Last updated: 2 Nov 2023 | 694 Views |
นายกฯเศรษฐาประกาศกลางงาน FIC 2023 ท่ามกลางนักลงทุนไทย-เทศ ว่าไทยจะเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่อุตฯเป้าหมาย ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การเปลี่ยนอุตฯยานยนต์ให้เป็นอุตฯ EV ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ฯลฯ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมนายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ ประธานจัดงานและรองประธาน ส.อ.ท. จัดงาน Foreign Industrial Club (FIC) 2023 : Reforming Thailand เวทีแห่งแรกของประเทศไทยในการพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม การค้า และการลงทุนระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนไทย ผู้ประกอบการและบริษัทต่างชาติรายใหญ่ที่ลงทุนในประเทศไทย หวังสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ ตอกย้ำความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก
ภายในงานได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Reformation of Thai Economy Amidst Polycrisis: การปฏิรูปเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤตรอบด้าน” โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน สถานทูตประจำประเทศไทยและนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ในประเทศไทยเข้าร่วมงานกว่า 300 ราย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “ท่ามกลางความท้าทายระดับโลก เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยจำเป็นต้องรีบเร่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและกำหนดทิศทางที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมและยั่งยืน รวมทั้งจำเป็นต้องส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและสร้างความได้เปรียบ โดยบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมูลค่าสูง”
เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของโลก รัฐบาลไทยกำลังเดินหน้ายกระดับภาคเกษตรกรรมไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูง การเปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและเกิดความยั่งยืน การเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตลอดห่วงโซ่อุปทาน การขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน การดำเนินยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นประตูยุทธศาสตร์สำคัญด้านการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ในภูมิภาค การเร่งพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัล ตลอดจนการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังเน้นผลักดันนโยบายและมาตรการการลงทุน การเตรียมความพร้อมของรัฐเพื่อรองรับการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการที่เป็นประโยชน์เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการลงทุน ตลอดจนการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรม
“เราพร้อมเปิดรับและร่วมมือกับภาคเอกชนและนักลงทุน ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจใหม่โดยมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ยานพาหนะไฟฟ้า (EV) ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E) อุตสาหกรรมดิจิทัล สร้างสรรค์ และบริการที่มีมูลค่าสูง” ฯพณฯ เศรษฐา กล่าว
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจาก Polycrisis ที่เข้ามารุมล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Digital Transformation) สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยี (Trade War & Tech War) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (Recession) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งที่ผ่านมาภาคธุรกิจพยายามปรับตัวเพื่อก้าวข้ามความท้าทายและความอยู่รอดด้วยการปรับเปลี่ยน Business Model
“วันนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ได้มุ่งเน้นที่จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม โดยมีการแบ่งอุตสาหกรรมออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 First Industries คือ อุตสาหกรรมเดิมที่ประกอบด้วย 46 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Disruption Technology) ทำให้ต้องเร่งส่งเสริมเพื่อให้เกิดปรับตัวให้สามารถรักษาศักยภาพของอุตสาหกรรม
และกลุ่มที่ 2 Next-GEN Industries อุตสาหกรรมใหม่ ประกอบด้วย 1) การส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (High Technology) เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมดิจิทัล 2) การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วย BCG Model ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล มีการใช้เทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) และเทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) ในระบบการผลิต
และ 3) การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคอุตสาหกรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งถือเป็นเมกะเทรนด์ของโลกที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทย และกรอบการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย”
ด้วยนโยบายดังกล่าว ประเทศไทยพร้อมเดินหน้าพัฒนา Supply Chain โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงด้านแรงงาน และบุคลากรที่มีทักษะสูงที่เพียงพอ เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นหมุดหมายปลายทางที่โดดเด่น พร้อมรองรับการย้ายฐานการผลิต และการลงทุนของต่างชาติ
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการให้สิทธิประโยชน์จากการตั้งฐานการผลิตในไทย ส่งผลให้ภาพรวมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อไทย เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต
ปัจจุบันรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการหาตลาดใหม่ๆ เปิดโอกาสในการค้า โดยการเร่งผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา และเปิดเจรจา FTA ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันส่งออกของไทย
“ภายใต้นโยบาย ONE FTI ของ ส.อ.ท. ที่เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการค้าและการลงทุนในประเทศไทย จึงได้จัดตั้ง Foreign Industrial Club (FIC) ขึ้น เพื่อเป็นเวทีให้ภาคเอกชน ภาครัฐ คณะทูต และนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในประเทศไทย สามารถพบปะหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการทำธุรกิจและเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนและเศรษฐกิจของไทย โดยคาดหวังว่าเวที FIC แห่งนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การลงทุนใหม่ๆ และขยายการลงทุนเดิมของภาคอุตสาหกรรมไทย”
“งานในวันนี้ จะสร้างโอกาสและส่งเสริมการลงทุน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ส.อ.ท.ที่เน้น “การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม” และ ส.อ.ท. พร้อมเดินหน้าดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย ONE FTI, ONE Thailand, ONE Global ร่วมกันต่อไป” นายเกรียงไกร กล่าว
ด้านนายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ ประธานจัดงาน Foreign Industrial Club และรองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า “เส้นทางของประเทศไทยสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคนั้นไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หากมีการบูรณาการการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ การพัฒนาแรงงานที่มีทักษะ นโยบายที่มีวิสัยทัศน์แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมและการลงทุนจากต่างประเทศ และความมุ่งมั่นของประเทศในการส่งเสริมนวัตกรรม เทคโนโลยี และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นหมุดหมายที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนและนักธุรกิจต่างประเทศ”
การลงทุนจากต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยอย่างมาก โดยนำเงินทุนที่จำเป็นเข้าสู่ภาคการผลิต ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ เหล่านี้จะส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างงาน การพัฒนาทักษะ และการแบ่งปันความรู้ระหว่างแรงงานไทย ซึ่งความร่วมมือระหว่างนักลงทุนต่างชาติและในประเทศได้เสริมความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทาน และจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมไทย อีกทั้งการผสมผสานระหว่างความเชี่ยวชาญระดับโลกและระดับประเทศ ได้ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมและการผลิต
“เรามีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มโอกาสในการสร้างเครือข่ายระหว่างนักธุรกิจชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนของประเทศไทย การจัดตั้ง Foreign Industrial Club หรือ FIC นี้ได้เปิดโอกาสให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และนักลงทุนต่างชาติ ได้หารือเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านอุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน เพื่อสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่ง
ตลอดจนเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ FIC จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และอำนวยความสะดวกในประสานงานระหว่างหน่วยงานไทยและต่างประเทศ” นายวิเชาวน์ กล่าว
อีกหนึ่งไฮไลท์ของงานในวันนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เข้าพบ ฯพณฯ เศรษฐา ทวีสิน เพื่อหารือความร่วมมือและผลักดันแนวทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทย และฯพณฯ เศรษฐา ได้ฝากการบ้านขอให้ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดทำ Action Plan ที่เป็นแนวทางการการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ซึ่งขณะนี้ Action Plan ได้เสร็จเป็นที่เรียบร้อยและพร้อมส่ง ฯพณฯ เศรษฐา ภายในงาน
ที่มา : สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย