X

5 ประเด็นฮอต! หลังกรมธรรม์ประกันภัย BEV มีผลบังคับใช้

Last updated: 3 มิ.ย. 2567  |  738 จำนวนผู้เข้าชม  | 

5 ประเด็นฮอต! หลังกรมธรรม์ประกันภัย BEV มีผลบังคับใช้

5 ประเด็นฮอตกรมธรรม์ประกันภัย BEV ที่มีผลบังคับใช้วันนี้ กรณีซ่อมแบตเตอรี่ประกันภัยจ่าย 100% ค่าเสื่อมแบตเตอรี่ปีที่ 5 ลด 50% รถประวัติดีจะได้รับส่วนลดสูงสุด 40% ในปีที่สาม แต่ต้องระบุชื่อผู้ขับขี่ 5 คน

  • กรมธรรม์ประกันภัยรถ BEV จะนำไปใช้เฉพาะส่วนของรถยนต์ส่วนบุคคลก่อน ส่วนรถบริษัท รถคอมเมอร์เชียล หรือรถเช่า ยังไม่เริ่มบังคับใช้
  • ผู้ทำประกันรถ BEV ต้องระบุชื่อผู้ขับขี่ 5 คน กรณีที่ผู้ขับขี่ไม่ได้ถูกระบุชื่อไว้ในกรมธรรม์ แล้วเกิดอุบัติเหตุ ค่าเสียหายส่วนแรกผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบเอง แต่ถ้าระบุไว้ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก
  • รถประวัติดีจะได้รับส่วนลดสูงสุด 40% โดยในปีแรกถ้าไม่ขับชนลด 20% ปีที่สอง 30% ปีที่สาม 40% สามารถเอา certificate ของบริษัทเดิมไปยื่นให้บริษัทประกันรายใหม่ได้
  • กรณีเกิดอุบัติเหตุจากฟังก์ชั่นการทำงานของรถ ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมการขับขี่ของคน ประกันภัยจะไม่คุ้มครอง แต่จะจ่ายให้ก่อน แล้วเจ้าของรถต้องไปเคลมกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เอง
  • ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือส่วนของแบตเตอรี่ กรณีซ่อมแบตเตอรี่ประกันภัยจ่าย 100% ค่าเสื่อมแบตเตอรี่ปีที่ 5 ลด 50%

ภาพ : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


กรมธรรม์ประกันภัย BEV ประกาศใช้มาตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 และมีผลบังคับใช้วันนี้ 1 มิถุนายน 2567 หมายความว่ารถยนต์ไฟฟ้า BEV ที่ทำประกันฯ ทุกคันต้องใช้กรมธรรม์ฉบับนี้ รถที่ซื้อมาก่อน 1 มิถุนายน 2567 ที่จะต่ออายุประกันภัยหลัง 1 มิถุนายน 2567 บริษัทประกันภัยต้องออกกรมธรรม์สำหรับรถ BEV ให้กับผู้ทำประกันเท่านั้น    

นายจิตวุฒิ ศศิบุตร นายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย ได้กล่าวไว้ในงานเสวนาประจำปี 2567 (MEET EVAT!) จัดโดยสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 โดยกล่าวถึงทิศทางค่าประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ว่า การคิดค่าเบี้ยประกันภัยมาจากพื้นฐานในเรื่องค่าแรงในการซ่อม ค่าอะไหล่ และพฤติกรรมการใช้รถ ประกอบกับรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเรื่องใหม่ในบ้านเรา ที่ผ่านมาจึงยังไม่มีสถิติเหล่านี้เพียงพอ ทำให้ต้องหาข้อมูลจากต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน แต่ก็ยังไม่ชัดเจน

