Last updated: 15 ก.ค. 2567 | 649 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจบโครงการรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบของคนไทย 100% MOVE “5G Auto Bus” ที่วิจัยและพัฒนาโดยศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และบริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีการสาธิตการใช้งานร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชั่นด้วยเทคโนโลยี 5G บนเส้นทางอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมือง-วัดมหาธาตุ-วัดธรรมมิกราช และวัดพระราม ระหว่างวันที่ 31 มกราคม-1 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา
รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ MOVE “5G Auto Bus” ตอนนี้วิ่งทดสอบที่อยุธยา
ทีมศูนย์วิจัย ฯ MOVE ไม่รอช้าเดินหน้านำรถบัส “5G Auto Bus” ต้นแบบที่เพิ่งนำกลับมาจากอยุธยา ไปโชว์เทคโนโลยีที่พัฒนาโดยคนไทยที่งาน ASEAN Sustainable Energy Week & Electric Vehicle Asia 2024 ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2567
เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับฝีมือคนไทยมีอะไรน่าสนใจ...มาดูกัน!
ไลดาร์ติดตั้งถ้านบนของรถบัส
รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบคันนี้ สื่อสารด้วยโมบายแอพพลิเคชั่นผ่านเครือข่าย 5G จัดอยู่ในระดับ 3 ของยานยนต์ไร้คนขับ มีขีดความสามารถสั่งให้รถเคลื่อนที่ได้ เบรกได้ ทำความเร็วได้ แต่ยังต้องใช้คนคอยบังคับรถในกรณีฉุกเฉิน อย่างเช่นการเปลี่ยนเลน หรือเวลาเจอปัญหาการจราจรติดขัด เมื่อรถหยุดนิ่งถ้าต้องการเปลี่ยนเลน ต้องปรับเป็นระบบแมนนวล ใช้คนควบคุมการขับขี่ไปยังจุดที่ต้องการก่อนปรับโหมดให้เป็นระบบขับขี่อัตโนมัติ
ไลดาร์ ติดด้านข้างของตัวรถ
จุดเด่นของรถบัส 5G Auto Bus น่าจะอยู่ตรงที่เป็นโครงการที่นำรถบัสธรรมดามาพัฒนาให้เป็นรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับโดยฝีมือคนไทย โดยมีการติดตั้งแบตเตอรี่ลิเธียม NMC ความจุ 114 กิโลวัตต์ สามารถรองรับการชาร์จแบบเร็วได้ ถ้าหากชาร์จกับเครื่องชาร์จ 100 กิโลวัตต์จะชาร์จเต็มภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง มีระยะทางวิ่งสูงสุด 100 กิโลเมตร/ชาร์จ ถ้าขับแบบประหยัด ปิดแอร์วิ่ง จะไปได้ไกลถึง 200 กิโลเมตร ทำความเร็วได้ 75-90 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ด้วยความที่รถวิ่งด้วยระบบอัตโนมัติจึงจำกัดความเร็วไว้เพียง 20-40 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อให้ระบบตอบสนองกันได้ทัน
แผ่นสี่เหลี่ยมสีดำที่อยู่ด้านล่างของไลดาร์คือเรดาร์
ในส่วนของการขับขี่อัตโนมัตินั้น ทีมวิจัยของ MOVE ได้ติดตั้งไลดาร์ (LiDAR) รอบคัน เพื่อใช้ตรวจจับและคาดคะเนระยะทางของวัตถุ ที่มีการทำงานโดยการปล่อยลำแสงเลเซอร์ไปยังวัตถุเมื่อแสงกระทบวัตถุและสะท้อนกลับมายังเซ็นเซอร์ ระบบจะสามารถคำนวณระยะห่างของวัตถุจากตัวเซนเซอร์ได้ผ่านระยะเวลาที่แสงใช้ในการเดินทาง ยิ่งวัตถุอยู่ไกลออกไป แสงก็จะใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นในการเดินทางไปยังวัตถุและสะท้อนกลับมายังเซนเซอร์
นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งเรด้า (RADAR) บริเวณด้านหน้าของรถบัสอีก 1 จุด เพื่อใช้คลื่นวิทยุตรวจจับเป้าหมายด้านหน้าให้มีความละเอียดและแม่นยำมากขึ้น
ขณะเดียวกันในส่วนของการวิ่งจริงบนท้องถนนนั้น จำเป็นต้องใช้แอพพลิเคชั่น 5G สื่อสารกับ Google Map ตามเส้นทางการวิ่งที่ป้อนให้ ยังไม่สามารถปล่อยให้รถวิ่งเองโดยอิสระ ประกอบกับต้องใช้แอพฯอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวเวลาเรียกใช้บริการว่ารออยู่ที่จุดจอดไหน ดังนั้นการวิ่งยังเป็นการวิ่งในเส้นทางที่กำหนดให้เท่านั้น การจะเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระจะต้องพัฒนาให้เป็นระดับที่ 5 ในรูปแบบโดรนโดยสาร ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ
แสดงภาพที่เรดาร์จับภาพได้ สีฟ้าเป็นตัวรถ ส่วนสีชมพูเป็นคนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงของรถ
ในส่วนของการใช้งานจริงของยานยนต์ไร้คนขับบนท้องถนน คาดว่ามีโอกาสนำมาใช้ในอนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งหมายถึงต้องทำราคารถแบบให้ถูกลง เนื่องจากต้นทุนต่อคันในขณะนี้ค่อนข้างสูง ต้องลงทุนต่อคันเกือบ 60 ล้านบาท
ด้านเทคนิคต้องมีการนำเอาเอไอมาช่วยขยายพื้นที่ของ MAP ขยายเส้นทางการเดินทางก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตามการนำรถต้นแบบไปทดลองในพื้นที่จริงพบว่ายังติดปัญหาพฤติกรรมการขับขี่ของรถคันอื่นบนถนน “เอไอ” ต้องเรียนรู้พฤติกรรมการขับขี่ของคนไทยว่าเป็นอย่างไร อาจต้องใช้เวลาเรียนรู้อีกประมาณ 2-3 ปี
ปัจจุบันโปรเจคนี้เสร็จสิ้นตามโครงการแล้ว กำลังอยู่ในช่วงเก็บผล ปิดทุน แต่ว่าสามารถขยายผลให้ไปวิ่งในพื้นที่อื่นได้ ทั้งนี้โครงการยังสามารถพัฒนาได้อีกเพราะตอนนี้ยังต้องมีคนคอยควบคุมการขับขี่บนถนนจริง หากจะศึกษาในสเต็ปท์ต่อไปสามารถพัฒนาให้สามารถเคลื่อนที่แซงได้ทั้งซ้ายและขวา ถอยเข้าหรือเดินหน้าได้อัตโนมัติ ซึ่งสามารถต่อยอดการพัฒนาจากรถต้นแบบคันนี้ได้
ขณะนี้ ศูนย์วิจัยฯ MOVE กำลังรอนโยบายจากภาครัฐว่าจะต่อทุนให้พัฒนาต่อหรือไม่ หรือถ้าหากมีองค์กร หรือหน่วยงานใดสนใจให้ทุนไปทดลองวิ่งในพื้นที่อื่น สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โทร : 02 470 9637, 092 465 8936
8 ก.ค. 2566