X

กูรูชี้ไทยเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นฮับ EV ได้ถ้าเปลี่ยน MINDSET เร่งทำแบบนักบุกเบิก เน้นสร้างคนจากประสบการณ์จริง

Last updated: 26 Sep 2023  |  1194 Views  | 

กูรูชี้ไทยเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นฮับ EV ได้ถ้าเปลี่ยน MINDSET เร่งทำแบบนักบุกเบิก เน้นสร้างคนจากประสบการณ์จริง

กูรูชี้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นฮับ EV ได้ถ้าเปลี่ยน MIND SET มองเห็นโอกาสเหมือนเป็นยุคบุกเบิกของ EV และเน้นสร้างคนจากประสบการณ์จริง โจทย์จริง ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า...ก่อนจะถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลัง

นี่คือบทสรุปจากการจัดเสวนาเชิงลึกในหัวข้อ : Closing the Skills Gap in Thailand : Shifting Gears to Electric Vehicles ซึ่งจัดโดย แดสสอลท์ซิสเต็มส์ และ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่ง “ev-roads” บันทึกมุมมองของกูรูแต่ละท่านมาลงให้อ่านกันแบบเจาะลึก...


วิทยากรที่เข้าร่วมเสวนา Closing the Skills Gap in Thailand : Shifting Gears to Electric Vehicles

ความท้าทายและโอกาสของประเทศไทยช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคเครื่องยนต์สันดาปสู่ฮับ EV

ปัจจุบันประเทศไทยครองอันดับ 1 ของการผลิตยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นอันดับ 10 ของโลก ด้วยกำลังผลิตรวม 1,883,515 คันในปี 2022

ทว่าด้วยปัญหาสภาวโลกร้อน ส่งผลให้ในการประชุม COP21 ในปี ค.ศ. 2015 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้เกิดข้อตกลง Paris Agreement ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการควบคุมการเพิ่มของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 °C โดยตั้งเป้าหมายสูงสุดไว้ไม่เกิน 1.5 °C ต่อมาในปี 2021 ประเทศไทยได้ประกาศตั้งเป้าหมายเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065

การมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยมีนโยบาย 30@30 มีการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ.2573

สถานการณ์ล่าสุดประเทศไทยมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนเพิ่มขึ้นจาก 2 หมื่นกว่าคันในปี 2522 เป็น 53,706 คัน ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมของปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเกือบ 300% ทำให้มีการประเมินว่าการมุ่งไปสู่ 30@30 จะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ความสำเร็จที่มีแนวโน้มประสบความสำเร็จมาจากความตื่นตัวและการตอบรับยานยนต์ไฟฟ้าของคนไทย และการที่ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนอย่างชัดเจน ดังนั้นการที่ประเทศไทยมีอัตราการใช้รถ EV มากเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน ย่อมเป็นสัญญานบ่งชี้ถึงความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ในระดับหนึ่ง

สภาวการเช่นนี้ เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปภายใน Internal Combustion Engine (ICE) ไปสู่ยานยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle (EV)

อย่างไรก็ตามการเติบโตอย่างก้าวกระโดดที่ผ่านมา ยังมีความจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนการเติบโตให้พัฒนาไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องสู่การเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN EV hub) นั้น ได้กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายของวงการยานยนต์ไทย

ความขาดแคลนบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้า...โจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข

“ตลอดเวลาที่ผ่านมา ถึงแม้ประเทศไทยจะมีการปรับเทคโนโลยีต่างๆ ก้าวสู่ความทันสมัยของโลกที่เปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งที่อุตสาหกรรมนี้ยังขาดแคลนคือบุคลกรที่มีความเชี่ยวชาญในสายงานโดยตรง โดยเฉพาะทางด้านซอฟแวร์เอ็นจิเนียริ่ง และทักษะด้านดิจิทัล ถ้าหากขาด Work Force ที่มีความชำนาญเฉพาะทาง ย่อมทำให้เกิดช่องว่าง คือขาดบุคลากรที่จะนำพาสิ่งที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายเอาไว้ให้กับประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน” ทิน โชคกมลกิจ พิธีกรผู้ดำเนินรายการกล่าวถึงหมุดหมายของการจัดเสวนาครั้งนี้

ทั้งนี้การจะคงความเป็น Hub อันดับ 1 ของการผลิตรถยนต์ในอาเซียนเอาไว้อย่างเดิมนั้น สิ่งที่ตามมาไม่ใช่แค่การเพิ่มปริมาณของยานยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องความยั่งยืนของความกินดีอยู่ดีของคนไทย และงานที่ต้องเตรียมไว้ให้กับลูกหลานในอนาคต ตรงนี้เป็นเป้าหมายที่สำคัญในมุมมองของผศ.ดร.อุเทน สุปัตติ อุปนายกฝ่ายการศึกษา และการพัฒนาบุคลากร สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ที่ได้แสดงความคิดเห็นต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า

“การเติบโตที่ดีของยานยนต์ไฟฟ้าไทยเป็นผลมาจากนโยบายรัฐที่ชัดเจนในการสร้างดีมานด์ คนไทยให้ความสำคัญกับยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจัยด้านราคาน้ำมัน และในเรื่องของรายได้ของคนไทยที่มีกำลังซื้อต้องการสนับสนุนเรื่องนี้ ทั้งหมดเป็นทิศทางที่ดี เชื่อว่าประเทศไทยจะทำได้ดีในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน และเชื่อว่าโอกาสที่จะทำให้เป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 10 ของโลก เหมือนยานยนต์สันดาปนั้นมีความเป็นไปได้”

เพียงแต่การจะทำให้ประสบความสำเร็จนั้น ต้องมีการเตรียมบุคลากรให้พร้อม ทั้งนี้เพราะอุตสาหกรรม EV เดินเองไม่ได้ถ้าไม่มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านนี้ ขณะนี้ประเทศไทยกำลังโฟกัสว่าจะเป็นฐานการผลิตอย่างเดียวไม่พอ ควรต้องมีการวิจัยและพัฒนา (R&D) ด้วย จึงทำให้ต้องมีการเตรียมบุคลากรให้พร้อม เพราะนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ต้องพิจารณาดูว่าปัจจุบันบุคลากรมีความพร้อมไหม?

ทุกภาคส่วนต้องเร่งผลักดันให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรม EV

จุดเด่นของยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนรถยนต์ไฟฟ้าล้วน (BEV) คือความเป็นยานพาหนะที่ปลอดมลพิษ แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกันก็คือเทคโนโลยีใหม่อันทันสมัยที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตที่ต้องมีการสื่อสารอยู่ตลอดเวลา ทำให้ยานยนต์สมัยใหม่เต็มไปด้วยโปรแกรมอัจฉริยะต่างๆ มากมาย

ผศ.ดร.กิตต์ชนน เรืองจิรกิตต์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้อธิบายถึงเทคโนโลยีการเดินทางของยานยนต์ในอนาคต (Next Genneration Mobility) จะเป็นยานพาหนะสมัยใหม่ที่มาในคอนเส็ปท์ของ C A S E 

“C หมายถึง Connect vehicle ยานยนต์มีการเชื่อมโยงสื่อสารกัน มีการพูดคุยกันมากขึ้นระหว่างยานยนต์ด้วยกันเอง พูดคุยกันมากขึ้นระหว่างยานยนต์กับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการพูดคุยกันระหว่างอินฟราสตรัคเจอร์กับคนเพื่อให้มีความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น”

“A คือ Automatic vehicle การขับขี่ยานยนต์อัตโนมัติ ปัจจุบันเริ่มมีรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง สำหรับรถยนต์ปกติที่ใช้งานกันอยู่ในขณะนี้อยู่ในเลเวล 2 และ 3 จากปกติมีดัวยกัน 5 เลเวล ซึ่งระดับ 5 คือสูงสุดต่อไปในอนาคตไม่ต้องมีคนขับ ส่วน S คือการใช้ยานยนต์ร่วมกัน (Share Mobility) เป็นธุรกิจที่เกิดใหม่ และเป็นรูปแบบที่จะเห็นมากขึ้น จะเห็นว่ามีการเช่ารถจากบุคคลทั่วไปมากขึ้น สุดท้ายคือในเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle”

อย่างไรก็ตาม Next Generation ยังมีความเกี่ยวพันกับหลายภาคส่วน ทั้งในด้านภาครัฐ ต้องมีนโยบายมาผลักดันให้เกิดขึ้นจริง มีการออกกฎระเบียบควบคุมให้มีความปลอดภัย และเป็นประโยชน์กับผู้ใช้งาน ด้านการศึกษาต้องพยายามตามให้ทันเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมพร้อมบุคลากรที่จะไปรองรับส่วนต่างๆ  เหล่านี้

การที่จะมีบุคลากรก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงได้นั้น การทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในส่วนของผู้ผลิตเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หลักสูตรในปัจจุบันต้องปรับเปลี่ยนให้มีการนำเอาปัญหาจริงในอุตสาหกรรมมาให้นักศึกษาได้เรียนรู้ก่อนที่จะเจอโจทย์จริงในการทำงาน การศึกษาในรูปแบบนี้จะทำให้ได้นักศึกษาที่มีคุณสมบัติตรงความต้องการของผู้ประกอบการ และตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

การก้าวผ่านจากยานยนต์สันดาปภายในสู่ยานยนต์ไฟฟ้า

ปฏิเสธมิได้ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีจุดเด่นอยู่ที่มีรากฐานอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่แข็งแกร่ง มีกำลังการผลิตและส่งออกเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับ 10 ของโลก เมื่อรัฐบาลได้ผลักดันกระแส EV ให้เป็นหมุดหมายสำคัญการในพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต การจะเปลี่ยนผ่านจาก ICE ไปสู่ EV ต้องมีการดำเนินการให้ทันกับสถานการณ์ยานยนต์โลก

“การจะทำอย่างไรให้เทคโนโลยี ICE ก้าวผ่านไปสู่ EV นั้นต้องทำทั้ง 3 ด้านพร้อม ๆ กัน นั่นคือการส่งเสริมให้มีการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าล้วน (Pure EV) การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ICE เปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า EV และ HEV ขณะเดียวกันต้องสนับสนุนให้มีการดัดแปลงรถเครื่องยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบ BIY/DIY มีทั้งการนำไปปรับเปลี่ยนที่อู่ และสามารถทำเองได้” มร.ฉี ฮ๊าว หวง หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคล ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เดลต้า อิเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นำเสนอแนวทางพร้อมทั้งอธิบายต่อไปว่า

“การเปลี่ยนผ่านทั้ง 3 แนวทางมีวิธีการแตกต่างกันออกไป แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใด ผู้นำต้องมี Vision ในการผลักดันประเทศเปรียบเสมือนบริษัท ซีอีโอ หรือเจ้าของบริษัทจะนำพาไปอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง ถ้ามีการซัพพอร์ตตรงนี้ย่อมสามารถทำได้  เพียงแต่ว่าผู้นำต้องมี Mindset ในการนำพาองค์กร หรือประเทศไปข้างหน้า”

“ไทยมีรากฐานของ ICE ชัดเจนอยู่แล้ว แต่จะก้าวอย่างไร ผู้นำมีบทบาทสำคัญที่จะมองเห็นภาพ และผลักดันไปได้ ถ้าไม่มีการเร่งเครื่องในการเปลี่ยนผ่าน การเป็น Hub EV อาจจะใช้เวลาจากนี้ไปมากกว่า 3-4 เท่า ซึ่งประเทศไทยไม่มีเวลามารอ เพราะประเทศอื่นอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย กำลังเร่งเครื่องของเขา เพียงแต่เขายังตามหลังไทยเราอยู่นิดนึง เพราะไทยเรายังเป็นผู้นำในเรื่องของ ICE แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เขาแซงเราแน่นอน แต่จะเร่งเครื่องอย่างไรในการเดินไปข้างหน้า บุคลากรมีบทบาทสำคัญมาก”

ส่องการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน

ผศ.ดร.กิตต์ชนน เรืองจิรกิตต์ ได้อัพเดทการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันว่า ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการผลิตยานยนต์สันดาปภายใน การที่ภาครัฐส่งเสริมให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยสนับสนุนวงเงินสูงสุด 150,000 บาท มีทั้งลดภาษีสรรพสามิตนำเข้านั้น ทำให้มีจำนวนรถ EV เพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า บีโอไอได้อนุมัติโครงการขับเคลื่อนอุตสาหกรมยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 23 โปรเจ็กต์ มี 14 โปรเจ็กต์ให้การสนับสนุนรถยนต์แบตเตอรี่ EV ที่เหลือการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฮบริด 6 โปรเจ็กต์ และปลั๊กอินไฮบริดอีก 6 โปรเจ็กต์ และอีก 2 โครงการเป็นรถบัสไฟฟ้า

“ถ้าทุกโครงการ EV ดำเนินการผลิตอย่างเต็มที่ ประเทศไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ 790,000 คัน ดังนั้นภาพที่จะได้จากเป้าหมายในปี 2030 คงไม่ได้ไกลมากนัก มีความเป็นไปได้ และตั้งแต่ปลายปีนี้ผลของการสนับสนุนของภาครัฐจะเริ่มออกดอกออกผล บริษัทที่เซ็นเอ็มโอยูกับภาครัฐจะต้องเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย”

