X

TAXI EV ไปโลด! ปตท. / OR / EVme / ส.แท็กซี่ไทย จับมือเซ็น MOU พัฒนาระบบนิเวศรถแท็กซี่ไฟฟ้าใน กทม.

Last updated: 30 ก.ย. 2567  |  842 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปตท. / OR / EVme / ส.แท็กซี่ไทย จับมือเซ็น MOU

ปตท. / OR / EVme และสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย แท็คทีมเซ็น MOU พัฒนาระบบนิเวศรถแท็กซี่ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คาดดันตลาดแท็กซี่ไฟฟ้าโตพรวด



เพจ Smart Taxi.,Ltd เผยภาพพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาระบบนิเวศรถแท็กซี่ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVme) และสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย ที่สำนักงานใหญ่ ปตท. ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อ 25 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะสนับสนุนตลาดรถแท็กซี่ไฟฟ้าให้เติบโตและได้รับความนิยมพุ่งสูงขึ้น เพราะมีเจ้าภาพที่รวมตัวกันจากพันธมิตรที่แข็งแกร่ง มีเครือข่าย มีเงินทุน มีเทคโนโลยีที่จะสนับสนุนพร้อมอยู่แล้ว

ปตท. ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของไทยนั้นพัฒนาระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้าผ่านบริษัทในเครือมาตั้งแต่ต้น มีกิจการครอบคลุมทั้งการร่วมทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจสถานีชาร์จ โชว์รูมรถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ ขณะที่ OR เป็นแขนขาในการขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV STATION PLUZ มีสถานีเครือข่ายเฉียด 1,000 จุดทั่วประเทศ และกำลังรุกเปิดสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าล้วนภายใต้แบรนด์ EV CHARGING HUB



ขณะที่ EVme ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการเช่ารถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร เปิดแอพฯให้บริการเช่า/ขายรถ EV และรถแท็กซี่ไฟฟ้า ปัจจุบันส่งมอบรถแท็กซี่ไฟฟ้าให้พันธมิตรในกรุงเทพฯ ขอนแก่น และภูเก็ต ไปแล้วกว่า 900 คัน เป็นอีกเสาหลักที่ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคการขนส่งสาธารณะ



ยิ่งผนึกกำลังกับสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทยที่มีสมาชิกหลายหมื่นคันก็จะยิ่งมีส่วนผลักดันให้ตลาดรถแท็กซี่ไฟฟ้าในไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันปริมาณรถ Taxi ไฟฟ้า (BEV) บนท้องถนนนั้นเร่งตัวขึ้น แม้จะยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับทั้งตลาด ในปี 2567 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการซื้อ Taxi ใหม่ทดแทนคันเก่าที่หมดอายุในพื้นที่กรุงเทพฯน่าจะเป็น Taxi ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด อาจมีส่วนแบ่งสูงถึง 49% ของตลาด Taxi ป้ายแดงที่คาดว่าจะมีทั้งหมดราว 3,300 คัน ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดของ Taxi ที่ใช้พลังงานขับเคลื่อนรูปแบบอื่น เช่น น้ำมัน แก๊ส LPG และแก๊ส NGV รวมกันลดเหลือเพียง 51% จากเดิมอยู่ที่ 86% ในปี 2566



สาเหตุหลักที่ Taxi ไฟฟ้าเติบโตขึ้นมากคาดว่ามาจากต้นทุนของทั้งฝั่งคนขับ Taxi และฝั่งผู้ประกอบการให้เช่า Taxi นั้นถูกลงกว่าการใช้ Taxi ที่เป็นพลังงานรูปแบบเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณี Taxi ส่วนบุคคลที่เป็น Taxi ไฟฟ้า ต้นทุนต่อวันก็จะถูกลงอีกมาก เนื่องจากสามารถชาร์จไฟจากที่พักอาศัยได้เลยในระดับเดียวกับค่าไฟบ้าน
นอกเหนือจากประเด็นเรื่องต้นทุนแล้ว ความไม่สะดวกในการหาปั๊มเติมแก๊สก็เป็นอีกประเด็นสำคัญ หลังมีสัญญาณการทยอยปิดตัวลงของปั๊มแก๊ส จากการที่ราคาแก๊สทั้ง NGV และ LPG ปรับเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการมาของ Taxi ไฟฟ้า แต่ก็มีผลทำให้ Taxi กลุ่มพลังงานอื่น โดยเฉพาะ NGV อาจเติบโตได้ลำบากขึ้นในอนาคตจากความไม่สะดวกดังกล่าว



ตรงข้าม ในฝั่งของ Taxi ไฟฟ้า แม้ราคาชาร์จไฟจะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าที่เร่งขึ้นมากและจะเพิ่มขึ้นต่อในอนาคต ทำให้ปัญหาเรื่องการหาที่ชาร์จไฟมีแนวโน้มลดลง

อย่างไรก็ดี การขยายตัวของ Taxi ไฟฟ้า จะรุดหน้าต่อเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนสถานีชาร์จสาธารณะ การจัดหาอะไหล่และการซ่อมบำรุง ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่น โดยเฉพาะกลุ่มคนขับแท๊กซี่แบบเช่าที่ไม่ต้องการให้มีอะไรมาเป็นอุปสรรคต่อการหารายได้ประจำวัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า รถแท็กซี่ไฟฟ้ากำลังเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าตลาดรถแท็กซี่ในประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ จากปี 2564 ที่มีสัดส่วนเพียง 1% เท่านั้น ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของรถแท็กซี่ไฟฟ้าในหมู่ผู้ประกอบการและผู้ขับขี่รถแท็กซี่



ที่มา : เพจ Smart Taxi.,Ltd / ศูนยฺวิจัยกสิกรไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้