Last updated: 14 ก.ย. 2567 | 294 จำนวนผู้เข้าชม |
ตอบรับกระแสธุรกิจสถานีชาร์จ EV บูม กรมธุรกิจพลังงานเปิดโครงการจัดการความรู้ในการกำกับดูแลสถานีบริการน้ำมันที่มีการติดตั้งเครื่องชาร์จ EV เพื่อให้บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจในการกำกับดูแลความปลอดภัย
นายวุฒิทัต ตันติเวสส รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เป็นประธานเปิดโครงการจัดการความรู้ (KM) เรื่อง การกำกับดูแลสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อและการดำเนินแผนเผชิญเหตุน้ำมันและสารเคมีรั่วไหล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรกรมธุรกิจพลังงานมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกำกับดูแลความปลอดภัยและแนวทางการส่งเสริมสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งแนวทางการส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อ และการดำเนินแผนเผชิญเหตุน้ำมันและสารเคมีรั่วไหล ให้สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาใช้ในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การประชุมจัดขึ้นที่ห้องประชุม 2 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี กรุงเทพฯ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ด้วยระบบ Zoom Meeting เมื่อเร็วๆนี้
ประเทศไทยมีการกำหนดมาตรฐานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแบบครอบคลุมตั้งแต่ชิ้นส่วนต่างๆของรถ แบตเตอรี่ รวมทั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้าให้กับรถ EV โดยอุปกรณ์และชิ้นส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้าไปประจำการในสถานีน้ำมันจะต้องผ่านการทดสอบการป้องกันการประทุไฟและการระเบิด (Explosive proof) ตามมาตรฐาน IEC EX EX-d และ ATEX
เนื่องจากปัจจุบันสถานีบริการน้ำมันมีการติดตั้งหัวชาร์จอีวีไว้บริการด้วย หากเกิดกระแสไฟฟ้าสูงๆ และมีการลัดวงจรจนเกิดไฟไหม้ขึ้นมา เพลิงมักจะไม่ไหม้เฉพาะหัวจ่าย แต่ไฟจะลามไปติดละอองน้ำมันที่ลอยอยู่ในอากาศบริเวณปั๊มด้วย จุดที่อันตรายที่สุดคือโซนสำหรับโหลดน้ำมันจากรถขนส่งน้ำมันเข้าถังน้ำมันขนาดใหญ่ของปั๊มที่อยู่ใต้ดิน ดังนั้นอุปกรณ์ที่อยู่ในปั๊มน้ำมันต้องเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ปะทุไฟ
อุปกรณ์ที่ต้องไม่ปะทุไฟเหล่านี้รวมถึงหลอดไฟ สวิตช์ควบคุม มอเตอร์ พัดลม ฯลฯ ซึ่งต้องผ่านการทดสอบโดยการนำเอาอุปกรณ์ไปใส่ในแชมเบอร์ จากนั้นจะปล่อยสเปรย์ไอน้ำมันหรือไอแก๊สเข้าไป แล้วจุดประกายไฟ แล้วดูว่าตัวฟิวลิ่งแต่ละแบบว่าป้องกันการปะทุได้ไหม
ในประเทศไทยมีฐานการทดสอบที่ได้รับการยอมรับในระดับอาเซียน คือ “PTEC” ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เพื่อรองรับการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์อยู่แล้ว
ที่มา : กรมธุรกิจพลังงาน