“เมื่อต้องเริ่มผลิต ย่อมจะต้องใช้บุคลากร ต้องมีแรงงานฝีมือ มีคุณภาพ ผลจากตรงนี้ทำให้มีความต้องการคนที่มีศักยภาพสูงมากขึ้นทันทีตั้งแต่ต้นปีหน้า โดยมีความต้องการกำลังคนด้านวิศวกร ระดับปริญญาตรีกว่า 40,000 คน ดังนั้นเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้อง “ทำงานร่วมกัน” ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรในอุตสาหกรรม ICE เดิมจะทำอย่างไร คนเหล่านั้นมีความเชี่ยวชาญทางด้านเครื่องยนต์สันดาปกว่า 80% จะทำอย่างไรกับคนกลุ่มนี้

ส่วนของคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในอุตสาหกรรมจะทำอย่างไร ที่สำคัญประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เด็กเกิดใหม่น้อย ตรงนี้มีความท้าทายว่าจะบริหารจัดการอย่างไร”

การเสริมศักยภาพบุคลากรคือวาระเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ

ทั้งนี้ การจะเพิ่มบุคลากรทางด้านยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วนต้องมีการเสริมศักยภาพให้มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ โดย มร.เบนจามิน ตัน ผู้อำนวยการฝ่ายขาย Customer Role Experience ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใต้ แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านซอฟท์แวร์ระดับโลก ได้แสดงความคิดว่ามีด้วยกันสามส่วนคือ

1. Future Workforce  ให้ความสำคัญกับบุคลากรในอนาคต ที่มาจากนักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นต้นน้ำของการที่เติมเข้าไปให้กับนักศึกษาเหล่านี้ ได้มีสกิลต่างๆ ที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับการสร้างโปรแกรมต่างๆ ให้นักศึกษาได้ใช้ ได้เรียนรู้ ได้มีประสบการณ์ตรง

2. Industry Skills Enablement  เป็นบุคลการที่อยู่ในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว จะสามารถเพิ่มศักยภาพได้อย่างไร ในการอัพสกิล หรือ รีสกิล เป็นอีกโปรแกรมที่จะไปเสริมศักยภาพให้กับคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว

ทั้งสองส่วนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างส่วนที่ 3 Experience Centre ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ทั้งนี้การเรียนทฤษฎีอาจจะเรียนในห้องเรียนสถานศึกษาต่างๆ แต่สุดท้ายต้องมีประสบการณ์ ต้องสัมผัสจริง ลงมือทำเองจริง เห็นจริง ซึ่ง แดสสอลท์ มีความเชี่ยวชาญในการสร้างโปรแกรมให้บุคลากรที่ต้องลงมือทำจริง ได้ทดสอบจริง เพื่อการเรียนรู้จริง เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดอย่างแท้จริง

ความเชี่ยวชาญในเครื่องยนต์สันดาปมีประโยชน์อย่างไรในการก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม EV

ในส่วนของการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม ICE สู่ EV นั้น “ผศ.ดร.อุเทน” มีความเห็นว่าการที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์สันดาปภายในมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 50 ปี ทำให้มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และมีทักษะในการผลิตได้อยู่แล้ว อีกทั้งผู้ประกอบการไทย มีเครื่องจักรพร้อมอยู่แล้ว เพียงแต่การก้าวผ่านจาก ICE ไปเป็น EV ไม่สามารถทำได้ทันที อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจะมีรถกลุ่มทรานซิชั่นจากสันดาปเป็นรถไฮบริด หรือปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งเป็นรถเครื่องยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้าทำงานร่วมกัน

ดังนั้นผู้ประกอบการส่วนนี้สามารถปรับปรุงเครื่องจักรเดิมที่มีอยู่ให้สอดรับกับการผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับ EV ได้ ซึ่งบุคลากรที่มีทักษะเครื่องยนต์สันดาปนั้นสามารถรีสกิล หรืออัพสกิลขึ้นมาได้ เพื่อแต่ต้องมีองค์ความรู้ และมีความพร้อมเพียงพอที่จะผลิตชิ้นส่วนที่มีมูลค่าสูงขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น

ทั้งนี้ การเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปเป็นไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริดนั้นเครื่องยนต์ยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าจะมีมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาทำงานร่วมด้วย และในอนาคตพอเปลี่ยนเป็น BEV ส่วนของเครื่องยนต์จะหายไป หากเปรียบเทียบดูผู้ประกอบการสามารถปรับเปลี่ยนสิ่งที่เดิมเคยผลิตอยู่แล้ว จะมีผู้ผลิตบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ หลักๆ คือเครื่องยนต์ ถังน้ำมัน และระบบที่เกี่ยวข้อกับไอเสียทั้งหมดจะหายไป แต่ก็ยังสามารถเอาความเชี่ยวชาญเดิมไปทำธุรกิจใหม่ที่เป็นตัวมอเตอร์ หรือชุดเกียร์ได้ อาจจะเปลี่ยนไปทำธุรกิจใหม่เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

ส่วนของการดัดแปลงรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า “มร.ฉี ฮ๊าว หวง” กล่าวว่าผู้นำองค์กรต้องมี Mindset หรือมีแนวคิดล้ำไปข้างหน้าก่อน รถอีวีเหมือนกับโทรศัพท์มือถือกับพีซีมารวมกัน เพราะคอมพิวเตอร์พีซีสามารถเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์ได้ เพิ่มแลมป์ได้ เปลี่ยนจอได้ อันนี้คือฮาร์ดแวร์ ส่วนสมาร์ทโฟนคือการอัพเดทซอฟท์แวร์

“ผู้บริหารต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน ถ้าเข้าใจได้ก็สามารถที่จะเร่งเครื่องให้ก้าวข้ามจาก ICE ไปเป็น EV ได้ง่ายขึ้นรวดเร็วขึ้น โดยกฎระเบียบ และนโยบายต่างๆ ต้องสามารถดิ้นได้ สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้เร็วขึ้นได้ ไม่ใช่ยึดแนวทางเดิม ไม่สามารถที่จะขยับได้ ต้องมีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยน ตรงนี้ต้องเริ่มจาก Mindset”

ความท้าทายและโอกาสในการเปลี่ยนผ่านเครื่องยนต์สันดาปสู่ EV

ด้านของกำลังคน ผศ.ดร.อุเทน กล่าวว่าประเทศไทยในปี 2011-12 มีรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 1-2 ยี่ห้อ ปัจจุบันมีให้เลือกมากถึง 20 กว่ายี่ห้อ  เกือบ 40 โมเดล เห็นได้ว่ามีการเติบโตและพัฒนาเร็วมาก การที่ไทยมีความเข้มแข็งในด้านเครื่องยนต์สันดาป เมื่อมีการปรับเปลี่ยนสู่ EV เทคโนโลยีซอฟท์แวร์เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเพิ่มเข้ามา

ถ้าไทยเราจะเป็น Regional Hub ต้องมีคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล ด้านสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ด้านของอาร์แอนด์ดีเซ็นเตอร์ควรจะต้องมี นโยบายภาครัฐต้องมีความชัดเจน เรื่องการซัพพอร์ตจากภาครัฐควรต้องมีอยู่แล้ว และเรื่องของ Decoration ที่เป็นประโยชน์ควรต้องมี

นอกเหนือจากนั้นก็คือการเตรียมบุคลากรที่มีองค์ความรู้ด้านซอฟท์แวร์ ด้านดิจิทัล สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เรื่องของซอฟท์พาวเวอร์ต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ความแตกต่างของรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละรุ่นแต่ละแบรนด์ เมื่อนำไปชาร์จกับเครื่องชาร์จ ย่อมมีความต้องการแรงดันไฟฟ้าต่างกัน ใครจะเป็นคนบอกว่ารถแต่ละคันควรจะปล่อยกระแสกี่โวลต์ ความแตกต่างตรงนี้ต้องมีซอฟท์แวร์หรือมันสมองที่จะคุยกันระหว่างชาร์จเจอร์กับรถ EV ดังนั้นเรื่องของเทคโนโลยีด้านมันสมองจำเป็นต้องมี และควรจะต้องเติมเต็มให้กับบุคลากรในส่วนที่เราขาดอยู่

 

ผศ.ดร.กิตต์ชนน กล่าวว่าเรื่องของเดดเจนเนอเรชั่นมูนิตี้เป็นโอกาส ดังนั้นถ้าไม่ทำอะไรเราตกขบวนแน่นอน การจะก้าวให้ทันต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ภาครัฐต้องมีนโยบายสนับสนุน มีการกำหนดมาตรฐานให้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าปลอดภัย และการมีการให้เงินสนับสนุน ส่วนผู้ประกอบการต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ราคาถูกลง จะเห็นได้ว่าจากเดิมรถอีวีเคยมีราคาสูงกว่า 1 ล้านบาท ปัจจุบันมีราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น

