Last updated: 29 Dec 2023 | 735 Views |
หัวหน้าผู้ตรวจราชการ อว.เยี่ยมชมสนามทดสอบรถอัตโนมัติ CAV Proving Ground ระยะที่ 2 และร่วมทดสอบระบบรถยนต์อัตโนมัติในทางตรง สามารถขับขี่ได้โดยใช้ระบบอัตโนมัติสั่งการ
นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และคณะ ตรวจราชการโครงการสร้างสนามทดสอบ รถอัตโนมัติ CAV Proving Ground ระยะที่ 2 ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 โดยมี นายกรธรรม สถิรกุล นักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มนวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กองวัสดุวิศวกรรม กล่าวต้อนรับ และนายปาษาณ กุลวานิช นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ รายงานผลการดำเนินงานโครงการ พร้อมนำเยี่ยมชม สนามทดสอบรถอัตโนมัติ CAV Proving Ground ระยะที่ 2
การเยี่ยมชมสนามทดสอบรถอัตโนมัติในครั้งนี้ได้มีการร่วมทดสอบระบบรถยนต์อัตโนมัติในทางตรง ซึ่งขับขี่โดยใช้ระบบอัตโนมัติสั่งการ สามารถหยุดรถได้ในระยะปลอดภัยโดยใช้เซนเซอร์ตรวจจับระยะห่างจากรถยนต์คันหน้า โดยการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมยานยนต์อัตโนมัติของ ถือเป็นหนึ่งในงานวิจัยนวัตกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่องที่ วศ. ดำเนินการมาโดยตลอด
ทั้งนี้ นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม ได้กล่าวให้กำลังใจแก่บุคลากรโครงการ และชื่นชมว่าโครงการนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพของยานยนต์ในอนาคต และเป็นโอกาสในการยกระดับผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของผู้ประกอบการ ซึ่งจะทำให้มีการลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติชั้นสูงในประเทศไทย
ความเป็นมาของสนามทดสอบรถอัตโนมัติ CAV Proving Ground
สนามทดสอบรถอัตโนมัติ CAV Proving Ground มีจุดเริ่มต้นจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ร่วมกับพันธมิตรและบริษัทพนัสแอสเซมบลีย์ จำกัด ริเริ่มโครงการการพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติที่เหมาะกับการใช้งานภายใต้สภาพเงื่อนไขประเทศไทย เพื่อช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการทดสอบและรับรองคุณภาพเพื่อเสริมความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในด้านสมรรถนะและความปลอดภัยในการใช้งาน
วศ. จึงได้จัดทำโครงการสร้างสนามทดสอบรถอัตโนมัติหรือ Connected and Autonomous Vehicle (CAV) Proving Ground ขึ้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เพื่อยกระดับคุณภาพของยานยนต์แห่งอนาคตที่พัฒนาและผลิตในประเทศให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (พ.ศ. 2565 – 2568) โดย วศ. ได้เซ็นสัญญาเช่าที่ดินของจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 26 ไร่ ที่วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง สำหรับใช้ในการก่อสร้างสนามทดสอบ CAV ตลอดจนประสานความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านๆ เพื่อให้มั่นใจว่า สนามทดสอบดังกล่าวจะสามารถให้ผลการทดสอบได้ตามมาตรฐานระดับสากล
นอกจากนี้จะมีการฝึกอบรมให้กับบุคลากรทางด้านการทดสอบยานยนต์สมัยใหม่ พร้อมพิจารณาแนวทางการเข้ามาลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามาตรฐานการทดสอบยานยนต์ในประเทศไทย
สำหรับการดำเนินงานโครงการฯ ครอบคลุมการก่อสร้างสนามทดสอบ CAV สำหรับใช้ทดสอบระบบนำทางของรถอัตโนมัติ โดยจำลองลักษณะของถนนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนในเขตเมือง สัญญาณจราจร ป้ายจราจร อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย เช่น รั้วกันชน พื้นที่อับสัญญาณ เช่น อุโมงค์หรือหลังคา พื้นที่รบกวนสัญญาณภาพ เช่น พื้นที่มีเงารบกวนจากต้นไม้ พร้อมทั้งทดสอบระบบขับเคลื่อนของยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV รวมไปถึงระบบสื่อสารและโทรคมนาคมแบบ WiFi, 4G LTE, 5G 2600MHz เพื่อตรวจสอบสมรรถนะการทำงานของโปรแกรมการนำทางและโปรแกรมเสริมความปลอดภัยในการขับขี่ รวมทั้งทดสอบการเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างศูนย์ควบคุมกับรถอัตโนมัติหรือระหว่างรถอัตโนมัติให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล