X

สจล.ลงนามสัญญาโครงการระบบบริหารพลังงานอัจฉริยะ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050

Last updated: 31 ก.ค. 2567  |  165 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สจล.ลงนามสัญญาโครงการระบบบริหารพลังงานอัจฉริยะ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050

สจล.จัดพิธีลงนามในสัญญาโครงการระบบบริหารพลังงานอัจฉริยะ  ที่ได้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ และระบบศูนย์การเรียนรู้ ระหว่าง สจล. และบริษัทผู้ให้บริการชั้นนำอย่าง ออนวัลล่า วิเนอร์ เอนเนอร์จี้ เซ็นเตอร์พอยท์ และโซลาร์เอทู เดินหน้าลดคาร์บอนฟุ้ตพริ้นท์ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดพิธีลงนามในสัญญาโครงการระบบบริหารพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ที่ได้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) และระบบศูนย์การเรียนรู้ ระหว่าง สจล. และบริษัทผู้ให้บริการชั้นนำของประเทศ ประกอบด้วย บริษัท ออนวัลล่า จำกัด กิจการค้าร่วม วินเนอร์ เอเนอร์จี้ เซ็นเตอร์พอยท์ และโซลาร์เอทู เดินหน้าลดคาร์บอนฟุ้ตพริ้นท์เต็มรูปแบบ มุ่งเป้า ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้วิสัยทัศน์การเป็น ‘The World Master of Innovation’ ในอนาคต


รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สถาบันให้ความสำคัญกับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนไปสู่ Sustainable Campus พร้อมเป็นต้นแบบ Green, Smart, และ Digital University ให้กับภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การบริหารจัดการพลังงานอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน (Sustainable University) รวมทั้งเป็นต้นแบบให้กับประเทศ โดยตั้งเป้าหมาย ‘ลดปริมาณคาร์บอน’ ลงร้อยละ 50 ภายในปีคศ. 2028 มุ่งเป้า ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และ ‘การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’ ภายในปี ค.ศ. 2065 ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ ภายใต้บริบทของสจล. ในการเป็น ‘The World Master of Innovation’ ร่วมกับ Sustainable campus ที่เป็นเป้าหมายสูงสุด ในการพัฒนานักศึกษา บุคลากรและสภาพแวดล้อมไปพร้อมกัน ให้สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ


ส่วนของเป้าหมาย Green University สถาบันจำเป็นต้องมีการจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เช่น การติดตั้ง solar rooftop เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ การใช้ KMITL EV mini shuttle bus ที่เป็นรถเวียนไฟฟ้า เพื่อลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น ทำให้จำเป็นต้องมีการจัดการระบบพลังงานแบบอัจฉริยะนำโดย สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ หรือ SCIRA ให้ดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับความเป็น Smart Energy เพื่อให้มีการติดตามการใช้และการจัดการพลังงานส่วนที่เหลือจากการใช้สามารถกลับมาใช้ได้อีก แบบ real-time


รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ มิตะถา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า การร่วมลงนามครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นตามแผนลดค่าใช้จ่ายในด้านพลังงานที่สูญเปล่าและได้คาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นของสถาบัน โครงการนี้ เป็นการติดตั้ง Solar cell 10 MW ผลิตไฟฟ้าได้ 13,000,000 Wh/ปี (หน่วยต่อปี) สามารถคำนวณการปล่อยก๊าซ GHG emission ได้ประมาณ 3,000,000 Wh x 0.6933 kgCO2e/kWh = 9,012,900 kgCO2e/ปี หรือประมาณ 9 พันตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี หรือเทียบเท่าปลูกต้นไม้ได้ 900,000 ต้น/ปี


Solar Rooftop จึงมิใช่เป็นเพียง Solar Cell แต่เป็น Smart Device ที่มีสมองกล ส่งข้อมูลต่างๆ เช่น ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ ไปยัง สำนักบริหารข้อมูลดิจิทัลพระจอมเกล้าลาดกระบัง หรือ KDMC เพื่อจัดเก็บข้อมูล ประมวลผลข้อมูล และนำข้อมูลนั้น มาใช้ในการวางแผน การจัดการพลังงาน มุ่งสู่ความเป็น Digital University ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และบูรณาการข้อมูลต่างๆ จากระบบสารสนเทศ

สำหรับระบบศูนย์การเรียนรู้ สจล.จะทำการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงาน แสงอาทิตย์ขนาดไม่น้อยกว่า 20 kWp และติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงชนิด Battery ขนาดความจุพลังงานไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 60 kWh จำนวน 1 ระบบ และติดตั้งรองรับระบบการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System.) เพื่อใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ โดยเป็นระบบ Smart Grid ที่สามารถ รองรับเทคโนโลยี ได้แก่ Energy storage, Data Monitoring & Analytics, Blockchain 4.4 ถือเป็นการจำลองการปลดปล่อยมลภาวะเป็นศูนย์ (net zero emissions) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงแหล่งเชื้อเพลิงหลักไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์

ส่วน “Net zero emissions” หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือการที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความสมดุลเท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งในสภาวะสมดุลนี้ไม่เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ หากทุกประเทศทั่วโลกสามารถบรรลุเป้า net zero emissions ได้แปลว่าเราสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนเกิน ที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนได้



ผศ. ดร.ชดชนก อัฑฒพงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สถาบันมีนโยบายที่ชัดเจนในการมุ่งสู่การเป็นสถาบันที่ยั่งยืน (Sustainable Campus) มี 5 เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ประกอบด้วย การสร้างการมีส่วนร่วมของนักศึกษา, การสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่น, การสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน, การสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, สร้างสรรค์ระบบการบริหารที่ยั่งยืน

เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 5 ด้านนี้ค่อนข้างสอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG 17 เป้าหมาย แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ การพัฒนาคน (People) สิ่งแวดล้อม (Planet) เศรษฐกิจและความมั่งคั่ง (Prosperity) สันติภาพและความยุติธรรม (Peace) และความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ดังนั้น โครงการระบบบริหารพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) จึงเป็นการตอบโจทย์ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ทุกกลุ่ม

โดยเฉพาะการติดตั้ง Solar rooftop สามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้ประมาณ 9 พันตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ชดเชยได้ 900,000 ต้น/ปี ทั้งหมดนี้ ตรงกับ SDG ที่สถาบันกำลังมุ่งเน้น ได้แก่ SDG 4 Quality Education, SDG 7 Affordable and Clean Energy, SDG 9 Industry Innovation and Infrastructure, SDG 11 Sustainable Cities and Communities, SDG 17 Partnerships for the Goals เพื่อมุ่งสู่ความเป็น KMITL toward Sustainable Campus อย่างแท้จริง

สำหรับ บริษัทผู้ให้บริการชั้นนำของประเทศ ที่ร่วมลงนามกับ สจล. ครั้งนี้ ประกอบด้วย บริษัท ออนวัลล่า จำกัด กิจการค้าร่วม วินเนอร์ เอเนอร์จี้ และเซ็นเตอร์พอยท์ และโซลาร์เอทู เป็นการลงทุนแบบ Power Purchase Agreement(PPA) ในสัญญาการให้บริการไฟฟ้าระหว่างสถาบันฯ กับบริษัท EPC โดยสจล.จะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าตามที่ EPC กำหนด และมีระยะเวลาสัญญา 20 ปี จนเมื่อสิ้นสุดสัญญาและสถาบันฯ สามารถเลือกได้ว่าจะเป็นเจ้าของ Solar cell หรือให้รื้อออกได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม นับว่าทำให้เกิดผลดีต่อประเทศโดยรวม

ติดตามความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจได้ทาง https://www.facebook.com/kmitlofficial และเว็บไซต์ https://www.kmitl.ac.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8000

ที่มา: เออาร์ไอพี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้