Last updated: 27 Aug 2023 | 793 Views |
อว.รวมพลังกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) นำเสนอปัญหาอุปสรรคและความท้าทายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง 9 ประเด็นหลัก พร้อมเรียกร้องรัฐสนับสนุนเพิ่มเติม 7 ด้าน ต่อกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร
นายธนาคาร วงษ์ดีไทย เลขานุการร่วมคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ นำเสนอปัญหาอุปสรรคและความท้าทายสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในโอกาสนำพันธมิตรกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ร่วมแสดงผลงานสนับสนุนกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร โดยโดยได้รับเกียรติจากนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเปิดงาน นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ กล่าวรายงาน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ณ ห้องประชุมสัมมนา บี 1-2 ชั้นบี 1 อาคารรัฐสภา โดยมีรายละเอียดดังนี้
ประเด็นปัญหาและอุปสรรคและความท้าทายสำคัญที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง มีด้วยกัน 9 ประเด็นหลักดังนี้
1) วิกฤติค่าพลังงานเชื้อเพลิงราคาสูง หากมีการดัดแปลงรถยนต์เป็นรถไฟฟ้าจะช่วยประหยัดค่าน้ำมันได้ถึง 5 เท่า และประหยัดค่าซ่อมรถ 15 เท่าต่อปี
2) หนี้ครัวเรือน 90% ของจีดีพี รวมถึงกลุ่มประชาชนรากหญ้า แบกภาระซื้อรถไฟฟ้าป้ายแดงไม่ไหว
3) การที่ประเทศไทยตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 111 ล้านตัน ให้ได้ภายใน 8 ปี โดยมาจากภาคขนส่ง 41 ล้านตัน คิดเป็นรถไฟฟ้ารวม 12 ล้านคัน
4) ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ 80% มาจากภาคขนส่ง รถกระบะดีเซลในกรุงเทพฯ 250,000 คัน ที่รถใหม่แก้ปัญหานี้ไม่ได้
5) ประเทศไทยมีผู้ประกอบการ Tier 3 จำนวนกว่า 2,000 บริษัทที่ไม่มีเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้า ขาดเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่าน เสี่ยงต่อการปิดตัวลง
6) ประเทศไทยมีอู่ 20,000 อู่ที่จดทะเบียน 50,000 อู่ที่ไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งอู่เหล่านี้ซ่อมรถไฟฟ้าไม่ได้ ถ้าเปลี่ยนผ่านฉับพลันจะทำให้พวกเขาตกงาน แต่ถ้าเปลี่ยนส่วนประกอบให้เป็นรถไฟฟ้าบางชิ้นอู่จะสามารถซ่อมและเรียนรู้ได้
7) บุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย 95% มีทักษะด้านเครื่องกล มีเพียง 5% ที่มีทักษะด้านไฟฟ้า รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ไม่มีการฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการ ยังต้องการเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่าน
8) ความต้องการอะไหล่ที่มีราคาไม่แพงในตลาดหลังการขาย (After market) ของรถไฟฟ้าที่มีอายุ 7 ปี ขึ้นไปมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไทยสามารถทำชิ้นส่วนเหล่านี้ได้
9) ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในรูปแบบรถกระบะ ถ้าได้รับการสนับสนุนจะมีราคาเหลือ 300,000 บาทต่อคัน รถกระบะทั่วประเทศมี 7 ล้านคัน อายุ 10 ปีขึ้นไป 4 ล้านคัน ถ้าดึงส่วนนี้มาดัดแปลงแค่ 10% คือ 4 แสนคัน จะทำให้มีเงินหมุนในประเทศกว่า 120,000 ล้านบาท ไปที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอู่ในประเทศ
