X

ครม. เห็นชอบร่างประกาศ กค.ยกเว้นอากรศุลกากรชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า 9 รายการ

Last updated: 12 Feb 2024  |  787 Views  | 

ครม. เห็นชอบร่างประกาศ กค.ยกเว้นอากรศุลกากรชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า 9 รายการ

ครม. เห็นชอบร่างประกาศ กค. ยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าหรือ เรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ 9 รายการ มุ่งสร้างแรงจูงใจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในประเทศ ส่งเสริมไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคด้วย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี วันนี้ (7 มีนาคม  2566) เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าหรือ เรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของกิจการยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง  สนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างยั่งยืนด้วย 

ทั้งนี้ ของที่ได้รับการยกเว้นอากรศุลกากร ได้แก่ ของและส่วนประกอบของ ของที่นำเข้าเพื่อประกอบหรือผลิตเป็นยานยนต์ไฟฟ้า หรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รวม 9 รายการ ดังนี้  1) แบตเตอรี่ (battery) 2) มอเตอร์ขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า (traction motor) 3) คอมเพรสเซอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า  4) ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) 5) ระบบควบคุมการขับขี่  6) ออนบอร์ดชาร์ทเจอร์ (on-board charger) 7) ดี ซี/ดีซี คอนเวอร์เตอร์ (DC/DC converter) 8) อินเวอร์เตอร์ (inverter) รวมถึง พีซียู อินเวอร์เตอร์  PCU inverter  9) รีดักชัน เกียร์ ( reduction gear) 

เงื่อนไขการได้รับการยกเว้นอากร  ต้องเป็นของที่นำเข้ามาตั้งแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568  เพื่อประกอบหรือผลิตเป็นยานยนต์ไฟฟ้าหรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่   มีหนังสือรับรองจากสถาบันยานยนต์ว่าเป็นของหรือส่วนประกอบของของสำหรับนำมาเพื่อประกอบหรือผลิตเป็นยานยนต์ไฟฟ้าหรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ และต้องนำไปใช้ประกอบหรือผลิตเป็นยานยนต์ไฟฟ้าหรือเรือแบบไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่นำเข้าของ  หากมีเหตุขัดข้องสามารถขอขยายระยะเวลาการผลิตได้อีกไม่เกิน 6 เดือน  สำหรับของที่ได้รับการยกเว้นอากรหากไม่สามารถหรือไม่ได้นำไปใช้ประกอบหรือผลิต ภายในเวลาที่กำหนดให้ผู้นำเข้าของเข้าส่งของนั้นออกไปนอกราชอาณาจักรหรือชำระอากรโดยถือเป็นสภาพของของ ราคาและอัตราอากรที่เป็นอยู่ในวันที่นำของเข้า 

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

"กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่ารัฐอาจจะสูญเสียรายได้จากอากรขาเข้าโดยเฉลี่ยประมาณ 3,143 ล้านบาทต่อปี  แต่จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในประเทศ   ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  and  นโยบายคุกกี้