเทคโนโลยี CAV มาพัฒนาและทดสอบในประเทศไทยตั้งแต่กลางปี 2565 เพื่อนำไปพัฒนาการควบคุมรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับในอนาคต ซึ่งรถประเภทนี้จะใช้รับส่งผู้โดยสารในช่วงต้นและท้ายของการเดินทาง (First-last mile) โดยเชื่อมต่อกับการเดินทางโหมดอื่น ๆ เช่น รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถเมล์ และการเดินทางรูปแบบอื่น ๆ

การทดลองนี้อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์วิจัยยานยนต์และระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart MOB) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยบูรณาการแห่งแรกของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มีการศึกษาและพัฒนาด้านระบบขนส่งอัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบความปลอดภัยทางถนน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการเดินทางขนส่งของสังคมผู้สูงวัยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556

ปัจจุบันสามารถพัฒนารถต้นแบบที่ทำงานผ่านระบบ 5G ได้ตามเป้าหมาย โดยรถสามารถวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารได้โดยอัตโนมัติ สามารถเข้าจอดตามป้ายได้โดยไม่มีคนขับ แต่ยังคงต้องมีคนคอยกำกับดูแลความเรียบร้อยขณะรถเข้า-ออกจากป้าย และการเปิด-ปิดประตู ถ้ามีเหตุการณ์ที่ประเมินว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัย คนจะเข้าไปควบคุมรถแทน


รถต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้า 5G ไร้คนขับมีอยู่ 2 คัน เบื้องต้นผ่านการทดลองวิ่งใช้งานจากฝั่งหอประชุมใหญ่ไปคณะบัญชี เพราะจะมีคนขึ้นจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจามจุรีสแควร์ จากนั้นวิ่งไปทางคณะสถาปัตยกรรม และอักษรศาสตร์ ในการทดลองใช้งานจริงจะวิ่งไปทางคณะบัญชี แล้ววนกลับทางคณะสถาปัตย์ อักษรฯ แล้วกลับมาทางคณะวิศวกรรมศาสตร์



การกำหนดเส้นทางให้วิ่งเฉพาะในพื้นที่ของจุฬาฯเพราะยังเป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ขั้นตอนต่อไปจะพิจารณาต่อยอดไปสู่รถรูปแบบอื่น อาจจะพัฒนารถบัส 5G ที่จอดรับผู้โดยสารตามป้าย และสามารถเรียกผ่านแอพพลิเคชั่นได้ ส่วนการพัฒนาในเชิงพาณิชย์นั้นอาจจะต้องทำในรูปแบบสตาร์ทอัพ เพราะถ้าทำในรูปแบบการวิจัยต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง



ทั้งนี้ โครงการทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับยานยนต์ไร้คนขับ เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก กสทช. ผ่านกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อผลักดันให้มีการนำระบบ 5G มาประยุกต์ใช้  โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานที่ได้รับทุน และร่วมมือกับ Smart Mobility Research Center (Smart MOBI) และ AIS 5G มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 จนได้รถต้นแบบที่ทำงานผ่านระบบ 5G ตามเป้าหมาย



“Turing” มาโชว์ตัวที่งาน Sustainability expo2024  โซน Better Living ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติ จนถึง 6 ต.ค 2567 โดยร่วมกิจกรรมกับแอพพลิเคชั่น HAUP

ที่มา : Sustainability expo2024 / HAUP 

ภาพ : HAUP Bangkok

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้