X

3 การไฟฟ้าบูรณาการความร่วมมือปรับปรุงความเชื่อถือได้ของระบบชูแนวคิด Green Energy & Reliability

Last updated: 3 ก.ค. 2567  |  507 จำนวนผู้เข้าชม  | 

3 การไฟฟ้าบูรณาการความร่วมมือปรับปรุงความเชื่อถือได้ของระบบชูแนวคิด Green Energy & Reliability

3 การไฟฟ้า บูรณาการความร่วมมือปรับปรุงความเชื่อถือได้ของระบบชูแนวคิด Green Energy & Reliability ครอบคลุมการใช้เทคโนโลยีจัดเก็บพลังงานไฮโดรเจน หรือแบตเตอรี่ การใช้ Smart Grid บริหารจัดการพลังงานและโหลดจาก EV และเทคโนโลยี Smart Charging

MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง ร่วมประชุมคณะกรรมการปรับปรุงความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า 3 การไฟฟ้า ครั้งที่ 53 ภายใต้แนวคิด Green Energy & Reliability โดยมี นายพิพัฒน์ ชลอำไพ รองผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง ในฐานะประธาน นายณัฐวุฒิ ผลประเสริฐ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายอุดมศักดิ์ เต็มวงษ์ รองผู้ว่าการปฏิบัติการระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ 3 การไฟฟ้า ร่วมประชุม ณ โรงแรม Centara Grand at Central World เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567

การประชุมนี้เป็นความร่วมมือของทั้ง 3 การไฟฟ้า ที่บูรณาการร่วมกันเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเพิ่มความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าในด้านต่าง ๆ ให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า และภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ได้รับบริการด้านพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพ ระบบไฟฟ้ามีความเพียงพอ มั่นคง เชื่อถือได้ และปลอดภัย ทั้งยังให้ความสำคัญกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากยานพาหนะไฟฟ้า (EV) ซึ่งส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นวงกว้าง นับเป็นความท้าทายของ 3 การไฟฟ้า ทั้งในด้านการขับเคลื่อนนโยบาย และเทคโนโลยี ตอบสนองต่อความต้องการด้านพลังงานของประชาชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


คณะกรรมการและคณะทำงานการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย 8 คณะ ดังนี้ 1. คณะทำงานปรับปรุงระบบป้องกัน 2. คณะทำงานด้านมาตรฐานอุปกรณ์และการบำรุงรักษา 3. คณะทำงานประเมินระดับความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า 4. คณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 5. คณะทำงานศึกษาและกำหนดค่าที่เหมาะสมของ Power Quality 6. คณะทำงานความร่วมมือด้านสื่อสารโทรคมนาคม 7. คณะทำงานความร่วมมือด้านระบบไฟฟ้าแบบ Smart Grid และ 8. คณะทำงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ของเทคโนโลยีระบบปฏิบัติการ


ภาพรวมการประชุมในครั้งนี้ ครอบคลุมการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems) ไฮโดรเจน หรือแบตเตอรี่ การใช้งานระบบ Smart Grid ในการบริหารจัดการแหล่งผลิตพลังงานและโหลดจาก EV ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยบริหารจัดการเวลาและปริมาณการชาร์จ (Smart Charging) ทั้งหมดนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ที่จะนำไปสู่การปรับปรุงระบบไฟฟ้าของประเทศไทยให้มีความมั่นคงและเชื่อถือได้ยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ที่มา : การไฟฟ้านครหลวง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้