ขณะเดียวกันจาก (ร่าง) ผลการศึกษายานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงของกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สามารถแบ่งข้อเสนอแนะมาตรการสนับสนุนออกเป็น 2 ส่วน คือ มาตรการทางการเงิน และ มาตรการที่ไม่ใช่การเงิน และให้การสนับสนุนใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ทำการดัดแปลง กลุ่มผู้ใช้งาน และกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. มาตรการสนับสนุนทางการเงิน (Financial) สำหรับกลุ่มนิติบุคคลที่ทำการดัดแปลงยานยนต์น้ำมันให้เป็นไฟฟ้า (Converted Vehicles) เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้า ยกเว้นภาษีสรรพสามิต ระยะ 5 ปี การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมด้านยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง สนับสนุนเงินลงทุนเครื่องมือ อุปกรณ์ที่จำเป็นที่ใช้ในสถานประกอบการ สนับสนุนค่าใช้จ่ายในส่วนของแบตเตอรี่ที่ใช้ในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เป็นต้น ในกลุ่มผู้ใช้ยานพาหนะ และผู้เดินรถ (Vehicles Users and Fleet Operator) เช่น มาตรการช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการประกันภัย อุดหนุนค่าใช้จ่ายทางด่วน เป็นต้น และกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบสายส่งและระบบอัดประจุไฟฟ้า (Infrastructure) เช่น สนับสนุนค่าไฟฟ้าในการอัดประจุ สนับสนุนค่าติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าประจำบ้าน สนับสนุนให้หน่วยงานเอกชนติดตั้งสถานีอัดประจุบนพื้นที่จอดรถและให้ผู้บริการ เป็นต้น
2. มาตรการสนับสนุนที่ไม่ใช่ทางการเงิน (Non-Financial) สำหรับกลุ่มนิติบุคคลที่ทำการดัดแปลงยานยนต์น้ำมันให้เป็นไฟฟ้า (Converted Vehicles) เช่น การเปิดอู่รถดัดแปลงพร้อมมีประกาศนียบัตร จะได้ลดหย่อนภาษี ภาครัฐสนับสนุนการฝึกอบรม โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้ 200% ในกลุ่มผู้ใช้ยานพาหนะ และผู้เดินรถ (Vehicles Users and Fleet Operator) เช่น การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐนำรถที่ใช้งานอยู่มาดัดแปลงให้เป็นรถไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 50% ภายในเวลา 2 ปี อนุญาตให้ข้าราชการที่ใช้รถไฟฟ้าดัดแปลงสามารถนำรถมาอัดประจุที่หน่วยงานราชการที่สังกัดอยู่ เป็นต้น และในส่วนโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบสายส่งและระบบอัดประจุไฟฟ้า (Infrastructure) เช่น การปรับระบบและอนุญาตให้ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าตามพื้นที่สาธารณะได้
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้ให้ความเห็นที่หลากหลายและร่วมแลกเปลี่ยนถึงปัญหาอุปสรรค รวมถึงสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนเพิ่มเติม สามารถจัดกลุ่มออกเป็น 7 กลุ่ม และเรียงลำดับความสำคัญ ได้ดังนี้
1. การสนับสนุนทางการเงิน การลดภาษีในระยะแรกเริ่ม เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร ภาษีประกอบแบตเตอรี่ และภาษีประกอบตัวรถ จะสนับสนุนการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบันรถไฟฟ้าดัดแปลงหลายกลุ่มจะแพงกว่ารถไฟฟ้าใหม่ที่นำเข้าจากจีน เช่น รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงซึ่งเป็นรถขนาดเล็ก เมื่อคิดภาษีเหล่านี้จะมีราคาใกล้เคียงกับรถที่นำเข้าจากจีนทั้งคัน เนื่องจาก FTA และมาตรการสนับสนุนการนำเข้าและผลิตรถไฟฟ้าใหม่ที่มีในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงของยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงควรมีราคาถูกกว่าค่าซ่อมบำรุงของยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ เสนอให้มีการสนับสนุนเงินทุนด้านการสร้างความรู้และช่วยเรื่อง Finance และลดดอกเบี้ยในการซื้อ EV Conversion การลดค่าการจดทะเบียนเพราะจะกลายมาเป็นต้นทุนที่สูง การลดค่าไฟฟ้าที่ปัจจุบันแพง หน่วยละ 8 บาท และในระยะยาวภาษีนำเข้าชิ้นส่วนควรจะคงไว้เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการชิ้นส่วนในประเทศแต่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเร็ว