ภาคประชาสังคมเองต้องมีการสร้างองค์ความรู้ สร้างความตระหนักว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาลดมลพิษในภาคการขนส่งให้ลดลงได้อย่างไร ขณะเดียวกันภาคการศึกษาเองต้องมีการปรับหลักสูตรต่าง ๆให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงได้ไวมากขึ้น มีการพัฒนาบุคลากรให้มีสกิลต่างๆที่ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง เน้นในเรื่องของการทำการวิจัยและพัฒนา

สิ่งที่เจอและเป็นความท้ายทายคือเรื่องของคน ทำอย่างไรให้สามารถผลิต EV ได้ ในกระบวนการสร้างพอทำได้ แต่เมื่อให้ดีไซน์ออกมามักทำไม่เป็น ไม่มีองค์ความรู้ในการออกแบบ เรื่องที่ยังขาดคือดิจิทัล ดิฟเฟอเรนซี่ ปัจจุบันในมุมของวิศวกรรมเราใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยในการออกแบบมากขึ้น

“เราไม่สามารถผลิตรถขึ้นมาหนึ่งคัน เอาไปทดสอบแล้วพบว่าไม่สามารถทำงานได้แล้วนำกลับมารีดีไซน์ใหม่ ผลิตใหม่ เราต้องใช้ซอฟท์แวร์เข้ามาช่วยในการที่จะออกแบบ และประเมิน”

มร.ฉี ฮ๊าว หวง  ให้ความสำคัญในเรื่องของการมีไมนด์เซ็ทที่จะนำให้ประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรม EV ได้อย่างเต็มภาคภูมิ และจะต้องไม่ไปโฟกัสในเรื่องของเทคโนโลยีอย่างเดียว โดยต้องให้ความสำคัญ 4 ด้าน ประกอบด้วย เทคโนโลยี บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งในด้านการทำงานเป็นทีมเวิร์ค ด้านมนุษย์สัมพันธ์ ฯลฯ เรื่องการทำงานคู่กับ AI คนที่จะทำได้ต้องมีความเข้าใจ AI ก่อน และส่วนที่สำคัญที่สุดคือต้องมีความยั่งยืน

 

มร.เบญจามิน ตัน กล่าวว่าความท้าทายคือเรื่องของคน ในการที่จะทำให้มีไมนด์เซ็ทในการที่เข้ากับอุตสาหกรรม EV โอกาสในวงการนี้เป็นของทุกคน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่จะให้พื้นที่ความคิดสร้างสรรค์ในมุมมองต่างๆ ส่วนของบุคลากรที่มีอยู่เดิมอาจจะคุ้นเคยกับ ICE มาโดยตลอด อย่ามองว่าเป็นทางตัน ให้มองว่าเป็นโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ เพื่ออัพสกิลหรือรีสกิลคนที่อยู่ในวงการให้สามารถพัฒนาตัวเองมาเติมเต็มสิ่งที่ขาดไป

“ตอนนี้ยังมีโอกาสสำหรับประเทศไทยในการเป็นผู้ทำในยุคบุกเบิกของรถ EV ถ้ามี MINDSET ว่ายังเป็นยุคบุกเบิกสามารถที่เข้ามาแล้วปรับตัวเองให้เร็วที่สุดก่อนคนอื่น เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก อันนี้คือความท้าทายอย่างหนึ่งที่ผู้บริหารหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องมองเห็นก่อน และผลักดันนโยบายต่างๆ ไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน”

การวิจัยและพัฒนามีความสำคัญอย่างไรต่อยานยนต์ไฟฟ้า

มร.ไซมอน กล่าวว่ายุคปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์จะแบ่งออกเป็นเทียร์ต่าง ๆ เริ่มต้นที่ OEM คือรถที่ผลิตจากโรงงานอย่างรถเบนซ์  บีเอ็ม ฯลฯ และจะมีซัพพลายเออร์ที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับรถที่ผลิตจากโรงงาน คือกลุ่มเทียร์ 1 ส่วนเทียร์ที่ 2 คือที่เป็นซัพพลายเออร์ให้กับเทียร์ 1เช่น ผู้ผลิตสี หรือชิปอะไรต่างๆ

