Last updated: 7 ส.ค. 2567 | 943 จำนวนผู้เข้าชม |
รมต.พิมพ์ภัทรา คิกออฟสินเชื่อ ‘SME Green Productivity’ ดอกเบี้ยถูก 3%ต่อปี SME D Bank ผนึกพันธมิตร 11 หน่วยงานทั้งภาครับและเอกชน ขานรับนโยบายเพิ่มผลิตภาพเอสเอ็มอีมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบนโยบายและแถลงข่าวโครงการสินเชื่อ SME Green Productivity ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายนายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าว และมี นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการ และ นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ ณ ห้องแก้ววิเชียร ชั้น 11 อาคาร SME D Bank สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการเป็นประธานเปิด “โครงการสินเชื่อ SME Green Productivity ยกระดับ SMEs สู่อุตสาหกรรมสีเขียว” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งขับเคลื่อนนโยบายสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ยกระดับเพิ่มผลิตภาพเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว หรือ “Green Industry” ซึ่งจะสร้างประโยชน์ช่วยให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพการแข่งขันสูงขึ้น ลดต้นทุนธุรกิจและสามารถปรับตัวเข้ากับกฎกติกาการค้าใหม่ระดับสากล ควบคู่กับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ธรรมชาติ ภาคอุตสาหกรรมอยู่คู่ชุมชน เกิดการสร้างงานกระจายรายได้ นำไปสู่สังคมแห่งความสุข สร้างรากฐานแข็งแรงอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย
การเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่อุตสาหกรรมสีเขียวจำเป็นต้องใช้ความรู้ควบคู่เงินทุน เพื่อปรับเปลี่ยนระบบ อุปกรณ์ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี ทว่า ปัจจุบัน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในระบบที่มีกว่า 3.2 ล้านราย มากกว่าครึ่งเข้าไม่ถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินในระบบ รัฐบาลจำเป็นต้องช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน ผ่านโครงการ “สินเชื่อ SME Green Productivity” วงเงิน 15,000 ล้านบาท
รัฐบาลได้มอบหมายให้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เป็นหน่วยงานหลัก ทำงานร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ ของภาครัฐและเอกชน สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนในโครงการดังกล่าว ซึ่งมีจุดเด่นเป็นสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพียง 3% ต่อปี คงที่ 3 ปีแรก วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุดถึง 10 ปี ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 เดือนแรก ทั้งยังมีการผ่อนปรนเงื่อนไขและหลักทรัพย์ค้ำประกัน ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และมีระยะผ่อนชำระนานเพียงพอที่จะสามารถพัฒนายกระดับเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่อุตสาหกรรมสีเขียวได้อย่างราบรื่น
โครงการนี้ตั้งเป้าสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนและเพิ่มผลิตภาพได้กว่า 1,500ราย มุ่งสร้างประโยชน์ให้เกิดการจ้างงานกว่า 24,000 อัตรา สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 68,700 ล้านบาท อีกทั้งช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในธุรกิจเอสเอ็มอีได้ประมาณ 345,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank ขานรับนโยบายรัฐบาล ในการยกระดับเพิ่มผลิตภาพแก่เอสเอ็มอีให้เข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry ผ่านโครงการสินเชื่อ “SME Green Productivity” โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เบื้องต้น 11 แห่ง ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สถาบันยานยนต์ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
หน่วยงานทั้ง 11 แห่ง จะร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึง “การพัฒนา” เติมทักษะความรู้ยกระดับปรับเปลี่ยนธุรกิจ ควบคู่กับ “เครื่องมือทางการเงิน” (Climate Finance) ด้วยพาเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ นำไปพัฒนา ปรับเปลี่ยนระบบ อุปกรณ์ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีผลิตภาพสูงขึ้น พร้อมก้าวสู่อุตสาหกรรมสีเขียว สร้างการเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนให้ประเทศไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของรัฐบาล
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจ “สินเชื่อ SME Green Productivity” แจ้งความประสงค์ได้ที่สาขาของ SME D Bank ทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357
ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม