Last updated: 15 ส.ค. 2566 | 1080 จำนวนผู้เข้าชม |
มรท.ร่วมกับ PEA ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า Solar Rooftop และสถานีชาร์จ EV Charging Station 2 จุด หวังลดพลังงาน และพัฒนาความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการ “Smart University” ในปี 2566
นายวิชัย ศรีขวัญ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ร่วมกับ นายสุรพงศ์ ไชยมงคล ผู้ช่วยผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี “TRU - Solar Rooftop Kickoff” โดยมี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี บุคลากร นักศึกษา รวมถึงผู้บริหารและบุคลากรจาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 (ภาคเหนือ) จ.ลพบุรี และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดลพบุรี ณ ห้องประชุมพระนารายณ์ ชั้น 4 อาคารรัตนเทพสตรี จากนั้นได้เยี่ยมชม 1 ใน 2 จุดติดตั้ง EV Charging Station ที่ลานจอดรถหน้าอาคาร 80 ปีฯ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566
ผศ.ดร.กันยา บาร์นท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี กล่าวในโอกาสเปิดโครงการฯว่า การบริหารจัดการที่ยั่งยืนและการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นอีกพันธกิจที่สำคัญยิ่งของมหาวิทยาลัย ในปี 2566 มหาวิทยาลัยได้กำหนดแผนพัฒนาความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการ “Smart University” ในประเด็นลดพลังงานไว้เป็นแผนงานหลักที่ต้องทำให้บรรลุผลและเป็นประโยชน์ต่อผู้รับบริการมากที่สุด ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างประหยัดด้วยพลังงานทดแทนที่มีอยู่ในธรรมชาติและอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับการบริหารจัดการพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
มหาวิทยาลัยเชื่อมั่นในมาตรฐานและแนวทางในการดำเนินการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ให้การสนับสนุนการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) นับเป็นการยกระดับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเหลือ ให้เกิดการประหยัดพลังงาน เกิดความปลอดภัย รวมถึงสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตามหลักวิชาการและสอดคล้องตามมาตรฐานต่าง ๆ ของกระทรวงพลังงาน อีกทั้งยังปลูกฝังให้นักศึกษาได้ซึมซับการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดอีกทางหนึ่งด้วย
นายสุรพงศ์ ไชยมงคล ผู้ช่วยผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) กล่าวว่า โครงการจัดการพลังงานไฟฟ้าดังกล่าว เป็นการจัดการพลังงานจากระบบ Solar Rooftop แบบครบวงจร โดยมหาวิทยาลัย ไม่ต้องเป็นผู้ลงทุนจัดหาระบบ หากแต่ PEA จะเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ วิเคราะห์การใช้พลังงาน กำหนดมาตรการและแนวทาง สำรวจ ออกแบบและติดตั้งระบบ Solar Rooftop ตลอดจนการลงทุน ซ่อมแซมและบำรุงรักษาระบบ ตลอดระยะเวลา 20 ปี ซึ่งช่วยให้ มหาวิทยาลัย สามารถวางใจได้ว่า ตลอดระยะเวลาของโครงการ จะมีทีมวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการดูแลรักษาตามกรอบเวลาที่เหมาะสม
ปัจจุบัน PEA ได้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า Solar Rooftop เสร็จเรียบร้อยแล้วทั้ง 6 อาคาร ประกอบด้วย อาคาร 24, อาคาร 5, อาคาร 4, อาคาร 3, อาคาร 21 และ อาคาร 22 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 582.3 กิโลวัตต์สูงสุด พร้อมทั้งยังได้ติดตั้ง Station Charger EV อีกจำนวน 2 จุดบริการ ซึ่งแต่ละเดือนทางมหาวิทยาลัย จะได้ใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากระบบ Solar Rooftop นอกจากจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า เสริมความมั่นคงทางพลังงานภายในมหาวิทยาลัยแล้ว ยังสอดคล้องกับนโยบายของ PEA ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้กับภาครัฐอีกด้วย
“PEA มุ่งเน้นนำระบบดิจิทัลมาสนับสนุนศักยภาพด้านพลังงาน โครงการนี้ PEA มีระบบติดตามผลการผลิตไฟฟ้า หรือ Monitoring System ที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัย สามารถติดตาม และอ่านค่าหน่วยการผลิตไฟฟ้าจากระบบ Solar Rooftop ได้แบบ Real-time ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถกำหนดนโยบายและเป้าหมายการลดใช้ไฟฟ้าได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ”