Last updated: 17 มิ.ย. 2567 | 460 จำนวนผู้เข้าชม |
“อนุทิน – ศุภมาส” ร่วมแถลงแนวทาง “การสร้างกำลังคนรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ตั้งเป้า 5 ปีผลิตด้านเซมิคอนดักเตอร์ 80,000 คน - EV 150,000 คน - AI 50,000 เผยเตรียมหลักสูตร และสร้างศูนย์ฝึกอบรมรองรับทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มุ่งยกระดับประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้รับมอบหมายจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้เป็นประธานในพิธีเปิดงานแถลงวิสัยทัศน์ “เตรียมทัพกำลังคน สร้างอุตสาหกรรมอนาคต” IGNITE THAILAND : Future Workforce for Future Industry ขณะที่ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงแนวทาง “การสร้างกำลังคนรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” โดยมีคณะรัฐมนตรี ผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567
นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า ท่านนายกรัฐมนตรีไปเจรจาการค้า การลงทุน กับบริษัทใหญ่ๆ มามากมายทั่วโลก บริษัทใหญ่ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย ล่าสุด ได้ข่าวว่า บริษัท APPLE จะมาตั้ง APPLE Campus หรือสำนักงานอีกแห่งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์การพัฒนา “นักพัฒนาซอฟท์แวร์” (Software Developer) การเชื้อเชิญอุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามาลงทุนจึงไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นการพัฒนาที่สำคัญ ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรม เศรษฐกิจของประเทศไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทค (High Tech) ที่มีมูลค่าสูงขึ้น นวัตกรรมต่างๆ ที่ใช้ในอดีต กำลังค่อยๆ ถูกแทนที่ไปเรื่อยๆ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ชั้นสูงมากมาย อย่างเช่นอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (Semiconductor and Advanced Electronics) ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ประเทศไทยเรามีพื้นฐานอยู่ในทุกๆ ด้านและพร้อมที่จะต่อยอด
นอกจากความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่รัฐบาลเร่งสร้างและเชื้อเชิญการลงทุนต่างๆ แล้ว วันนี้ กระทรวง อว. ภายใต้การนำของรัฐมนตรีศุภมาส ได้เตรียมการส่วนที่สำคัญที่สุด คือ การพัฒนาและเพิ่มทักษะของคน (Upskill / Reskill) ประกอบด้วยกลไก 4 ด้าน ได้แก่ 1.โปรแกรมการพัฒนาคน ที่มีทั้งการทำหลักสูตรแบบใหม่ การเน้นการฝึกงาน และการร่วมมือกับศูนย์ฝึกอบรม 2.การให้สิทธิประโยชน์ทางการเงิน สำหรับการฝึกอบรม 3.การสนับสนุนงบประมาณ ที่ช่วยเหลือในการพัฒนาทักษะ และ 4.การประสานงานระหว่างภาคการศึกษา และภาคเอกชน ทั้งไทยและต่างประเทศ
“ขอเชิญให้คนไทยทุกคนที่สนใจเรียนรู้และพัฒนา มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการเหล่านี้ เพื่อพัฒนาทักษะ เตรียมความพร้อมในการทำงานในอุตสาหกรรมไฮเทค และช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมไปด้วยกัน” นายอนุทิน กล่าว
ด้าน น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. มีแผนงานสร้างและพัฒนากำลังคนครอบคลุมในทุกระดับ ตั้งแต่กำลังคนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม นักวิจัย รวมถึงการผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรี โท เอก โดยในระยะ 5 ปีข้างหน้าตั้งเป้าผลิตกำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงไว้ที่ 80,000 คน ด้าน EV 150,000 คน และด้าน AI 50,000 คน ปัจจุบัน ได้เริ่มดำเนินการผลิตกำลังคนรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตไปแล้ว 6 โครงการ ซึ่งมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ โดยมี 3 โครงการที่เป็น Quick Win เห็นผลในระยะสั้น ได้แก่
1.การพัฒนาและเพิ่มทักษะ (Upskill/Reskill) เช่น โครงการ STEM PLUS หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น สำหรับกำลังคนที่อยู่ในอุตสาหกรรม โดยมีแรงจูงใจให้บริษัทเอกชนที่ส่งบุคลากรมาเรียน สามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไปลดหย่อนภาษีได้ 250% ปัจจุบันมีหลักสูตรด้านอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง 150 หลักสูตร ด้าน EV 124 หลักสูตร ด้าน AI 313 หลักสูตร ตั้งเป้าผลิตกำลังด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง 12,500 คนต่อปี ด้าน EV 24,000 คนต่อปี ด้าน AI 8,000 คนต่อปี
2.โครงการ Coop+ หรือ สหกิจศึกษาพลัส ที่นำนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์มาพัฒนาทักษะเพิ่มเติมและฝึกงานกับภาคอุตสาหกรรม หลังจบการศึกษาแล้วยังสามารถทำงานกับบริษัทได้ทันที โดยตั้งเป้าผลิตกำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์ 1,500 คนต่อปี เริ่มนำร่องไปแล้วกับ 8 บริษัทชั้นนำ ขณะที่ด้าน EV และ AI ก็จะใช้รูปแบบเดียวกัน โดยตั้งเป้าด้าน EV 500 คนต่อปี ด้าน AI 500 คนต่อปี
3.โครงการสหกิจศึกษาในต่างประเทศ โดยการส่งนักศึกษาไปฝึกงานในมหาวิทยาลัยหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ 3 ด้านนี้ในต่างประเทศ
รมว.อว. กล่าวต่อว่า ขณะที่โครงการที่ 4 ถึง 6 เป็นแผนระยะกลางและยาว ที่จะเห็นผลภายใน 2-4 ปี โดยโครงการที่ 4 คือ การจัดทำหลักสูตรแซนด์บอกส์ เซมิคอนดักเตอร์ ทั้งระดับปริญญาตรีและโท โดย 15 มหาวิทยาลัย คาดว่าจะผลิตกำลังคนได้ 1,300 คนต่อปี ด้าน EV จะเปิดสอนได้ในปีหน้า และด้าน AI ได้เปิดสอนแล้ว 2 หลักสูตรใน 6 มหาวิทยาลัยที่ ตั้งเป้าผลิตกำลังคนให้ได้ 1,000 คนต่อปี 5.การจัดทำหลักสูตรเซมิคอนดักเตอร์ EV และ AI ร่วมกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ ระดับปริญญาตรีและโท เป็นหลักสูตร International Program ตั้งเป้าผลิตกำลังคนไม่น้อยกว่า 200 ตนต่อปี และ 6.การสนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก ล่าสุดได้ร่วมมือกับอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน สหราชอาณาจักร ในการส่งนักเรียนทุนไปเรียนต่อในระดับปริญญาเอกด้านเซมิคอนดักเตอร์ และจะดำเนินการในลักษณะเดียวกันในด้าน EV และด้าน AI
“ขณะเดียวกันยังมีแผนการยกระดับห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ให้เป็นศูนย์ฝึกอบรม (Training Centers) เพื่อรองรับการพัฒนากำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง EV และ AI ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค ตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะมีจำนวน 10 แห่ง ด้าน EV จำนวน 15 แห่ง และด้าน AI จำนวน 9 แห่ง นอกจากนี้ กระทรวง อว. จะนำ 6 แนวทางนี้ไปขยายผลให้ครอบคลุม 8 อุตสาหกรรมใน IGNITE THAILAND โดยได้เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น การจัดทำหลักสูตรแซนด์บอกส์ ปัจจุบันมี 14 หลักสูตร เช่น ด้านการบิน เปิดสอนแล้ว 2 หลักสูตร ด้านสุขภาพและการแพทย์ มี 4 หลักสูตร ที่เปิดสอนแล้ว เป็นต้นที่สำคัญกระทรวง อว. ยังมีแผน จัดสรรทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีในการผลิตคนใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ทั้งที่เป็นทุนภายใต้การกำกับของกระทรวง อว. หรือร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยได้มีการหารือการจัดสรรทุนของ กยศ. สำหรับนักศึกษาใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้แล้ว” น.ส.ศุภมาส กล่าว
ที่มา : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม