X

คาดกระแส EV ดันมูลค่าตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2573 พุ่งสูง 63,500 ล้าน มูลค่าส่งออกสูง 76,800 ล้าน

Last updated: 12 ก.พ. 2567  |  688 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผู้ประกอบการยางรถยนต์ไทย ควรปรับตัวรับกระแส EV โลก “Krungthai COMPASS”

ผู้ประกอบการยางรถยนต์ไทยควรปรับตัวรับกระแส EV “Krungthai COMPASS” คาดมูลค่าตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศปี 2573 พุ่ง 63,500 ล้าน ขณะที่ตลาดส่งออกไป 3 ตลาดหลัก สหรัฐ จีน และออสเตรเลีย มีมูลค่าสูงถึง 76,800 ล้าน

การตื่นตัวต่อประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หนึ่งในสินค้าที่กำลังเป็นเมกะเทรนด์ของโลก คือ รถยนต์ไฟฟ้า Krungthai COMPASS คาดว่าในปี 2575 มูลค่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของโลกจะอยู่ที่ 1,716.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากในปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 255.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 23%CAGR 

การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มยางรถยนต์ ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ในตลาดโลก โดยในปี 2565 ไทยส่งออกยางรถยนต์เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจากจีน อีกทั้งไทยยังมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบจากการเป็นแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญของโลก

คำถามน่าสนใจคือ การเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะส่งผลดีต่อมูลค่ายางรถยนต์ไฟฟ้าของไทยแค่ไหน?

ยางรถยนต์ไฟฟ้ามีจุดเด่นที่เหนือกว่ายางรถยนต์ทั่วไป 4 ด้าน 1.ช่วยลดเสียงรบกวนจากท้องถนน 2.รับน้ำหนักได้มากกว่ายางรถยนต์ปกติ 3.สามารถยึดเกาะถนนได้ดีกว่า 4.ทนทานต่อแรงบิดสูง

ดังนั้น กระบวนการผลิตยางรถยนต์ไฟฟ้าจึงมีความแตกต่างจากผลิตยางรถยนต์ทั่วไป เช่น มีการออกแบบดอกยางให้มีขนาดเล็กกว่ายางรถยนต์ปกติ และมีการจัดวางระยะพิทช์ของยางต่างจากยางรถยนต์ทั่วไป รวมทั้งมีการเพิ่มโฟมหรือแผ่นรองรับเสียงในยางรถยนต์ให้หนาขึ้น

ทำไมผู้ประกอบการยางรถยนต์ไทยควรต่อยอดไปสู่การผลิตยางรถยนต์ไฟฟ้า?

1.ตอบโจทย์เทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมยางรถยนต์ไฟฟ้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากยางรถยนต์ไฟฟ้ามีแรงต้านการหมุนต่ำ จึงสามารถขับขี่ได้ไกลขึ้นโดยใช้พลังงานน้อยลง นอกจากนี้ ยังช่วยลดมลภาวะทางเสียงได้อีกด้วย ทั้งนี้มลภาวะทางเสียงของรถยนต์ส่วนใหญ่เกิดจากการขับเคลื่อนของล้อยางรถยนต์ถึง 50% ดังนั้นยางรถไฟฟ้าจึงเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ช่วยลดมลพิษทางเสียงที่เกิดจากรถยนต์

2.เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ภาครัฐส่งเสริมภาครัฐ เช่น การจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center - ATTRIC) ภาครัฐให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ผู้ประกอบการสินค้ากลุ่มนี้ โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี รวมทั้งภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรที่ใช้การผลิต นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ประกอบการผลิตเพื่อส่งออกจะได้ยกเว้นภาษีอากรการนำวัตถุดิบ เช่น สารเคมีที่ใช้ในการผลิต

3.เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไป เนื่องจากมีจุดเด่นที่เหนือกว่ายางรถยนต์ทั่วไป จึงสามารถตั้งราคาขายได้สูงกว่า คาดว่าผู้ประกอบการกลุ่มยางรถยนต์ไฟฟ้าจะมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปถึง 18% แม้ต้นทุนขายทั้งหมดของยางรถยนต์ไฟฟ้าจะสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปประมาณ 2.1 เท่า แต่ราคาขายยางรถยนต์ไฟฟ้าจะสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปถึง 2.6 เท่า

Krungthai COMPASS คาดว่า ในปี 2573 มูลค่าส่งออกยางรถยนต์ไฟฟ้าไป 3 ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และออสเตรเลีย จะมีมูลค่ารวมกันประมาณ 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ 76,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45%CAGR จากในปี 2565 ที่มีมูลค่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 4,000 ล้านบาท (รูปที่ 1) 

ขณะที่มูลค่าตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศจะอยู่ที่ราว 63,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41%CAGR จากในปี 2565 ที่มีมูลค่าราว 4,100 ล้านบาท (รูปที่ 2)

Krungthai COMPASS มองว่าในระยะแรกผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์จากการขยายตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการยางรถยนต์รายใหญ่จากต่างประเทศที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านเทคโนโลยี ดังนั้นผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยควรร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง (RTEC) คณะวิทยาศาสตร์ เป็นต้น เพื่อให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานซึ่งครอบคลุมไปถึงมาตรฐานความยั่งยืน และตรงตามความต้องการของตลาดได้ง่ายขึ้น

 
ที่มา : Krungthai COMPASS

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้