X

ครม.มีมติอนุมัติงบ 7,125.63 ล้านบาท อุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้า ตามมาตรการ EV 3

Last updated: 25 ก.ย. 2567  |  297 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ครม.มีมติอนุมัติงบ 7,125.63 ล้านบาท อุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้า ตามมาตรการ EV3

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายนต์ 2567 มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 7,125.63 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (มาตรการ EV3) ต่อไป ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอตามาตรการ EV3 ตามประกาศกรมสรรพสามิต เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 มีรายละเอียดดังนี้

1) กรณีรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท Battery Electric Vehicle (BEV) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้รับ
          - เงินอุดหนุน 70,000 บาท สำหรับรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง
          - เงินอุดหนุน 150,000 บาท สำหรับรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป
(2) กรณีรถยนต์กระบะ ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้รับเงินอุดหนุน 150,000 บาท/คัน เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศและมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป (เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น)
(3) กรณีรถจักรยานยนต์ ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับเงินอุดหนุน  18,000 บาท/คัน สำหรับรถจักรยานยนต์ประเภท BEV

ที่ผ่านมามีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่มีการจดทะเบียนภายในวันที่ 31 มกราคม 2567 ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 จำนวน 90,380 คัน คิดเป็นเงินอุดหนุนทั้งสิ้น 11,917.34 ล้านบาท มีรายละเอียด ดังนี้

ประเภทช่วงระหว่างปี 2565 ถึงมกราคม 2567
จำนวน (คัน)เงินอุดหนุน (ล้านบาท)
รถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับเงินอุดหนุน 70,000 บาท1,16681.62
รถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับเงินอุดหนุน 150,000 บาท77,49911,624.85
รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับเงินอุดหนุน 18,000 บาท11,715210.87
รวม90,38011,917.34


ทั้งนี้ การดำเนินการตามมาตรการ EV3 จะต้องใช้เงินอุดหนุน รวมทั้งสิ้น 11,917.34 ล้านบาท ซึ่ง กค. ได้รับงบประมาณไปแล้ว 6,947.78 ล้านบาท  ได้เบิกจ่ายไปแล้ว 5,901.19 ล้านบาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการออกแบบและพัฒนาระบบการบริหารจัดการตามมาตรการ EV3) และได้เบิกจ่ายเพิ่มเติมอีก จำนวน 996.62 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบันยังคงเหลือที่ได้ไม่รับการจัดสรรรงบประมาณอีก จำนวน 5,019.53 ล้านบาท (11,917.34 – 6,897.81) ประกอบกับ กค. คาดว่าจะสามารถจำหน่ายและจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งผู้เข้าร่วมมาตรการ EV3 แจ้งข้อมูลต่อกรมสรรพสามิตว่ามีความพร้อมสำหรับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นไป

หากสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้แล้วก็จะขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์อีกจำนวน 16,500 คัน วงเงิน 2,475 ล้านบาท จึงทำให้ กค. ต้องใช้งบประมาณเพื่อดำเนินมาตรการ EV3 รวมทั้งสิ้น 7,494.53 ล้านบาท ซึ่ง สงป. แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 7,125.63 ล้านบาทแล้ว
 
ทั้งนี้ มาตรการ EV3 จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความต้องการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยสนับสนุนให้ราคาของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามีราคาลดลงใกล้เคียงกับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายในและช่วยสร้างแรงจูงใจให้มีการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค เป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ด้วยการลดใช้พลังงานเชื้อเพลิงประเภทฟอสซิลที่ก่อให้เกิดมลภาวะ

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้