ถ้าเป็นอุตสาหกรรม OEM หรือเป็นซัพพลายเออร์ เทียร์ 1 หรือ 2 ก็จะมีบิสซิเนสโมเดลที่แตกต่างกันไป ส่วนที่เป็นสีแดง (ภาพจากกราฟ AUTOMOTIVE INDUSTRY) คือสิ่งที่ต้องมีในยานยนต์ไฟฟ้า หมายถึงสกิล หรือความสามารถต่างๆ จะต้องมี ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาในส่วนที่เป็นไฮไลท์สีแดงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง อย่างเช่น ถ้าเป็น OEM ต้องมี User Experience Professionals คือต้องมีคนวิจัยและพัฒนาในส่วนของคนใช้งานจริง ต้องมีคนมาทำรีเสิร์ทตรงนี้ รวมถึงการ Simulation Professionals คือการจำลองเหตุการณ์ ไม่ใช่แค่เอารถไปจำลองการชน แต่เป็นการจำลองเหตุการณ์ว่าเข้าไปนั่งในรถแล้วรู้สึกอย่างไร ต้องมีการรีเสิร์ท บุคลากรที่ขาดในวงการ EV ก็จะเป็นกลุ่มคนเหล่านี้

ยกตัวอย่างเทียร์ 2 Material Science Professionals คือ วัตถุดิบ หรือวัสดุที่นำมาใช้ อาจจะเป็นสี หรือวัสดุที่เอามาทำแบตเตอรี่ ต้องมีการวิจัยและพัฒนา สกิลเหล่านี้ต้องมีการวิจัยและพัฒนา มีความสำคัญสำหรับ AUTOMOTIVE ที่เป็น EV INDUSTRY

ผศ.ดร.กิตต์ชนน กล่าวว่าชิ้นส่วนต่างๆ ของยานยนต์ไฟฟ้า มีโอกาสให้ทำงานวิจัยพัฒนาได้อีกมาก ปัจจุบันจะเห็นการวิจัยและพัฒนาในเรื่องของแบตเตอรี่มีเยอะมาก ถ้าแบตเตอรี่ชนิดไหนจุพลังงานได้มาก น้ำหนักเบา ลูกเล็ก ๆ ก็จะมีอนาคต แน่นอน เพราะเป็นงานวิจัยที่ฮอตท็อปปิค

นอกจากนั้นในเรื่องของมอเตอร์ จะทำอย่างไรให้มีขนาดเล็กลง มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น พลังสูงขึ้น สามารถขับเคลื่อนการทำงานของรถให้มีสมรรถนะที่ดีขึ้น และอุปกรณ์ควบคุมไฟฟ้าต่างๆ เข้ามามีบทบาททั้งหมด เพราะฉะนั้นในงานวิจัยสามารถศึกษาได้ทุกชิ้นส่วนของยานยนต์ไฟฟ้า แม้กระทั่งชิ้นส่วนโครงสร้างทั่วไป ก็พยายามทำให้น้ำหนักลดลงให้ได้ ใช้วัสดุชนิดใหม่ๆ เป็นวัสดุคอมโพสิท น้ำหนักเบา มีความแข็งแรง ทำอย่างไรให้มีราคาถูกลงด้วย

ดังนั้นงานวิจัยพัฒนาจะเป็นไบเบิลที่สำคัญในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ทีนี้ก็จะเกิดคำถามว่า เราจะส่งเสริมให้ท็อปทาเลนท์ของประเทศไทยให้อยู่ในสกิลนั้นได้อย่างไร โดยต้องเป็นการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย

ปัจจุบันภาคการศึกษามีการทำงานร่วมกับอุตสาหกรรม EV มากขึ้น ต้องให้คนใหม่ๆ หรือนักศึกษาได้มีประสบการณ์ ได้เห็นขบวนการต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้น เชื่อว่าหลายๆ มหาวิทยาลัยเชิญชวนให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามาทำงานร่วมกับนักศึกษาตั้งแต่กระบวนการผลิตคนเลย มีโปรเจ็กต์ของนักศึกษาเอาโจทย์จริงมาทำงานร่วมกัน นักศึกษามีโอกาสได้เห็นของจริง ได้ทำงานจริง เป็นการทำงานโปรเจ็กต์จริงในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น เช่น 1 ปี เป็นต้น

ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมก็ได้โอกาสตรงนี้ในการเฟ้นหานักศึกษาที่มีแววก็สามารถชักชวนไปทำงานได้ การทำงานร่วมกันทำให้นักศึกษาได้มองเห็นตัวเองทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม

ปัจจุบันภาครัฐมีและเอกชนมีการลงทุนในด้านของการวิจัยและพัฒนามากขึ้น สิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญให้การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สามารถเดินหน้าไปได้

ทั้งนี้ ผศ.ดร.อุเทน  ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทยผลิตรถ ICE มา 50 ปี ทำไมเราทำแบรนด์ของตัวเองไม่ได้ หลายคนบอกว่าถ้าทำรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้รอบนี้ คงไม่ต้องทำแล้ว เหตุผลคือถ้าดูคอมโพเน้นท์แล้ว รถไฟฟ้านี่เราหาเทคโนโลยีอะไรที่คนไทยทำได้บ้าง ย้อนไปดูเทคโนโลยีไดนาโม คนไทยทำเก่ง ถ้าไปดูตามร้านไดนาโมทั่วไป ทำเองได้ แต่เขาอาจจะขาดความรู้เบสิกเท่านั้น

เทคโนโลยีอย่างมอเตอร์ คนไทยเราเองใช้มานานแล้ว ไม่เหมือนเครื่องยนต์สันดาปที่เจ้าของเทคโนโลยีเขาไม่ถ่ายทอดให้ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ไทยจะสร้างโนฮาวของเราเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นรถทั้งคัน อาจจะเป็นคอมพาแนนท์ส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ อย่างเช่นแบตเตอรี่แครก มอเตอร์ ระบบควบคุม แบตเตอรี่ชาร์จเจอร์ ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นบ้างแล้ว แต่ทั้งหมดทั้งมวลจะเริ่มทำได้ต้องผ่านกระบวนการศึกษาวิจัย ดีไซน์ ดีเวลลอปเมนท์ ดังนั้นอาร์แอนด์ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ

แต่การจะจับส่วนต่างๆ มาขันน็อตรวมกันแล้วโอปะเรทเลยนั้นทำไม่ได้ ทุกอย่างต้องผ่านกระบวนการวิจัย ยกตัวอย่างถ้าทำแบตเตอรี่สักอันหนึ่ง เวลาทำเสร็จแล้วต้องมีการทดสอบเรื่องสแตนดาร์ด เรื่องแคลสเทสต์ต่าง ๆ การจะลงมือไปเลย ทำเสร็จไปทำดรอปเทสต์ แล้วมาเริ่มทำใหม่ จะทำให้ต้นทุนสูง

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทุกอย่างในปัจจุบัน ต้องถูกดีไซน์บนแพลตฟอร์ม AI ต้องทำซิมมูเรชั่นในคอมพิวเตอร์เรียบร้อยแล้ว ออกแบบมาว่าต้องทำสตรัคเจอร์อย่างไร ถึงจะแข็งแรง ทดสอบแล้วไม่พัง จากนั้นจึงไปสู่ขั้นตอนผลิตจริง พอทำเสร็จเอาไปทำแคลสเทสต์รอบเดียวผ่าน จะทำให้ลงทุนน้อย ใช้เวลาน้อยลง สุดท้ายสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ศูนย์วิจัย และภาคการศึกษาก็ดีควรลงทุนเตรียมและซัพพอร์ตเรื่องนี้



“ไดเร็คชั่นพวกนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้ารัฐไม่วางเป้าหมายให้ชัดเจน เราจะต้องผลิตชิ้นส่วนใดของ EV ให้ได้ในประเทศไทยในอีก 2-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามเรื่องของรีสกิล อัพสกิลนี่ มีความจำเป็น ไม่เฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยี ICE เรามีอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง คนของเราเก่งมากในด้านนี้  80% มีแบคกราวน์เครื่องยนต์สันดาป จะเข้าไปแอพโพรสคนที่เป็นเจ้าของรถก็คือผู้ประกอบการ อู่ประกอบการเหล่านี้ให้มีความรู้ EV อย่างไร

ถ้าไม่เร่งทำตรงนี้ ต่อไปคนจะซื้อรถยนต์ใหม่ๆ จะไปซ่อมที่ไหน อู่ประกอบการข้างบ้านทำได้หรือยัง มีปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ทำยังไงดี ปัญหาเหล่านี้สำหรับคนจะซื้อรถ EV มีเต็มไปหมด ปัจจุบันได้มีการเตรียมการรองรับหรือไม่ อย่างไร?

 

 

 

 

 

 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  and  นโยบายคุกกี้