X

อีอีซีรวมพลัง 5 ภาคี ภาครัฐ-เอกชน ลงนาม MOU ศึกษาแนวทางหนุนผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนจ่ายไฟพลังงานสะอาด

Last updated: 19 ก.ค. 2567  |  245 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อีอีซีรวมพลัง 5 ภาคี ภาครัฐ-เอกชน ลงนาม MOU ศึกษาแนวทางหนุนผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนจ่ายไฟพลังงานสะอาด

อีอีซีรวมพลัง 5 ภาคี ภาครัฐ-เอกชน ลงนาม MOU โครงการศึกษาแนวทางการสนับสนุนให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสามารถจ่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้กับผู้ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าใหม่ หนุนให้เกิดการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ด้านพลังงานสะอาด

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการศึกษาแนวทางการสนับสนุนให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสามารถจ่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้กับผู้ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าใหม่ ร่วมกับ นายประดิษฐ์ เฟื่องฟู รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายฮาราลด์ ลิงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ นายกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100) นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน และ นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน และนายดอน ทยาทาน เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่าง อีอีซี และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้ง 5 หน่วยงานดังกล่าว ขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุน และสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่อีอีซีอย่างยั่งยืน ณ ห้อง Conference 1-2 สำนักงานอีอีซี เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2567


นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การลงนามฯ MOU ครั้งนี้ เป็นการสร้างเครือข่ายพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชน ที่จะร่วมกันศึกษาถึงแนวทางสนับสนุนให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน สามารถจ่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้กับพื้นที่ อีอีซี ผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าใหม่ โดยจะศึกษาและพิจารณาด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ระเบียบการขออนุญาตการตั้งระบบโครงข่ายไฟฟ้า การขอใช้ที่ดินในการสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า และระเบียบต่างๆ รวมไปถึงการศึกษาต้นทุนสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า การประเมินต้นทุนและผลประโยชน์เชิงสังคม (Social cost and Social benefit) เพื่อเป็นต้นแบบให้เกิดการคำนวนต้นทุนสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ในพื้นที่อื่น ๆ

ทั้งนี้ MOU ความร่วมมือดังกล่าว จะขับเคลื่อนการศึกษาร่วมกันกับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดการผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้กับพื้นที่อีอีซี สนับสนุนให้เกิดการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) โดยเฉพาะด้านพลังงานสะอาด ผลักดันการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม รองรับให้เกิดการลงทุนนวัตกรรมใหม่ สอดคล้องกับเป้าหมายพัฒนาในภาพรวมให้ก้าวสู่พื้นที่ Net Zero Carbon Emission ภายในปี 2065 รวมทั้งสร้างการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ของชุมชนและพื้นที่ ส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในพื้นที่อีอีซี



นายประดิษฐ์ เฟื่องฟู รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในการขับเคลื่อนพลังงานสะอาดของประเทศไทย และส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานสะอาด เพื่อรองรับและดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสะอาด ทาง กฟภ.จึงมีการดำเนินการต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าเพิ่มศักยภาพของโครงข่ายไฟฟ้าให้สามารถรองรับแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด การร่วมขับเคลื่อนนโนบายการให้บริการไฟฟ้าสีเขียว UGT: Utility Green Tariff หนุนให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียน มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในอนาคต รวมถึงการส่งเสริมการให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม หรือ Third Party Access Code : TPA Code เพื่อรองรับนโยบายส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าแบบเสรี ให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้โดยตรง

นายฮาราลด์ ลิงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความพร้อมในการผลิต จัดส่ง และจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งจากกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้า Cogeneration และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานไฟฟ้าสะอาด ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการด้านพลังงานสะอาด ที่มีความจำเป็นสำหรับการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่สำคัญในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดนี้ จะต้องมีการเปิดเสรีสำหรับการใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code : TPA Code) เพื่อส่งเสริมให้เกิดตลาดซื้อขายไฟฟ้าอย่างเสรี  ทั้งยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ซื้อไฟฟ้าที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยตอบสนองนโยบายภาครัฐในเรื่องการมุ่งสู่เป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2060

การเปิดเสรีให้ใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third party access) เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และจะมีส่งผลดีต่อกลไกทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมในเวทีโลกที่มุ่งเน้นในเรื่องของการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงสะอาด ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้มีการเปิดเสรีโดยเร็ว โดยจะต้องมีหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรม และราคาที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนให้เกิดการซื้อขายกันได้ นอกจากนี้ การปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2024) ต้องกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าโดยจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ให้ตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลในเรื่องการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้จริงด้วย เพราะจะเป็นปัจจัยที่การลงทุนจากต่างประเทศ

“การศึกษาครั้งนี้ในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นแหล่งที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากที่มีความต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาด จะช่วยให้การพัฒนาในเรื่องนี้ เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ จะส่งผลดีต่อประเทศ”


นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ นายกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100) กล่าวว่า ในอนาคตพลังงานหมุนเวียนจะกลายเป็นพลังงานหลักของระบบพลังงานโลก จะมีบทบาทที่สำคัญมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การสร้างงานที่มั่นคงและยั่งยืน และเป็นการสร้างโลกที่สะอาดและมีสุขภาพที่ดีขึ้นสำหรับคนรุ่นหลัง ขณะที่เทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนจะยังคงมีการพัฒนา และก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และเป็นเครื่องมือหลักของมนุษย์ชนในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ความท้าทายของการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน คือ การสร้างความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นและความเข้าใจของประชาชน ถึงข้อดีข้อเสียของพลังงานหมุนเวียน และการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุน และเพิ่มเสถียรภาพขึ้นมาได้เทียบเท่าหรือมากกว่าพลังงานจากฟอสซิล ทั้งยังหมายถึงโอกาสในการลงทุนใหม่หลายล้านๆบาท ภาครัฐและเอกชน จึงต้องร่วมมือกันฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ของการพัฒนาโครงข่ายของพลังงานหมุนเวียน เพราะการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ต้องรวดเร็วกว่าการพัฒนาระบบไฟฟ้าที่ผ่านมาหลายเท่าตัว


นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการทั่วโลกกำลังเผชิญกับแรงกดดันให้ใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก อันเนื่องมาจากมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษี หรือที่เรียกว่า Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งประเทศไทยยังมีความล่าช้าในการปรับตัวต่อสถานการณ์นี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศ (FDI) เริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย มูลนิธิฯ มีความกังวลว่าหากสถานการณ์นี้ยังคงดำเนินต่อไป ประเทศไทยอาจสูญเสียความน่าสนใจในฐานะแหล่งผลิตเพื่อการส่งออกในระยะเวลาอันสั้น ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งมูลนิธิฯ และประเทศชาติต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน

จากประเด็นดังกล่าวมูลนิธิฯ จึงได้ร่วมองค์กรพันธมิตร เพื่อผลักดันให้โครงการฯ นี้เป็นโครงการต้นแบบ การใช้พลังงานสะอาด สำหรับอุตสาหกรรมไทยและหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะทำให้อุตสาหกรรมไทย เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดที่มั่นคง มีราคาเป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของนักลงทุน และผู้ซื้อสินค้าและบริการจากนานาประเทศ


ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้