Last updated: 8 Oct 2023 | 2933 Views |
ก่อนจะที่ติดตั้ง EV Charger ที่บ้านควรจะเริ่มจากการให้ช่างเทคนิคมาประเมินโหลดไฟรวมของบ้านเพื่อการออกแบบที่เหมาะสม จากนั้นจึงจะเตรียมมิเตอร์ไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าที่จะใช้กับ EV Charger
วิธีตรวจสอบว่าบ้านของเราใช้มิเตอร์ขนาดเท่าไรอยู่ ให้ดูที่คำว่า “Phase” บนมิเตอร์ไฟฟ้า บ้านโดยทั่วไปมักจะเป็น Single-Phase 15(45)A ซึ่งไม่เพียงพอกับการติดตั้ง EV Charger ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจาก EV Charger โดยทั่วไปใช้กำลังไฟสูงถึง 32A หากชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านพร้อมๆ กัน จะทำให้กำลังไฟไม่เพียงพอมีโอกาสที่เกิดการใช้ไฟเกิน (Overload) ซึ่งจะส่งผลให้เมนเบรคเกอร์ทริปและไฟฟ้าภายในบ้านดับลงได้
การติดตั้ง EV Charger สามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบมาตรฐาน และ รูปแบบทางเลือก
1.รูปแบบมาตรฐาน 1 มิเตอร์ 1 สายเมน
ติดตั้งมิเตอร์และระบบไฟฟ้าที่สามารถรองรับโหลดรวมของบ้านและ EV Charger ให้มีเสถียรภาพและปลอดภัย ซึ่งขนาดมิเตอร์ที่แนะนำ คือ Single-Phase 30(100)A หรือ 3-Phase 15(45)A ขึ้นกับขนาดและจำนวนของ EV Charger ที่ติดตั้ง และควรให้ช่างเทคนิคประเมินโหลดไฟที่เหมาะสมกับแต่ละบ้านก่อนเสมอ
2. รูปแบบทางเลือก
การเพิ่มขนาดมิเตอร์จะต้องมีการปรับปรุงสายไฟฟ้าภายในบ้านใหม่ รวมปรับเปลี่ยนตู้ Consumer Unit และเมนเบรกเกอร์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพื่อลดภาระดังกล่าว และเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ดังนั้น กฟน. และ กฟภ. จึงมีรูปแบบทางเลือกในการติดตั้ง EV Charger เพิ่มดังนี้
กฟน. อนุโลมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถขอติดตั้ง EV Charger เพิ่มจากโหลดการใช้ไฟฟ้าเดิม โดยการติดตั้งสายเมนวงจรที่สองสำหรับ EV Charger โดยเฉพาะได้ โดยที่กำลังไฟในการใช้งานรวมทั้งหมดจะต้องไม่เกินขนาดที่มิเตอร์รองรับ
กฟภ. อนุญาตให้ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าลูกที่สอง สำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะได้ โดยมิเตอร์ลูกที่สองไม่จำเป็นต้องมีขนาดและประเภทเดียวกันกับมิเตอร์ไฟฟ้าลูกแรก
อ้างอิง : https://bit.ly/3NKHyt0
ปัจจุบันยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทำให้มีผู้สนใจที่จะติดตั้งที่ชาร์จ หรือ EV Charger ที่บ้าน มีข้อมูลเกี่ยวกับการติดตั้ง EV Charger มาแชร์ให้ทราบกัน
1. ตรวจสอบขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า ควรมีขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 30A เนื่องจากขณะชาร์จ EV จะกินไฟ 8A ถึง 16A ต่อเนื่องจนกว่าแบตเตอรี่จะเต็ม โดยสามารถตรวจสอบขนาดมิเตอร์ได้จากป้ายที่ติดอยู่ที่เครื่องวัด หรือสอบถามข้อมูลจาก กฟน./กฟภ. โดยแจ้งหมายเลขมิเตอร์จากบิลค่าไฟ
2. ตรวจสอบตู้ควบคุมไฟฟ้า (Main Distribution Board: MDB) ซึ่งตู้ควบคุมไฟฟ้า (MDB) จำเป็นต้องมีช่องว่างสำหรับติดตั้ง Miniature Circuit Breaker สำหรับควบคุมวงจรชาร์จไฟรถยนต์ EV อีก 1 ช่อง หากในตู้ไม่มีช่องว่างสำรอง อาจต้องเพิ่มตู้ควบคุมย่อยอีก 1 ตู้ โดย Miniature Circuit Breaker ต้นทางที่ควบคุมวงจรชาร์จไฟต้องมีพิกัดที่เหมาะกับขนาดสายไฟและขนาดกระแสชาร์จไฟของรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนการเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับชาร์จไฟ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่ กฟน. และ กฟภ. กำหนด
3. ตรวจสอบสายไฟฟ้า ทั้งสายเมนเข้าอาคาร และ Main Circuit Breaker (MCB) กรณีจำเป็นต้องเพิ่มขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า ต้องพิจารณาเพิ่มขนาดสายเมนและเพิ่มพิกัด MCB ให้รองรับปริมาณกระแสไฟฟ้ารวมที่ใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องสอดคล้องกันทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ ขนาดมิเตอร์ ขนาดสายเมน และขนาด MCB
ขนาดสายเมน 25 ตร.มม. THW - การเดินสายลอยในอากาศ- ขนาดมิเตอร์ 30(100) A, 1P 230V- ขนาด MCB สูงสุด 100A, IC 10 kA, 2P, 230V
ขนาดสายเมน 33 ตร.มม. NYY - การเดินสายร้อยท่อใต้ดิน- ขนาดมิเตอร์ 30(100) A, 1P 230V- ขนาด MCB สูงสุด 100A, IC 10 kA, 2P, 230V
4. ควรศึกษาข้อมูลระบบการชาร์จไฟของรถยนต์ที่ใช้งาน ได้แก่
Mode ของอุปกรณ์ชาร์จ
ขนาดของกระแสสูงสุดขณะชาร์จไฟ
พิกัดแรงดันใช้งาน
ขนาดกำลังอุปกรณ์ชาร์จไฟภายในรถยนต์ไฟฟ้า (On-Board Charger)
ระยะเวลาที่ใช้ในการชาร์จไฟแต่ละครั้ง
ข้อมูลอ้างอิง : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT)
ที่มา : เพจ EPPO Thailand กระทรวงพลังงาน