Last updated: 20 Aug 2023 | 595 Views |
บีโอไอ ผนึกกำลัง กนอ. บุกโรดโชว์ดึงการลงทุนจีน ประสบความสำเร็จเกินคาด นักธุรกิจจีนแห่เข้าร่วมสัมมนากว่า 500 คน คณะไทยพบยักษ์ใหญ่ EV จีน 5 ราย Changan Automobile, Geely, BYD, JAC และ Jiangling Motors (JMC) ทุกรายสนใจลงทุนและหนุนไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค เผยไตรมาสแรกจีนยื่นขอรับการส่งเสริมไปแล้ว 38 โครงการ มูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยผลการเดินทางโรดโชว์ส่งเสริมการลงทุน ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เมืองธุรกิจสำคัญ ได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ หางโจว เซินเจิ้น และกว่างโจว ระหว่างวันที่ 3 – 7 เมษายน 2566 ว่า บีโอไอพร้อมด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เดินทางไปจัดสัมมนาใหญ่ที่นครเซี่ยงไฮ้ พร้อมพบกับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของจีน รวมกว่า 10 บริษัท นับเป็นการโรดโชว์ที่ประเทศจีนเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19
“จีนถือเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของไทย และมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งด้านการลงทุน การค้า และการท่องเที่ยว หลังจากที่จีนเปิดประเทศ บีโอไอจึงได้เร่งจัดคณะเดินทางเยือนจีน ซึ่งได้ผลสำเร็จอย่างมาก นักลงทุนจีนให้ความเชื่อมั่น และยืนยันเลือกไทยเป็นฐานธุรกิจสำคัญในภูมิภาค โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ของไทย ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ไทยต้องรุกดึงการลงทุนจากจีน เพราะสถานการณ์โลกมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้บริษัทต่าง ๆ มีความจำเป็นต้องขยายการลงทุนเพิ่มเติมจากฐานในประเทศจีน เพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ” นายนฤตม์ กล่าว
ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า คณะไทยได้พบกับผู้ผลิตรายใหญ่ของจีน 5 ราย ได้แก่ Changan Automobile, Geely, BYD, JAC และ Jiangling Motors (JMC) ซึ่งทั้ง JAC และ JMC เป็นผู้ผลิตรถกระบะและรถบรรทุกไฟฟ้าชั้นนำ โดยทุกรายแสดงความสนใจลงทุนผลิต EV ในประเทศไทย และสนับสนุนไทยให้เป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค เนื่องจากมองว่าไทยมีนโยบายเชิงรุกในการส่งเสริม EV แบบครบวงจร มีซัพพลายเชนของชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่พร้อมรองรับการผลิต EV อีกทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่มีคุณภาพ และตลาดในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวสูง
นอกจากนี้ ผู้ผลิตฯทุกรายยังให้ความสนใจการขยายมาตรการสนับสนุน EV หรือ EV 3.5 ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) แล้ว เบื้องต้นคาดว่าจะมีการลงทุนจากกลุ่มนี้ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท ใน 1 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ไม่รวม BYD ซึ่งได้ขอรับส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ EV และชิ้นส่วนในไทยแล้ว 6 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท
“ผู้ผลิต EV ของจีนยืนยันมองไทยเป็นเป้าหมายลำดับแรกในภูมิภาค เพราะมีความพร้อมในทุก ๆ ด้านสำหรับการสร้างฐานอุตสาหกรรม EV ทั้งผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก อีกทั้งเห็นตัวอย่างการเติบโตของบริษัทจีนรายอื่น ๆ ที่เข้าสู่ตลาดในไทยก่อนหน้านี้ เช่น MG, Great Wall Motor, BYD และ NETA ทำให้เกิดความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนมากขึ้น” นายนฤตม์ กล่าว
กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของจีนนับว่าเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะไปขยายฐานผลิตที่ไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในยานยนต์และอุปกรณ์สื่อสาร คณะได้พบกับผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) รายใหญ่ ได้แก่ WUS Printed Circuit (Kunshan) และ ASKPCB ซึ่งทั้งสองบริษัทมีแผนลงทุนในไทยรวมกันกว่า 12,000 ล้านบาท โดยได้หารือเรื่องการนำ supplier ของบริษัทย้ายตามมาลงทุนในไทยอีกกว่า 200 บริษัท เพื่อบริหารต้นทุนการผลิตและการจัดส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพ
โดยครั้งนี้ได้พบกับ Supplier รายสำคัญกว่า 10 บริษัท เช่น Yiyang Jindong Technology, Haoyue New Materials Technology และ Guangdong Dtech รวมทั้งผู้บริหารสมาคมผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ของจีนด้วย
“กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของจีน มีความจำเป็นต้องหาแหล่งผลิตที่ 2 นอกประเทศจีน หรือ China+1 เพื่อกระจายความเสี่ยงและบริหารต้นทุนการผลิต ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม การมาลงทุนของกลุ่มนี้ จะต้องอาศัย supplier จำนวนมากในการสนับสนุนการผลิต ดังนั้น บีโอไอจะส่งเสริมให้ supplier บางส่วนเข้ามาลงทุนในไทย ควบคู่ไปกับการผลักดันบริษัทไทยที่มีศักยภาพ เข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนนี้ ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ ซึ่งทางฝ่ายจีนก็ยินดีสนับสนุน” นายนฤตม์ กล่าว
นอกจากนี้ บีโอไอยังร่วมกับคณะกรรมการพาณิชย์นครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Municipal Commission of Commerce) จัดงานสัมมนาใหญ่ "Thailand's New Investment Promotion Measures: NEW Economy, NEW Opportunities" เพื่อประชาสัมพันธ์มาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ และศักยภาพของประเทศไทย ทั้งด้านการเป็นฐานการผลิตและสำนักงานภูมิภาค รวมทั้งวีซ่าระยะยาว (Long-term Resident หรือ LTR Visa) เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพสูง
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. ได้ร่วมบรรยายถึงความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมในการรองรับการลงทุน ซึ่งงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักธุรกิจจีนอย่างมาก โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 คน จากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล เครื่องจักรและอุปกรณ์ เทคโนโลยีทางการแพทย์ ธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นต้น
หลังจากกิจกรรมครั้งนี้ จะมีคณะนักธุรกิจจีนเดินทางมาเยือนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างวันที่ 19 - 22 เมษายน 2566 สมาคมผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ของจีน (China Printed Circuit Association) จะนำคณะผู้ผลิต PCB และชิ้นส่วนกว่า 60 ราย มาศึกษาโอกาสการลงทุนในไทย ต่อจากนั้น ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2566 นายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ จะนำคณะผู้บริหารและนักธุรกิจจีนกว่า 50 คน เดินทางมาจัดสัมมนาสร้างความร่วมมือไทย-จีน และประชาสัมพันธ์การลงทุนในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำแยงซี ตามด้วยงานประชุมนักธุรกิจจีนจากทั่วโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention-WCEC) ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 24 - 26 มิถุนายน 2566 ซึ่งจะมีนักธุรกิจจีนมาร่วมงานราว 4,000 คน
ทั้งนี้ ในปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศจีนเป็นนักลงทุนต่างชาติที่ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงสุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 158 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 77,381 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ และดิจิทัล โดยไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค. - มี.ค. 2566) มีโครงการจากจีนยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 38 โครงการ มูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท