X

บีโอไอหนุน เม็กเท็ค ขยายลงทุนแผงวงจร PCB รองรับ EV ขยายตัว

Last updated: 29 ต.ค. 2567  |  201 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บีโอไอหนุน “เม็กเท็ค” ขยายลงทุน PCB  รองรับ EV ขยายตัว

บีโอไอ ชี้อุตสาหกรรม PCB ไทย ขึ้นแท่นอุตสาหกรรมมาแรง ดันไทยก้าวสู่การเป็นฐานผลิตของภูมิภาค ล่าสุดอนุมัติ “เม็กเท็ค แมนูแฟ็คเจอริ่ง” ขยายลงทุนผลิต PCB 920 ล้านบาท รองรับความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ EV

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจาก PCB เป็นหัวใจสำคัญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ โทรคมนาคม เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น ด้วยกระแสการย้ายฐานการผลิตและปรับโครงสร้าง Supply Chain ครั้งใหญ่ของโลก ได้ส่งผลให้ผู้ผลิต PCB รายใหญ่จำนวนมาก ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทำให้ปัจจุบันไทยได้ก้าวสู่การเป็นฐานการผลิต PCB อันดับ 1 ของอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก


นับตั้งแต่ปี 2566 การลงทุนในอุตสาหกรรม PCB ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ช่วงเดือนมกราคม 2566 ถึงกันยายน 2567 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB จำนวน 95 โครงการ เป็นเงินลงทุนสูงถึง 162,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงปี 2564 – 2565 ที่มีมูลค่าคำขอเฉลี่ย 15,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของผู้ผลิต PCB ชั้นนำจากจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น คาดว่าจะเกิดการจ้างงานในระยะแรกกว่า 20,000 ตำแหน่ง ใช้วัตถุดิบในประเทศมากกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี และมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้น 7 แสนล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ FPCB มีคุณสมบัติพิเศษสำหรับใช้กับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่โค้งงอให้เข้ากับพื้นที่และรูปทรงที่ซับซ้อนได้ มีข้อดีตรงที่รูปทรงบางและเบา เหมาะสำหรับการใช้งานในผลิตภัณฑ์ที่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และน้ำหนัก ปัจจุบัน FPCB มีการนำไปใช้ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ขนาดเล็กอย่างสมาร์ทคอนแทคเลนส์ ไปจนถึงแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ถือว่าเป็นกลุ่ม PCB ที่มีมูลค่าสูง โดยโครงการของเม็กเท็คที่ได้รับการส่งเสริมใหม่ในครั้งนี้ เป็นการขยายกำลังการผลิต FPCB และ FPCBA รองรับคำสั่งซื้อในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น มีเงินลงทุน 920 ล้านบาท จ้างงานบุคลากรไทยเพิ่ม 260 คน (ปัจจุบันจ้างงานกว่า 3,000 คน) และใช้วัตถุดิบในประเทศเพิ่มอีกกว่า 2,500 ล้านบาทต่อปี


ประเทศไทยได้รับการยอมรับให้เป็นฐานการลงทุน PCB แห่งใหม่ของเอเชีย ในช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมา มีทั้งการขยายการลงทุนของผู้ผลิตรายเดิม เช่น Mektec, KCE และการลงทุนตั้งโรงงานใหม่โดยบริษัทผู้ผลิต PCB ระดับโลกจำนวนมาก เช่น Unimicron, Compeq, WUS, Gold Circuit, Chin Poon, Dynamic Electronics, Apex Circuit, Unitech และ Well Tek

“คาดว่าในช่วง 1 - 2 ปีข้างหน้า จะยังมีผู้ผลิต PCB และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ผลิตวัตถุดิบและชิ้นส่วน เช่น Prepreg และ Copper Clad Laminate รายสำคัญจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยยกระดับ Supply Chain ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น PCB ถือเป็นหัวใจสำคัญของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ การมีฐานการผลิต PCB จะเพิ่มโอกาสการพัฒนาผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ได้หลากหลาย และต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อีกมาก” นายนฤตม์ กล่าว


ด้านนายสมชาย อัศวรุ่งแสงกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เม็กเท็ค แมนูแฟ็คเจอริ่ง คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชนิด FPCB ระดับโลกจากญี่ปุ่น กล่าวว่า เม็กเท็คมีแต้มต่อในการลงทุนอย่างมากจากการได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในหลายโครงการ มูลค่ารวมกว่า 5,800 ล้านบาท โครงการส่วนใหญ่เป็นการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น FPCB, FPCBA เป็นต้น คาดว่าธุรกิจกลุ่ม PCB ในไทยจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากแรงขับเคลื่อนที่มาจากการเติบโตของเทคโนโลยี 5G ความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่อกับ IoT การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ AI ความก้าวหน้าในการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ และอื่น ๆ รวมถึงมาตรการส่งเสริมจากบีโอไอที่เปิดให้การส่งเสริมธุรกิจกลุ่ม PCB แบบครบวงจร ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรม PCB มีโอกาสเติบโตมากขึ้นในอนาคต

เม็กเท็ค มีโรงงานผลิตและสำนักงานขายกระจายอยู่ทั่วโลก โดยได้เข้ามาลงทุนในไทย เพื่อผลิต PCB ชนิดยืดหยุ่น หรือ FPCB ตั้งแต่ปี 2538 ด้วยซัพพลายเซนที่เข้มแข็งในอุตสาหกรรม PCB และนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลไทย ทำให้บริษัทเกิดความเชื่อมั่นในประเทศไทย และเดินหน้าขยายการลงทุนเพิ่ม พร้อมทั้งได้เริ่มลงทุนในกระบวนการผลิตใหม่ ๆ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเส้นลายวงจรขนาดเล็ก (Fine Pitch) และ Battery Management System (BMS) ที่มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นในปี 2568 รวมถึงการพัฒนาระบบ AI และระบบอัตโนมัติต่าง ๆ

“บริษัทฯมีแผนขยายการลงทุนในอีก 3 ปีข้างหน้า เฉลี่ย 300 ล้านบาทต่อปี และการลงทุนเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของโรงงานอีก 200 ล้านบาทต่อปี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเม็กเท็คให้ก้าวสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะ สอดรับกับวิสัยทัศน์ของเม็กเท็คที่ได้วางตำแหน่งขององค์กรในการเป็นผู้สนับสนุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก” นายสมชาย กล่าว


ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้