2. การมีหน่วยงานรัฐเป็นเจ้าภาพเป็นศูนย์กลาง จะสามารถทำให้เกิดการรวบรวมความต้องการมี volume เพียงพอที่จะสามารถลดต้นทุนได้ ให้มีการ certify อู่ไหนปลอดภัย ปัจจุบันยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงยังไม่มี Leasing อยากให้มี Leasing อยากให้มี Sandbox และมีหน่วยงานกลางในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการทดสอบให้มีราคาถูกลง ทำให้มีศักยภาพในการเติบโตที่ดีขึ้น อยากให้มีการแบ่งและรวมกลุ่มผู้ประกอบการที่ช่วยเหลือกันได้ตาม value chain ซึ่งจะทำให้มีการรวมกลุ่มและแบ่งงานกันทำและภาครัฐสามารถกำหนดว่าเรื่องนี้จะให้ใครทำและสามารถให้การสนับสนุนเป็นกลุ่ม ปัจจุบันผู้ประกอบการทุกคนต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง และอยากให้รัฐเป็นศูนย์กลางในการจับคู่ business matching กับผู้ประกอบการจากทั่วโลก
3. คุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย การบูรณาการมาตรฐานชิ้นส่วน โดยเฉพาะตัว battery และตัวสายไฟ
4. การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ Key success คือต้องให้สามารถ scale up ให้ได้และเพื่อให้ผู้ลงทุนเกิดการผลิต อาจจะต้องทำ technology และนวัตกรรมร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ และอยากให้มีโรงงานแบตเตอรี่แห่งชาติในประเทศไทย ที่ผลิตและขายออกให้ผู้ประกอบการรายย่อยนำไปพัฒนา applications
5. การพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ ผู้ประกอบการยังมีความรู้ไม่เพียงพอ อยากให้มีการ upskill, reskill ภาคเอกชนเปิดรับเด็กนิสิตนักศึกษา ปวช. ปวส. ที่จบใหม่ และภาคเอกชนช่วยพัฒนาหลักสูตร ผลิตกำลังคน
6. การวิจัยและพัฒนา ภาครัฐสนับสนุนการพัฒนาชิ้นส่วนหลักๆ ที่มีอยู่ไม่เกิน 10 ชิ้นให้มีคุณภาพดีและราคาที่ผู้ประกอบการไทยสู้ไหวและสามารถผลิตเพื่อการส่งออกได้ด้วย
7. การสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับ แม้ว่ามีคนไทยออกแบบและผลิตชิ้นส่วนได้เองและใช้งานได้ดี เช่น board electronic แต่เนื่องจาก EV และ EV Conversion ถือว่าเป็นเรื่องใหม่คนเลยยังไม่มั่นใจของที่พัฒนาและผลิตโดยคนไทย อยากให้ภาครัฐเป็นผู้ใช้งานและผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ และผลักดันให้สามารถส่งออกไปสู่ต่างประเทศได้
อนึ่ง อว.และกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ประกอบด้วยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เช่น บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) บริษัทพนัส แอสเซมบลีย์ จํากัด บริษัท อีซียู ช็อป 1 จำกัด และบริษัท อีวี คาร์ (ไทยแลนด์) จำกัด และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เป็นต้น
สถาบันเทคโนโลยีไทยญี่ปุ่น ศูนย์เชี่ยวชาญยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง อีอีซี และศูนย์วิจัยเเละพัฒนา มูลนิธิสถาบัน พลังงานทางเลือก เเห่งประเทศไทย เป็นต้น ร่วมกับ คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง และระบบกักเก็บพลังงาน และคณะอนุกรรมาธิการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง โดรน และชลยานไร้คนขับเพื่อการพัฒนา และคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร
การจัดงานสัมมนาในครั้งนั้นมีผู้ให้ความสนใจจากภาครัฐ ภาคการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย วิทยาลัยและอาชีวศึกษา และหน่วยงานภาคเอกชน เข้าร่วมกว่า 145 หน่วยงาน กว่า 250 คน โดยมีการจัดนิทรรศการแสดงชิ้นส่วนสำคัญ และยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเชิงพาณิชย์ที่พัฒนาโดยคนไทย เช่น รถจักรยานยนต์ รถตุ๊กตุ๊ก รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถแท็กซี่ รถเอสยูวี รถกระบะ รถตู้ รถคลาสสิค รถโฟล์คลิฟท์ และรถบรรทุก 10 ล้อ รวมกว่า 20 คัน
ที่มา: สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)