Last updated: 21 ก.ค. 2567 | 650 จำนวนผู้เข้าชม |
อว.เตรียมหนุนพัฒนาเรือนำเที่ยวไฟฟ้าแบบไฮบริด พลังงานลม-โซลาร์เซลล์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน เล็งเพิ่มศักยภาพให้ได้มาตรฐานสากลเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระดับภูมิภาคและนานาชาติ
หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง อว. ตรวจติดตามการพัฒนาเรือนำเที่ยวไฟฟ้าแบบไฮบริด พลังงานลม-โซล่าเซลล์ ผลักดันการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จาก อววน. เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ตามโครงการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคการผลิตและบริการ ของกปว.สป.อว.
นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม( หน.ผตร.อว.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน “โครงการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคการผลิตและบริการ” ของกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวง ในส่วนของ “โครงการพัฒนาเรือนำเที่ยวไฟฟ้าแบบไฮบริด พลังงานลม-โซล่าเซลล์ เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดกระบี่ ประเทศไทย” โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งมี นายเอกพงศ์ มุกสิกะเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) ผศ.ดร. มนตรี เลื่องชวนนท์ หัวหน้าโครงการ และคณาจารย์จาก ม.อ.วิทยาเขต หาดใหญ่และภูเก็ต พร้อมด้วยตัวแทนผู้ประกอบการการท่องเที่ยวอ่าวแหลมสัก ให้การต้อนรับ ณ บุหลันอันดา บะบ๋า รีสอร์ท อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ กปว.สป.อว. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567
การตรวจผลการดำเนินงานครั้งนี้ หน.ผตร.อว. ได้เยี่ยมชมเรือไฮบริดพลังงานลม-โซล่าเซลล์ เพื่อการท่องเที่ยว ดัดแปลงมาจากเรือหัวโทงของท้องถิ่นจังหวัดกระบี่ ขนาด 23 กง รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม upper-class ขนาดไซส์ทัวร์ 15-20 คน/เที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความตระหนักด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เห็นว่าโครงการดังกล่าว สอดรับแผนการขับเคลื่อนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานด้าน อววน. เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน เพิ่มศักยภาพให้ได้มาตรฐานในระดับสากลและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระดับภูมิภาคและนานาชาติได้ ทั้งนี้ หน.ผตร.อว. ได้ให้ข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. เห็นควรสนับสนุนโครงการในระยะที่ 2 เพื่อสามารถทดสอบศักยภาพและปรับปรุง function การเดินเรือไฮบริดนำเที่ยวที่สามารถแก้ไขประเด็นปัญหาเรื่องมลภาวะทางเสียง ไอเสียและน้ำมันเครื่องที่ไหลลงทะเล จากเรือหัวโทงแบบดั้งเดิม และเป็นต้นแบบเรือไฮบริดนำเที่ยวในพื้นที่อื่นๆ เช่น การดูนกที่ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง และการท่องเที่ยวในพื้นที่กลุ่มทะเลอันดามัน
2. ประเด็นการจดสิทธิบัตร(patent) และค่าตอบแทนนักวิจัย/สถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัด ขอให้มีการดำเนินงานอย่างรอบคอบและเหมาะสม เพื่อให้เป็นไปตาม พรบ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัย และนวัตกรรม พ.ศ.2564
3. ให้มีการตรวจสอบและติดตามหลักเกณฑ์การอุดหนุนอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความล่าช้าในขั้นตอนสนับสนุนการดำเนินการ
ที่มา : กระทรวง อว.