Last updated: 1 ม.ค. 2567 | 714 จำนวนผู้เข้าชม |
รองโฆษกรัฐบาล “รัดเกล้า” เผย ปี 2567 รมว.อุตสาหกรรมเดินหน้า พัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมของประเทศไทยสู่ความสำเร็จ เผยใช้มาตรการ EV3.5 พัฒนาอุตฯยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมเตรียมต่อยอดอุตสาหกรรมรีไซเคิลแบตเตอรี่ EV มุ่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
วันนี้ (1 มกราคม 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ในปี 2567 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมของประเทศไทยทสู่ความสำเร็จที่สมดุลทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านความสามารถในการแข่งขัน ด้านการยอมรับจากชุมชนและสังคม ด้านการตอบโจทย์กติกาสากลในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และด้านการกระจายรายได้สู่ชุมชน
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นอนาคตของประเทศ ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยใช้มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV3.5) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมชีวภาพ
ขณะเดียวกันจะยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมเดิม เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต คือการพัฒนาอุตสาหกรรมกลุ่มใหม่ที่เชื่อมโยงกับเทรนด์โลกและภาคเศรษฐกิจอื่น / เกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร เช่น การพัฒนาวัตถุดิบ การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม /อุตสาหกรรมรีไซเคิล การนำของเสียหรือวัสดุที่ไม่ได้ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV), ซากรถยนต์, แผงโซลาร์เซลล์, /อุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีนวัตกรรม (Innovative Construction) เพื่อรองรับการก่อสร้างอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และที่อยู่อาศัยในอนาคต เช่น การผลิตปูนซีเมนต์เองภายในประเทศโดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
อุตสาหกรรมสนับสนุนประสิทธิภาพของห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain Facilitator) เช่น การบริหารสินค้าคงคลัง, ระบบอัตโนมัติในการเตรียมการขนส่ง, โลจิสติก /การส่งเสริมอุตสาหกรรมสำคัญตามนโยบายรัฐบาล/ อุตสาหกรรม Soft Power โดยใช้ soft power เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนา /อุตสาหกรรมฮาลาล โดยจัดตั้งหน่วยงานและคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนกลไกอุตสาหกรรมฮาลาลในประเทศไทย อย่างครบวงจร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพมาตรฐาน และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางฮาลาล (Halal Hub) ในภูมิภาค
อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยผลักดันการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไทยมีศักยภาพและนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ /การพัฒนาทักษะแรงงาน การแก้ไขกฎระเบียบเพื่อสร้างอุปสงค์ภายในประเทศ
“ทั้งหมดนี้เป็นความตั้งใจจริงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อที่จะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นเสาหลักที่มั่นคงของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป”
ที่มา : รัฐบาลไทย