Last updated: 7 มิ.ย. 2567 | 265 จำนวนผู้เข้าชม |
กรมสรรพสามิต ลงนาม MOU กับ บีไอจี วัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน กำหนดแนวทางสู่การบรรลุเป้า Net Zero ของสรรพสามิตทั่วประเทศ สอดคล้องยุทธศาสตร์ ESG สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน
ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต และนายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อสร้างความร่วมมือในการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงแนวทางในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการ การปล่อยก๊าซคาร์บอนของกรมสรรพสามิต นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ที่หอประชุมกรมสรรพสามิต
อธิบดีกรมสรรพสามิต และกรรมการผู้จัดการ บีไอจี ร่วมลงนาม MOU เพื่อสร้างความร่วมมือในการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงแนวทางในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการ การปล่อยก๊าซคาร์บอนของกรมสรรพสามิต
ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การลงนาม MOU ในครั้งนี้เป็น ความร่วมมือระหว่างกรมสรรพสามิต และ บีไอจี เพื่อร่วมมือกันวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน และกำหนดแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในพื้นที่กรมสรรพสามิต และสำนักงานสรรพสามิตภาคและพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการที่ทางบีไอจี จะช่วยทำให้ทราบถึงปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของกรมสรรพสามิต รวมถึงแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยช่วงแรกจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่กรมสรรพสามิตก่อน จากนั้นจะมีการขยายไปยังภาคและพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศต่อไป
ทั้งนี้ การทราบข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน จะช่วยให้กรมฯ ใช้เป็นข้อมูลที่จะนำมากำหนดกลยุทธ์เชิงรุก ตัวชี้วัดและแผนปฏิบัติการต่าง ๆ ของกรมฯ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ของกรมสรรพสามิตทั่วประเทศ
“สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนทั่วทั้งโลก กรมสรรพสามิตตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงเร่งผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกมิติโดยมีการเดินหน้าในเรื่องนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการเปลี่ยนผ่านและขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ไม่ว่าจะเป็น มาตรการรถยนต์ไฟฟ้า EV 3.0 และ EV 3.5 พลาสติกชีวภาพ ภาษีคาร์บอน และอื่น ๆ เป็นต้น นอกเหนือจากบทบาทสำคัญของกรมฯ ในการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Net Zero แล้ว ภายในองค์กรกรมฯ ได้มีการเดินหน้าและดำเนินการมาตรการต่าง ๆ รวมถึงส่งเสริมให้มีการลดการใช้ทรัพยากรหรือใช้ทรัพยากรอย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทุกมิติ
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยให้กรมฯ ทราบถึงปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน และแนวทางการใช้พลังงานที่เกิดประสิทธิภาพ เพื่อเป็นข้อมูลใช้แนวทางการยกระดับการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรทั้งระบบ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ของกรมสรรพสามิตทั่วประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน” ดร. เอกนิติ กล่าว
ที่มา : กรมสรรพสามิต