X

SIT เล็งหาพาร์ทเนอร์ใช้โดรน “eHANG216” ลุยตลาดท่องเที่ยว คาดกลางปี 2567 เริ่มบินในพื้นที่ส่วนตัว

Last updated: 30 ธ.ค. 2566  |  707 จำนวนผู้เข้าชม  | 

SIT เล็งหาพาร์ทเนอร์ใช้โดรน “eHANG216” ลุยตลาดท่องเที่ยว

สกาย อิมเมจ เทค (SIT) เล็งหาพาร์ทเนอร์ลุยตลาดท่องเที่ยวใช้แพสเซนเจอร์โดรนพลังงานไฟฟ้า “eHANG216” บินข้ามเกาะแทนเรือสปีดโบ๊ท หวังเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวใหม่ๆ คาดกลางปี 2567 เริ่มบินในพื้นที่ส่วนตัว

นายกิตวรุตม์  รวีโชตินิรันดร์ ผู้จัดการทั่วไป  บริษัท สกาย อิมเมจ เทค จำกัด (SIT)  เปิดเผยถึงการนำแพสเซนเจอร์โดรน “eHANG216” มาแนะนำสู่ตลาดในประเทศไทยว่า ในช่วงเริ่มต้นได้มีการวางแผนนำเข้ามาจำหน่ายให้กับผู้สนใจซื้อไปบินเป็นโดรนโดยสารส่วนตัว หรือทำเป็นโดรนแท็กซี่ แต่หลังจากได้ศึกษาหลักเกณฑ์การขออนุญาตการบิน และกฎหมายควบคุมโดรนในประเทศไทยที่ต้องขออนุญาตหลายหน่วยงาน รวมทั้งมีเขตห้ามบินค่อนข้างมาก ทางบริษัทฯจึงหันมาเน้นหาพาร์ทเนอร์มาร่วมพัฒนาธุรกิจในเชิงท่องเที่ยว ขณะนี้กำลังผลักดันให้มีการทดสอบในรูปแบบที่จะพัฒนาในเชิงท่องเที่ยว คือใช้โดรนบินข้ามเกาะ จากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่ง แทนเรือสปีดโบ๊ทที่มักจะกระดอนขึ้นลงตามคลื่น ส่งผลกระทบผู้โดยสารบางคนจนเกิดอาการเมาเรือ


รูปแบบการให้บริการบินโดรนโดยสารข้ามเกาะจะออกมาในแนวเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ชมทิวทัศน์ในมุมสูง ขณะเดียวกันการเดินทางในรูปแบบนี้จะเสถียรกว่าเรือสปีดโบ๊ท สามารถควบคุมเส้นทางและเวลาเดินทางได้แม่นยำ ระยะเวลาที่ใช้บินสั้นกว่า ถึงจุดหมายเร็วกว่า ทั้งยังลดความเสี่ยงในการเดินทาง เพราะก่อนเดินทางจะมีการวางแผนการเดินทางชัดเจน มีการตรวจสภาพอากาศก่อนบิน ถ้าไม่มั่นใจจะไม่มีการนำโดรนขึ้นบิน


“eHANG216 เป็นโดรนโดยสารออโต้ไพล็อต แบบ 2 ที่นั่ง ผู้โดยสารไม่สามารถบังคับเองได้ เมื่อขึ้นไปนั่งแล้วจะมีการแจ้งไปยังศูนย์ควบคุม ทางศูนย์จะวางแผนการบินว่าจะไปบินตรงไหน เส้นทางไหน แวะตรงไหน สามารถออกแบบเส้นทางได้ตามต้องการ จากนั้นจึงกดปุ่มสตาร์ท โดรนก็จะบินตามแผนที่วางเอาไว้ในรูปแบบออโต้ไพล็อต ทำให้มีความเสถียรสูง”

นายกิตวรุตม์ กล่าวว่าโดรนรุ่นนี้ได้ถูกนำไปใช้เป็นโดรนแท็กซี่ในประเทศจีนมาราว ๆ 2 ปี มีการเปิดให้บริการในบางมณฑล ล่าสุดเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2566 ได้มีการผ่านกฎหมายของประเทศจีนให้บินได้แล้ว ต่อไปอาจจะเห็นการบินโดรนโดยสารได้ทั่วประเทศจีน หลาย ๆ ประเทศ อย่างแคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลี หรือสเปน รวมกันกว่า  16 ประเทศ ได้มีการนำโดรนสเปคเดียวกันนี้บินในแถบชานเมือง จนกระทั่งล่าสุดได้มีการบินโดรนโดยสารไปแล้วมากกว่า 5 หมื่นเที่ยวบินทั่วโลก และไม่เคยประสบการปัญหาขัดข้องแม้แต่ครั้งเดียว

อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทย หลังจากได้มีการพยามผลักดันให้มีการอนุญาตบินโดรนโดยสารกันมาพอสมควร ในด้านการทำตลาดนั้น ขณะนี้มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนสนใจ เพราะบางหน่วยงานต้องใช้เฮลิคอปเตอร์บินแทบทุกวัน ซึ่งฮอฯ มีราคาสูงนับร้อยล้านบาท แต่ถ้านำโดรนที่มีราคาลำละ 15 ล้านบาทไปใช้บินแทนในงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้นักบิน อย่างเช่น งานสำรวจพื้นที่ หรือ ถ่ายภาพมุมสูง เพียงแค่ปักหมุดให้โดรนบินไปถ่ายรูปในจุดที่ต้องการ ก็จะช่วยประหยัดงบประมาณได้

“จริงๆ แล้วโดรนโดยสารทำหน้าที่ได้หลายอย่าง อาจจะทำเป็นโดรนดับเพลิง โดรนสำรวจพื้นที่ ทำฝนหลวง ทำข่าว ขนส่งผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล ถ้าเข้าใจการทำงานของมันก็จะทำประโยชน์ได้เยอะมาก ซึ่งตอนนี้เริ่มมีคนสนใจซื้อโดรนของเราไปบินในพื้นที่ส่วนตัว ก็จะสามารถขออนุญาตบินได้ง่ายกว่า”



นายกิตวรุตม์ เปิดเผยว่า ประมาณกลางปี 2567 จะมีการใช้โดรนรุ่นนี้บินจริงในไทย เพราะตอนนี้มีกลุ่มที่เล่นเครื่องบินเล็ก มีการใช้เฮลิคอปเตอร์บินกันอยู่แล้ว เป็นกลุ่มที่มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายการบิน และมีพื้นที่ในการบิน อย่างเช่นกลุ่มเจ้าของสนามบินเครื่องบินเล็กในภาคเหนือ เจ้าของรีสอร์ทริมทะเล และเจ้าของเกาะส่วนตัว มีบางคนสนใจซื้อโดรนจากเราไปใช้บินในพื้นที่ส่วนตัวที่ไม่ได้บินผ่านชุมชน ซึ่งการขออนุญาตก็จะทำได้ง่ายเพราะการบินเป็นออโต้ไพลอตนั้นเป็นการบินในรูทเดิมซ้ำๆ มีความปลอดภัยสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้