X

พาณิชย์ ชี้ช่องส่งออกรถ EV ลงทุนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในกัมพูชา

Last updated: 27 ธ.ค. 2567  |  116 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“พาณิชย์” ชี้ช่องส่งออกรถ EV ลงทุนสถานีชาร์จในกัมพูชา

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ส่งสัญญาณผู้ประกอบการไทย ขยายตลาดรถ EV และสถานีชาร์จไฟฟ้าในกัมพูชา เผยมีแนวโน้มเติบโตสูง หลังรัฐบาลส่งเสริมการใช้ พร้อมตั้งเป้ามีรถ EV 800,000 คัน ภายในปี 2030

น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทย ตามนโยบายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงตลาดรักสิ่งแวดล้อม ล่าสุดได้รับรายงานจาก นายนิรวัชช์ รังสีกาญจน ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา ถึงแนวโน้มการเติบโตของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และโอกาสในการขยายตลาดรถ EV ของไทย และการลงทุนทำสถานีชาร์จไฟฟ้าในกัมพูชา เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า ปัจจุบันรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) มีโอกาสและศักยภาพในการเติบโตสูงในกัมพูชา เพราะช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน และกำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลกัมพูชา โดยกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง ได้ริเริ่มแผนงานเพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(EV) ในกัมพูชา ตั้งเป้าหมายมีรถยนต์ EV จำนวน 800,000 คัน พร้อมสถานีชาร์จที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ภายในปี 2030 ซึ่งปัจจุบัน ข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก ณ เดือน ต.ค.2567 กัมพูชามีรถยนต์ใช้น้ำมันกว่า 7.6 ล้านคัน แบ่งเป็น รถจักรยานยนต์และรถสามล้อ 85% รถยนต์ 10% และรถบัส รถบรรทุก และรถเครื่องจักรกลหนัก 5%

น.ส.สุนันทา กล่าวว่า จากปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติธรรมชาติเริ่มเกิดขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ ทำให้กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้นโดยรัฐบาลกัมพูชามีนโยบายสนับสนุนให้ชาวกัมพูชาใช้ยานพาหนะไฟฟ้ามากขึ้น และมีนโยบายปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อลดต้นทุนการผลิต และรัฐบาลกัมพูชายังได้กำหนดเป้าหมายดังกล่าวไว้ในแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว ปี 2050 เพื่อลดปริมาณคาร์บอน และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยสนับสนุนให้ใช้พลังงานสะอาดด้วยการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยลดภาษีนำเข้าสำหรับ EV ลงเหลือ 63% เมื่อเทียบกับรถยนต์น้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ 120% เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภครถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

ความต้องการรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ดังกล่าว ทำให้มีการจดทะเบียนรถยนต์ EV เพิ่มขึ้น ข้อมูล ณ เดือน ต.ค.2567 มีจดทะเบียนแล้ว 2,513 คัน รถยนต์ EV ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ BYD ของจีน Toyota ของญี่ปุ่น และ Tesla ของสหรัฐ และมีสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถ EV จำนวน 21 แห่งทั่วประเทศ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า อาจพิจารณาส่งออกสินค้าดังกล่าวมายังกัมพูชา หรืออาจลงทุนด้านสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถ EV ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นในอนาคต


ที่มา : กระทรวงพาณิชย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้