Last updated: 12 ก.ค. 2567 | 380 จำนวนผู้เข้าชม |
เยาวชนไทยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอีกครั้ง จากสนามการแข่งขัน Shell Eco-marathon Asia Pacific and Middle East 2024 โดยทีม RMUTP Racing จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร คว้ารองชนะเลิศ ประเภท รถต้นแบบ (Prototype Category) ด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) จากเชื้อเพลิงเอทานอล เพียง 1 ลิตร วิ่งได้ระยะทางเทียบเท่า 892 กิโลเมตร
การแข่งขัน Shell Eco-marathon Asia Pacific and Middle East 2024 เป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ทีมเยาวชนจากสถาบันการศึกษาในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง ได้เข้าร่วมแสดงความคิดสร้างสรรค์และทักษะทางวิศวกรรม ในการประดิษฐ์ยานพาหนะที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 กรกฎาคม 2567 ณ สนามแข่งรถนานาชาติมันดาลิกา ในเมืองลอมบอก จังหวัดนูซาเติงการาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย มีทีมจากสถาบัน การศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 78 ทีมจาก 12 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม จีน อินโดนีเซีย อินเดีย คาซัคสถาน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
ทีมเยาวชนไทยที่เข้าร่วมแข่งขันในรายการนี้ทั้งหมด 4 ทีม ประกอบด้วย ทีมจากวิทยาลัยการอาชีพอัมพวา วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร โดยทีม RMUTP RACING จากม.เทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ที่พัฒนานวัตกรรมยานยนต์ประหยัดพลังงาน ประเภทรถต้นแบบ (Prototype Category) หมวดเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) เชื้อเพลิงประเภทเอทานอล 100 คว้ารางวัลรองชนะเลิศ จากการใช้เชื้อเพลิงเพียง 1 ลิตร วิ่งได้เทียบเท่าระยะทาง 892.5 กิโลเมตร ไต่อันดับขึ้นจากที่ 4 ของการแข่งขันรายการเดียวกันเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา
นางสาวอรอุทัย ณ เชียงใหม่ ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “การแข่งขัน Shell Eco-marathon Asia Pacific and Middle East จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเวทีสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อรับมือกับความท้าทายในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้เยาวชนจากทั่วภูมิภาคนำความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (STEM) มาออกแบบ สร้างยานพาหนะที่ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เราหวังว่านวัตกรรมเหล่านี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการปฏิวัติการใช้พลังงานในอนาคต สอดคล้องกับกลยุทธ์ Powering Progress ที่สนับสนุนเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคนอย่างยั่งยืน"
ในการแข่งขัน Shell Eco-marathon Asia Pacific and Middle East 2024 แต่ละทีมจะต้องผ่านการตรวจสอบขั้นตอนทางเทคนิคเพื่อให้มั่นใจถึงความปลอดภัย จึงจะลงแข่งขันในสนามได้ การแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ รถต้นแบบ – Prototype ซึ่งมี 3 ล้อ น้ำหนักเบา ออกแบบรูปร่างของรถโดยเน้นการลดแรงต้านทาน เพื่อใช้พลังงานได้น้อยที่สุด ส่วนรถประเภทแนวคิด เมือง-Urban Concept มี 4 ล้อ ลักษณะรูปร่างใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ใช้งานจริงบนท้องถนนทั่วไปผู้เข้าแข่งขันแต่ละประเภทจะสามารถเลือกใช้พลังงาน ได้ 3 ประเภท ได้แก่ แบตเตอรี่ไฟฟ้า เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และเครื่องยนต์สันดาปภายใน (น้ำมันเบนซิน เอทานอล หรือดีเซล)
การแข่งขัน Shell Eco-marathon Asia Pacific and Middle East 2025 กำลังจะมีขึ้นอีกครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ พร้อมเปิดรับเยาวชนไทยที่มีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ให้มาร่วมการแข่งขัน เพื่อโชว์ศักยภาพให้เป็นที่ประจักษ์ในเวทีระดับภูมิภาคด้วยกันอีกครั้ง