แต่ปัจจุบัน หลังจากมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยได้ประมาณ 2 ปี ความไม่รู้เริ่มกระจ่างขึ้น ประกอบกับทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ได้ติดต่อให้ข้อมูลกับสมาคมประกันวินาศภัย (TGIA) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) รวมทั้งมีผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าบางรายเปิดโอกาสให้เข้าไปดูโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้มีความเข้าใจรถ BEV มากขึ้น และอาจมีการปรับลดค่าเบี้ยถูกลงบ้าง เพราะพฤติกรรมการชนระหว่างรถ BEV กับรถน้ำมันไม่ต่างกัน ดังนั้นสถิติการเคลมจึงไม่แตกต่างกัน

“ค่าเบี้ยรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังสูงกว่าเพราะราคาอะไหล่ BEV สูงกว่ารถน้ำมัน รถบางแบรนด์อะไหล่ราคาสูงกว่า 4.5 เท่า หมายความว่าถ้าแกะอะไหล่มาประกอบรถเป็นคันใหม่ จะเป็นราคารถประมาณ 4 คัน และที่ยังเป็นประเด็นอีกเรื่องก็คือการประกันภัยที่ทำกับรถน้ำมันนั้นมีทั้งซ่อมกับอู่ประกันและอู่ห้าง พอมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า การซ่อมทุกอย่างต้องเป็นอู่ห้างก่อน เพราะอู่ทั่วๆไป หรืออู่ประกันไม่กล้าซ่อม ถ้าฝืนไปซ่อมวารันตีขาดแน่นอน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวารันตี 5 ปี 8 ปี”



นายจิตวุฒิ กล่าวต่อไปอีกว่า สถานการณ์ที่ผ่านมาทำให้ คปภ.ที่เป็นหน่วยงานควบคุมและตรวจสอบฯ ได้มีการออกกรมธรรม์รถยนต์ไฟฟ้าฉบับใหม่ขึ้นมาสำหรับรถ BEV โดยประกาศเริ่มมีผล 1 มกราคม 2567 และบังคับใช้ 1 มิถุนายน 2567 หมายความว่ารถยนต์ไฟฟ้า BEV ที่ทำประกันฯ ทุกคันต้องใช้กรมธรรม์ฉบับนี้ รถที่ซื้อมาก่อน 1 มิถุนายน ที่จะต่ออายุประกันภัยหลัง 1 มิถุนายน 2567 บริษัทประกันภัยต้องออกกรมธรรม์สำหรับรถ BEV ให้กับผู้ทำประกันเท่านั้น

ข้อแตกต่างระหว่างกรมธรรม์สำหรับรถ BEV กับกรมธรรม์ฉบับเดิมจะเป็นอย่างไร สามารถสรุปเป็นประเด็นคร่าวๆ ดังนี้

ประเด็นแรก ผู้ทำประกันรถ BEV ต้องระบุชื่อผู้ขับขี่ 5 คน พร้อมเลขที่ใบอนุญาตขับขี่ อาชีพ และวัน/เดือน/ปีเกิดของทุกคน ในกรณีเป็นผู้ขับขี่ที่ไม่ได้ระบุชื่อลงในกรมธรรม์ แล้วไปขับชนขึ้นมา ความเสียหายส่วนแรกผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบเองสำหรับตัวรถต้องจ่ายค่าซ่อม 6,000 บาทแรกก่อน ส่วนบุคคลภายนอกต้องจ่าย 2,000 บาทแรก ส่วนที่เหลือประกันฯ เป็นผู้จ่าย แต่ถ้าผู้ขับไปชนอยู่ในรายชื่อที่ระบุ 5 คนแรก เวลาเกิดอุบัติเหตุไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก

ประเด็นที่สอง กรมธรรม์ฉบับเดิมส่วนของรถประวัติดี สำหรับกรมธรรม์รถ BEV จะได้รับส่วนลดสูงสุด 40% โดยในปีแรกถ้าไม่ขับชนลด 20% ปีที่สอง 30% ปีที่สาม 40% ที่สำคัญถ้ารถประวัติดีต้องการย้ายบริษัททำประกัน สามารถเอา certificate ของบริษัทเดิมไปยื่นให้บริษัทประกันรายใหม่ที่จะต่อประกันว่าไม่เคยมีประวัติการชนมาก่อนก็จะทำให้ได้ส่วนลดประวัติดีติดตามตัวไปด้วย

ประเด็นที่สาม รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นระบบออโตโนมัติ หรือในส่วนของระบบการขับขี่ในเรื่องของตัวอะแด็ปทีฟครุยส์คอนโทรล ถ้าพิสูจน์ได้ว่าชนหรือว่าไม่เข้าโค้งตามที่ผู้ผลิตกำหนด โดยไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมการขับขี่ของคน แต่เกิดจากมัลติฟังก์ชั่นของรถยนต์ ประกันภัยจะไม่คุ้มครองตรงนี้ แต่จะจ่ายให้ก่อน แล้วเจ้าของรถต้องไปเคลมกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งต้องพิสูจน์ก่อนว่าเกิดจากฟังก์ชั่นหรือซอฟท์แวร์ของรถยนต์หรือไม่ รวมทั้งในส่วนของไซเบอร์แอทแท็ค ถ้าถูกโจมตีจากไวรัส หรือการโจรกรรมทางไฟเบอร์ ประกันฯก็จะไม่จ่ายเช่นกัน

ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือส่วนของแบตเตอรี่ ที่ผ่านมาแบตเตอรี่เป็นโจทย์ เพราะราคาค่อนข้างสูง มากกว่า 50% ของราคารถ BEV ดังนั้น คปภ.จึงกำหนดว่ากรมธรรม์ฉบับนี้จะมีค่าเสื่อมของแบตเตอรี่ หมายถึงปีแรก เช่น รถราคา 1 ล้าน เป็นมูลค่าแบตเตอรี่ 5 แสนบาท ถ้าเกิดปีแรกต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ทั้งก้อนจ่าย 5 แสนบาท ก็คือ 100% แต่พอปีที่สองลดลงไปเหลือ 4 แสน 5 คือลดไป 10% ปีถัดไปลดอีก 10% เป็น 20% จนถึงปีที่ 5 ลด 50% ดังนั้นกรมธรรม์ฉบับนี้จะมีค่าเสื่อมแบตเตอรี่ ขณะเดียวกันถ้าเป็นกรณีซ่อมแบตเตอรี่ประกันภัยจ่าย 100% ซึ่งต่อไปต้องทำงานร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้สามารถซ่อมแบตเตอรี่ได้ เพราะถ้าเปลี่ยนแบตเตอรี่ผู้บริโภคจะเดือดร้อน

การบังคับใช้กรมธรรม์รถ BEV “นายจิตวุฒิ” ระบุว่าจะนำไปใช้เฉพาะส่วนของรถยนต์ส่วนบุคคลก่อน แต่ถ้าเป็นรถของบริษัท รถคอมเมอร์เชียล หรือรถเช่า ยังไม่เริ่มบังคับใช้ในตอนนี้

ในส่วนของ Charger หรือ Wallbox สำหรับชาร์จไฟที่บ้านตัวกรมธรรม์จะขยายความคุ้มครองให้ฟรีเฉพาะชาร์จเจอร์แบบพกพาที่แถมมาในรูปแบบ Accessory จะคุ้มครองให้เฉพาะกรณีไฟไหม้ หรือถูกโจรกรรมเท่านั้น ส่วน liability หรือ ความรับผิด ที่เกิดจาก Wallbox เช่น ชาร์จแล้วไฟไหม้ ประกันจะไม่จ่าย คือจะคุ้มครองเฉพาะตัว Wallbox เท่านั้น ถ้าต้องการประกันไฟไหม้ต้องซื้อเพิ่ม นอกจากนี้ในกรณีเอาแบตเตอรี่ หรือตัวรถไปโมดิฟาย กรมธรรม์ก็จะยกเว้นไม่จ่ายเช่นกัน

ทั้งหมดเป็นประเด็นหลัก ๆ ของกรมธรรม์รถยนต์ไฟฟ้า BEV ที่นายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย หยิบยกมาอธิบายในงานเสวนาประจำปี 2567 (MEET EVAT!)


ภาพ : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้