X

เปิดตัวแผนพัฒนากำลังคน IGNITING THAILAND'S FOR BRAINPOWER ยกระดับคน EV AI และเซมิคอนดักเตอร์

Last updated: 16 ส.ค. 2567  |  169 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เปิดตัวแผนพัฒนากำลังคน “IGNITING THAILAND

“ศุภมาส” เปิดตัวแผนพัฒนากำลังคน “IGNITING THAILAND'S FOR BRAINPOWER” อว. - บพค. เดินหน้ายกระดับขีดความสามารถระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย ครอบคลุมคนในวงการ EV AI และเซมิคอนดักเตอร์ พลิกโฉมอนาคตของประเทศด้วยพลังแห่งการสร้างคน

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าวเปิดตัวแผนพัฒนากำลังคน: ขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทยด้วยนวัตกรรมจุดประกายประเทศไทย สู่การเป็นผู้นำด้านบุคลากรยุคใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย “IGNITING THAILAND'S FOR BRAINPOWER” โดยมี ศ.คร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำเสนอแผนงานและแถลงวิสัยทัศน์ในการนำส่งนโยบายสู่การปฏิบัติตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวง อว.นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการเทนอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานในกระทรวง อว. หน่วยงานภาคเอกชน/อุตสาหกรรม ตลอดจนนักวิชาการ อาจารย์ และนักวิจัย เข้าร่วม ณ โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพ สุขุมวิท เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567


นางสาวศุภมาส กล่าวว่า แนวคิดจุดประกายประเทศไทย สู่การเป็นผู้นำด้านบุคลากรยุคใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ IGNITING THAILAND's BRAINPOWER สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกระทรวง อว. ที่ต้องการผลักดันให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพสูง พร้อมขับเคลื่อนประเทศไปด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าล้ำยุค ซึ่ง บพค. เป็นกำลังสำคัญของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่ได้รับโจทย์ความท้าทายนี้ในการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนให้เป็นรูปธรรม โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย หน่วยงานภาคเอกชน และผู้ใช้ประโยชน์ อันจะเป็นระบบนิเวศการสร้างและพัฒนาบุคลากรสมรรถนะและทักษะสูงได้อย่างครบห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)


การเปิดตัวแผนพัฒนากำลังคนภายใต้แนวคิด “บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสำเร็จ” เป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างและพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ให้มีทักษะ ความรู้ และความสามารถที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต (Demand-driven platform) แผนดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีโลก ความร่วมมือของทุกภาคส่วน คือสิ่งสำคัญที่สุดที่จะเร่งให้สามารถเดินทางไปสู่จุดหมายการสร้างคนของประเทศได้ ทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสใหม่ ๆ แก่เยาวชนไทยที่กำลังจะเข้าสู่การศึกษาในระดับสูงขึ้น ให้มีระบบนิเวศพร้อมรองรับการเรียนรู้ตลอดทุกช่วงวัย (Lifelong learning) ให้ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบการศึกษาได้ ซึ่งกระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนทุกแพลตฟอร์ม ให้การสร้างและพัฒนาคนเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นผู้นำระดับภูมิภาคและของโลกต่อไป

ด้าน ศ.ดร.สมปอง กล่าวว่า ในยุคที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ในสังคม จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนให้รองรับความผันผวนของเทคโนโลยีด้วยการสร้างทักษะใหม่ ๆ และมีองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องพัฒนาคนให้มี Hard Skill ที่เป็นองค์ความรู้เฉพาะในสาขานั้น ๆ Technical Skill ทักษะเชิงเทคนิคอันจำเป็นการทำงานในสายอาชีพ และ Soft Skill ทักษะเชิงสมรรถนะส่วนบุคคลอันจำเป็นการพัฒนาชุดความคิด (Mindset) องค์ประกอบของทั้ง 3 ส่วนนี้จะทำให้ทรัพยากรบุคคลมีศักยภาพที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ของไทยเจริญเติบโตก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric vehicle, EV) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence, Al) และเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก


บพค. มีเครื่องมือสนับสนุนกลไกการสร้างคน ตั้งแต่ระยะสั้น (Short-term) เป็นการพัฒนาทักษะเดิมเพิ่มทักษะใหม่-อบรมบุคลากรผู้สอน (Reskill/Upskill/Train the trainer) ระยะกลาง (Middle-term) เป็นแพลตฟอร์มนักวิจัยระดับหลังปริญญา (National Post-doctoral/Post-graduate system) และระยะยาว (Long-term) เป็นแพลตฟอร์มวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ชัชวิทย์ (Thailand Academy of Sciences, TAS) มุ่งเน้นการสร้างบุคลากรนักวิจัยสมรรถนะสูงตอบโจทย์ตามความต้องการของหน่วยงานวิจัยและภาคเอกชน/อุตสาหกรรม ซึ่งมีงานรองรับหลังสำเร็จการศึกษาวิจัย

 ทั้งนี้ บพค.มีความพร้อมที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีศักยภาพสูงตามนโยบายของภาครัฐ เพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรม EV จำนวน 3,600 คน อุตสาหกรรม Al ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเซมิคอนดักเตอร์ การแพทย์และ EV จำนวน 4,400 คน และอุตสาหกรรม Semiconductor จำนวน 9,500 คน ภายใน 5 ปี ซึ่งจะช่วยยกระดับให้ประเทศไทยมีสัดส่วน นักวิจัยจำนวน 40 คนต่อประชากร 10,000 คนให้ได้ตามเป้าหมายปี 2570 ซึ่งการสร้างกำลังคนให้มีสมรรถนะและทักษะสูงจำเป็นต้องออกจากกรอบแนวความคิดเดิม เปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างกลุ่มคนระดับแนวหน้าของประเทศที่เรียกว่า Brainpower อย่างแท้จริง เพื่อตอบโจทย์การสร้างคนอย่างยั่งยืนและนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดเสวนาพิเศษ ในหัวข้อ "จุดประกายประเทศไทย: พลังคนไทยสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรม" ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยสถาบันไอเอ็มซี เป็นผู้ร่วมเสวนา โดยมี นายอรรณพ กิตติกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งมุ่งเน้นประเด็นความท้าทายของการพัฒนาคนในยุคแห่ง Disruptive Technology เชื่อมโยงไปถึงบทบาทหน้าที่ของแต่ละภาคส่วน ที่เป็นกำลังขับเคลื่อนแผนงานการพัฒนากำลังคนของประเทศ ให้บรรลุสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำด้านบุคลากรที่มีคุณภาพสูงแห่งภูมิภาคในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้