Last updated: 24 ก.ค. 2567 | 736 จำนวนผู้เข้าชม |
การมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำทำให้มีความต้องการแบตเตอรี่ โดยเฉพาะแบบลิเทียมไอออน เพราะมีการใช้กับยานยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีความจุพลังงานจำเพาะสูง มีอายุการใช้งานที่ยาวนานคุ้มค่า และยังมีแนวโน้มราคาที่ลดลงอีกด้วย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีอัตราความต้องการแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเติบโตมากกว่า 25% ต่อปี คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าในปี 2030
ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของการใช้ EV สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยปี 2023 มียอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าสูงถึงสัดส่วนร้อยละ 12% ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขายใหม่ทั้งประเทศ จึงเกิดความต้องการเทคโนโลยีรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพสูง
กระบวนการรีไซเคิลแบตเตอรี่ในปัจจุบันมักอาศัยความร้อนสูง หรือใช้กระบวนการที่ต้องใช้สารเคมีที่เป็นพิษ ความพยายามหลีกเลี่ยงกระบวนการทั้งสองแบบนี้นำมาสู่เทคโนโลยีใหม่ที่ลดการใช้พลังงาน ซึ่งจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ย่อมทำให้เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการลดการใช้โลหะหนัก โดยบางกระบวนการลดได้มากถึง 90% หากเทียบทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การทำเหมืองเพื่อให้ได้โลหะใหม่มาใช้
หัวใจหลักของเทคโนโลยีรีไซเคิลโดยตรงคือ จะไม่ใช่กระบวนการเผาด้วยความร้อนสูงที่มากกว่า 1,000 องศาเซลเซียสในเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่แบบเดิมที่เรียกว่า ไพโรเมทัลเลอร์จี (pyrometallurgy) นอกจากนี้ ยังไม่ใช่กระบวนการที่ต้องใช้สารละลายเคมีแบบที่เรียกว่า ไฮโดรเมทัลเลอร์จี (hydrometallurgy) ซึ่งทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
แต่เทคโนโลยีรีไซเคิลโดยตรงอาศัยกระบวนการทางกายภาพในการร่อน ตัด ย่อย บด และคัดแยกนำสารเพื่อนำกลับมาใช้สร้างเป็นขั้วแคโทด (cathode) ของแบตเตอรี่ขึ้นใหม่ ประเมินกันว่าเทคโนโลยีแบบนี้อาจไปถึงจุดที่นำชิ้นส่วนกลับมาใช้ได้มากถึง 90% อีกทั้งจะลดความต้องการสินแร่ใหม่เพื่อนำมาผลิตแบตเตอรี่ได้มากกว่า 25% ในปี 2030
การรีไซเคิลแบบนี้เหมาะกับแบตเตอรี่ที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมเศรษฐกิจแบบ BCG คาดว่าจะมีการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีแบบนี้มากกว่า 20% โดยมี EBITDA margin ของอุตสาหกรรมนี้มากกว่า 10%
ความโดดเด่นของเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่แบบโดยตรงกำลังเป็นที่จับตามองหลังจากที่ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดให้เป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามองจากการบรรยายพิเศษเรื่อง 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง (10 Technologies to Watch) ที่เวที Thailand Tech Show 2024 ซึ่ง สวทช. จัดขึ้นภายใต้งานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนด้วยพลังสหวิทยาการ (อว. แฟร์: SCI-POWER For Future Thailand) เป็นการคาดการณ์เทคโนโลยีที่จะมีผลกระทบได้อย่างชัดเจนใน 5 – 10 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง 2024 มีดังนี้
1. กล้ามเนื้อเทียม (Artificial Muscle)
2. จุลชีพในลำไส้เพื่อดูแลสุขภาพ (Human Gut Microbes for Healthcare)
3. แฝดดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ (Digital Twin in Healthcare)
4. การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบเอไอเสริม (Al-Augmented Software Development)
5. เทคโนโลยีอุปกรณ์สวมใส่ติดเอไอ (AI Wearable Technology)
6. เทคโนโลยีคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Privacy-Enhacning Technologies : PETs)
7. หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย (Security Robot)
8. เทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่แบบโดยตรง (Direct Battery Recycling Technology)
9. ไฮโดรเจนเพื่อการขับเคลื่อน (H2 for Mobility)
10. ยุคถัดไปของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ที่มา : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)