Last updated: 4 ก.ย. 2567 | 451 จำนวนผู้เข้าชม |
รถโดยสารด่วนพิเศษ BRT โฉมใหม่ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% เริ่มวิ่งให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา กทม.ใจดี เปิดให้นั่งฟรียันสิ้นเดือนพฤศจิกายน ตามไปดูว่า BRT EV รุ่นนี้มีอะไรใหม่ๆบ้าง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการให้บริการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (BRT) โดยไม่คิดค่าบริการเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. - 30 พ.ย. 2566 เนื่องจากมีการเปลี่ยนการให้สัมปทานการเดินรถ มาเป็นการจ้างประมูลเดินรถ โดย กทม. ไม่ทำวิธีการจ้างเก็บค่าโดยสาร เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการจ้างประมูลเดินรถ ที่ต้องมีการบริหารจัดการบัตรโดยสาร จ้างบุคคลากรจำหน่ายบัตรโดยสาร จัดหาเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เป็นต้น
การให้บริการฟรี ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชน เนื่องจากมีนักเรียนใช้บริการ BRT จำนวนมาก จึงอาจเป็นทางหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร และในระยะยาวจะมีการเปลี่ยนรถที่ใช้อยู่มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยภายในระยะเวลา 3 เดือนจากนี้ อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้บริการ เช่น การเพิ่มจำนวนรถ และเพิ่มป้ายจุดจอดรับ เป็นต้น
มาทำความรู้จักกับ BRT โฉมใหม่
รถโดยสารด่วนพิเศษ BRT โฉมใหม่ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% นี้ เริ่มให้บริการในวันที่ 1 กันยายน 2567 เป็นวันแรก ในระหว่างเวลา 06.00 – 22.00 น.
รถโดยสารรูปแบบใหม่สไตล์ Low floor
พื้นที่ทางเข้า-ออก และตัวรถโดยสารมีระดับความสูงจากระดับผิวถนนเพียง 34 เซนติเมตร เพื่อให้ผู้โดยสารขึ้น-ลงรถได้สะดวกปลอดภัย และเพื่อให้สามารถปรับเส้นทางรับ-ส่งผู้โดยสารบริเวณป้ายรถประจำทางได้อีกด้วย ปัจจุบันได้จัดทำชานรับ - ส่ง (ชั่วคราว) ซึ่งมีลักษณะต่ำเพื่อรองรับการใช้งาน
เป็นรถโดยสารปรับอากาศที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100 % แก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ส่งเสริมการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้จัดเตรียมรถไว้พร้อมให้บริการทั้งสิ้น 23 คัน
มีประตูเข้า-ออก เพิ่มขึ้น ฝั่งซ้ายจำนวน 2 ประตู และฝั่งขวาของตัวรถโดยสารอีก 1 ประตู
ถูกออกแบบให้มีทางลาดทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อรองรับการใช้งานของรถเข็นผู้พิการ (Wheel chair) ให้ใช้บริการได้อย่างสะดวก
อุ่นใจด้วยการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด CCTV จำนวน 5 ตัวภายในรถโดยสาร เพื่อจับภาพบริเวณตำแหน่งเครื่องจัดเก็บค่าโดยสาร และเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยภายในรถโดยสาร
มีการติดตั้งระบบ GPS เพื่อให้สามารถติดตามตำแหน่งรถผ่านแอพพลิเคชัน และมีจอแสดงข้อมูลตำแหน่งรถโดยสารเพื่อแจ้งข้อมูลแก่ผู้ใช้บริการ
มีจำนวนที่นั่งผู้โดยสารขนาดมาตรฐาน 30 ที่นั่ง อุปกรณ์ราวจับสำหรับพื้นที่ยืน และมีพื้นที่รองรับรถเข็นผู้พิการ (Wheel chair) ใกล้กับประตูเข้า-ออก
สามารถชำระค่าโดยสารด้วยบัตรแรบบิท หรือสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยจะไม่มีช่องทางการจำหน่ายบัตรโดยสาร
ปรับเพิ่มจุดรับส่งใหม่ 2 สถานี ได้แก่ สถานีถนนจันทน์เหนือ (บริเวณแยกจันทน์ - นราธิวาส) และสถานีถนนจันทน์ใต้ (บริเวณแยกรัชดา - นราธิวาส)
ที่มา : สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร