Last updated: 15 ส.ค. 2567 | 377 จำนวนผู้เข้าชม |
รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา เปิดไลน์การผลิต ALL NEW MG3 HYBRID+ของค่ายเอ็มจี คอนเฟิร์มนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ของภาครัฐ มุ่งผลักดันการผลิตและใช้ยานยนต์สมัยใหม่ครอบคลุมทั้งรถ BEV PHEV และ HEV
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดสายการผลิต ALL NEW MG3 Hybrid+ ณ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (WHA ESIE 2) จังหวัดชลบุรี โดยมี นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมสรรพสามิต กรมสรรพสามิต นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสุโรจน์ แสงสนิท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์–ซีพี ผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมเปิดงานเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าสายการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ ALL NEW MG3 Hybrid+ ของบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี เป็นตัวอย่างการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อการผลิตรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีศักยภาพในการผลิตรถยนต์ครอบคลุมทุกประเภท คือ รถยนต์สันดาปภายใน รถยนต์ไฮบริด รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า มุ่งเน้นการสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศผ่านการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว โดยแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานสำคัญด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ได้กำหนดวิสัยทัศน์และแผนงานเพื่อให้ “ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก”
“เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี ให้ความสำคัญกับการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และเป็นผู้ประกอบการรถยนต์สัญชาติจีนรายแรกที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ปัจจุบันมีรถยนต์ในประเทศไทยมากกว่า 220,000 คัน และตลอดระยะเวลากว่า 11 ปีที่ผ่านมา ได้สนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ มีส่วนสำคัญในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ที่สำคัญคือ มีการจ้างงานกับคนในพื้นที่และการสร้างงานให้ผู้ประกอบการในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ บริษัทฯ ที่ไม่เพียงแต่พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ 100% แต่ยังคงพัฒนาและนำเสนอรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม“ รัฐมนตรีฯพิมพ์ภัทรากล่าว
รัฐบาล กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมุ่งผลักดันการผลิตและใช้ยานยนต์สมัยใหม่ ทั้งที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าล้วน (BEV) กึ่งไฟฟ้า (PHEV) และไฮบริด(HEV) อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยคาร์บอน และเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ เพื่อตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ ขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุน และเชื่อมโยงผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเข้าสู่ยานยนต์สมัยใหม่ ให้ผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนสามารถเปลี่ยนผ่านและเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติหรือ ATTRIC ที่ได้รับมาตรฐานระดับโลก เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันจากการวิจัยและพัฒนายานยนต์ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ และหวังว่าอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทยจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อส่งต่อการสร้างอุตสาหกรรมและสังคมสีเขียวสำหรับคนรุ่นหลัง
ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม