X

กทม.เสนอรัฐบาลทำโครงการนำรถสันดาปแลกรถ EV คันแรกแก้ปัญหา PM2.5

Last updated: 3 ก.พ. 2568  |  123 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กทม.เสนอรัฐบาลทำโครงการนำรถสันดาปแลกรถ EV คันแรกแก้ปัญหา PM2.5

กทม. สรุป 11 มาตรการแก้ปัญหา PM2.5 เสนอรัฐบาล โดยหนึ่งในข้อเสนอคือการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงรถพลังงานไฟฟ้า (EV) โดยการนำรถเครื่องยนต์สันดาปมาแลกรถยนต์ EV คันแรก รวมทั้งบริหารจัดการรถเก่าโดยเพิ่มการจัดเก็บภาษีรถเก่าให้สอดคล้องกับการปล่อยมลพิษตามอายุการใช้งาน จำกัดการซื้อรถใหม่ที่มาตรฐานต่ำกว่ายูโร 5 และนำรถเก่าออกจากระบบ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 4) ประจำปี พ.ศ. 2568 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง เมื่อ 30 ม.ค. 2568 โดยสรุป 11 มาตรการฝุ่นเพื่อแก้ปัญหา PM2.5 นำเสนอต่อรัฐบาล

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาหลักในกรุงเทพฯมี 2 เรื่อง คือ เรื่องฝุ่น และเรื่องน้ำท่วม ซึ่งเรื่องฝุ่นเป็นสิ่งที่มีการวางแผนและพยายามดำเนินการมาโดยตลอด โดยก่อนที่จะพูดถึงการแก้ไขปัญหาจะต้องเข้าใจก่อนว่าที่มาของฝุ่นมาจากไหน ซึ่ง กทม. ได้ดำเนินโครงการนักสืบฝุ่น ร่วมกับนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และพบว่าฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ รถยนต์ สภาพอากาศปิด และการเผาชีวมวล ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับทั้งฝุ่นที่มาจากรถยนต์และการเผาชีวมวล โดยในเรื่องรถยนต์นั้น ต้องขอขอบคุณทางสภากรุงเทพมหานครที่เป็นหน่วยงานแรก ๆ ที่ออกข้อบัญญัติในการเปลี่ยนรถเมล์ให้เป็นรถเมล์ EV

11 มาตรการแก้ปัญหา PM2.5 ที่จะนำเสนอรัฐบาล ประกอบด้วย

ภาคขนส่ง

1.ให้อำนาจ กทม. จับรถควันดำ ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก หาก กทม. เป็น "ผู้ตรวจการขนส่ง" ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก จะมีอำนาจตรวจสอบและจับกุมรถยนต์ที่ฝ่าฝืนกฎหมายได้

2.ลดเกณฑ์ความทึบแสง เหลือ 10% รถควันดำหลายคันมีค่าความทีบแสงไม่ถึงเพดาน 30% ถ้าลดเพดานเหลือ 10% จะจับรถควันดำได้มากขึ้น

3.บังคับรถเก่าติดตั้งเครื่องกรองมลพิษที่ท่อไอเสีย ติดตัวกรองมลพิษอนุภาคจากเครื่องยนต์ดีเซล (DPF) โดยพิจารณาในกลุ่มรถที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป เพื่อลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดภาคการจราจร

4.ปรับโครงสร้างภาษีรถเก่า เก็บภาษีรถตามอายุการใช้งาน ยิ่งเก่า ยิ่งปล่อยมลพิษ ยิ่งจ่ายภาษีเพิ่ม

5.ควบคุมจำนวนรถยนต์ จำกัดการซื้อรถยนต์ใหม่ที่มาตรฐานต่ำกว่า ยูโร 5 และสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรถพลังงานไฟฟ้า (EV) โดยอาจสนับสนุนการนำรถเครื่องยนต์สันดาปแลกรถยนต์ EV คันแรก

6.ตรวจมลพิษในท่าเรือ ให้ กทม. มีอำนาจควบคุมมลพิษจากการเดินเรือในกรุงเทพฯ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ


ภาคอุตสาหกรรม

7.ติดตั้งเครื่องตรวจมลพิษ ทุกโรงงาน โรงงาน 236 แห่ง ต้องติดตั้งเครื่องตรวจวัดมลพิษ CEMs และจัดทำรายงานมลพิษและปริมาณที่ปล่อยอย่างละเอียด

8.ศึกษาผลกระทบจากโรงกลั่นน้ำมัน วิเคราะห์มลพิษและผลกระทบต่อสุขภาพจากโรงกลั่นน้ำมัน พร้อมกำหนดมาตรการควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5

9.ประกาศเขตควบคุมมลพิษ ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศกรุงเทพฯ เป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อให้อำนาจผู้ว่าฯ กทม. คง ลด ขจัดมลพิษได้เบ็ดเสร็จและทันท่วงที

10.เก็บภาษีสิ่งแวดล้อมจากผู้ก่อมลพิษเร่งรัดพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด เพื่อให้ผู้ก่อมลพิษต้องจ่ายภาษีตามหลักการ Polluter Pay Principle (PPP)


11.ย้ายท่าเรือคลองเตย ลดมลพิษจากยานพาหนะที่สัญจรในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ

ที่มา : เพจกรุงเทพมหานคร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้