X

Flying Car ฝีมือคนไทย EP.2 แบตเตอรี่ Lithium-ion polymer มอเตอร์ 80 แรงม้า เร็วและแรงกว่าเวอร์ชั่นแรก

Last updated: 7 ม.ค. 2567  |  472 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Flying Car ฝีมือคนไทย EP.2 แบตเตอรี่ Lithium-ion polymer มอเตอร์ 80 แรงม้า เร็วและแรงกว่าเวอร์ชั่นแรก

กระแสรถยนต์บินได้ Flying Car อาจจะเป็นความฝันที่หลายคนมองว่าอยู่ไม่ไกลจนเกินไปนัก หลายปีที่ผ่านมาหากใครติดตามความคืบหน้าของวงการนี้อยู่ตลอดเวลา จะเห็นการทดสอบรถต้นแบบในต่างประเทศ ทั้งในส่วนที่เป็นเครื่องยนต์สันดาป และแบตเตอรี่ แต่ในท้ายที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่ายังไม่สามารถมาแทนที่รถยนต์บนถนนได้ด้วยหลาย ๆ เหตุผล

ในประเทศไทยนั้น มีคนจำนวนไม่น้อยสนใจเทคโนโลยีรถบินได้ แต่ที่ลงมือ ลงทุน พัฒนาอย่างจริงจังจนกระทั่งผลิตเป็นตัวต้นแบบยานพาหนะบินได้สำเร็จนั้น มีเพียงรายเดียวคือ บริษัท พัลซ ไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งบริหารงานโดย นัทธี อินต๊ะเสน ประธานกรรมการบริหาร ที่สร้าง “Flying Car”  หรือ “Passenger drone” ลำแรกสำเร็จเมื่อปี 2563 ในรูปแบบโดรนโดยสาร 1 ที่นั่ง โดยเลือกใช้แบตเตอรี่ Lithium-ion polymer “Li-Poly” ที่มีความจุไฟฟ้ามากกว่า Li-ion ถึง 20% ในขนาดแบตเตอรี่ที่เท่ากัน มีความแข็งแรงมากกว่า เกิดประกายไฟน้อย และทนต่อการกระชากมากกว่า


บอดี้ของโดรนที่นำมาสร้างเป็นโปรโตไทป์ เป็นคาร์บอนไฟเบอร์ มีน้ำหนักเบา แต่มีความแข็งแรงคงทน ส่วนของปีกมีความยาว 42 นิ้ว มีระยะเวลาบิน 30 นาทีต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และจากต้นแบบลำแรกได้มีการพัฒนาเป็นโดรนโดยสารลำใหญ่ขึ้น มีจำนวนใบพัดมากขึ้น และใหญ่ขึ้นเป็นขนาด 62 นิ้ว มอเตอร์ขนาด 60 กิโลวัตต์ หรือประมาณ 80 แรงม้า ระยะเวลาการบิน 30 นาทีเท่ากับลำแรก แต่บินได้เร็วกว่า โดยบินได้สูงไม่เกิน 500 เมตรจากพื้นดิน

Flying Car ลำที่ 2 ของประเทศไทย

ลักษณะการทำงานของโดรนโดยสารทั้ง 2 ลำจะคล้ายกัน เพียงแต่ลำใหม่มีการเปลี่ยนดีไซน์ให้ใหญ่ขึ้น บรรทุกได้มากขึ้น โดยออกแบบปีกใหม่ เปลี่ยนจากปีกบนเป็นปีกเฉียง และมีขนาดใหญ่ขึ้น โดรนรุ่นใหม่มีน้ำหนักเครื่อง 150 กก. น้ำหนักโหลด 100 กก. รวมน้ำหนักสูงสุดอยู่ที่ 250 กก.



ปัจจุบันโดรนโดยสารทั้ง 2 ลำยังไม่ได้พัฒนาในเชิงพาณิชย์ ด้วยข้อกฎหมายของไทย ยังไม่อนุญาต ประกอบกับทางบริษัทกำลังดำเนินการอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา ต้องรอให้กฎหมายอนุญาตให้ประกอบการเชิงพาณิชย์ได้จึงจะสามารถทำการตลาด  ซึ่งถ้าถึงเวลานั้นผู้บังคับโดรนต้องเรียนรู้ ต้องผ่านอบรมให้มีใบอนุญาตขับขี่โดรนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ บริษัท พัลซ ไซเอนซ์ จำกัด  เป็นบริษัทฯประกอบธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ มีโรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์ สร้างห้องคลีนรูม มีแผนกวิจัยและพัฒนาของตนเอง ดังนั้นจึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ที่ผ่านมาได้มีการทำงานร่วมกับกองแพทย์ทหารบก โดยร่วมกันพัฒนาโดรนกู้ภัย ขนย้ายผู้ป่วย ในภารกิจที่แตกต่างกันไป ซึ่งทางบริษัททำโดรนมาหลายชนิด มีตั้งแต่โดรนขนส่ง โดรนกู้ภัย และโดรนลาดตระเวน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้