Last updated: 11 เม.ย 2567 | 641 จำนวนผู้เข้าชม |
คณะกรรมการฯ อว. For EV ศึกษาดูงาน EV โรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ชีพี จำกัด และบริษัท นูออโว พลัส จำกัด เร่งขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศตามนโยบายของรมว.กระทรวงอว.
รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อว. For EV) เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโนบายของนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ที่ต้องการผลักดันให้กระทรวง อว. เป็นกระทรวงหลักในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ พร้อมทั้งเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก หรือ ศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชีย นำทีมเยี่ยมชมโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ณ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ชีพี จำกัด และบริษัท นูออโว พลัส จำกัด เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567
ทั้งนี้ รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ได้นำทีมผู้แทนคณะกรรมการฯ และนักวิชาการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ม.ราชภัฏกำแพงเพชร ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รวมทั้ง ปส. เข้าเยี่ยมชมงานแห่งแรกที่ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ชีพี จำกัด จังหวัดชลบุรี โดยมีนายสุโรจน์ แสงสนิท รองประธานกรรมบริหาร และในฐานะอุปนายก สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ให้การต้อนรับ และบรรยายเกี่ยวกับกระบวนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน (รถยนต์ เอ็มจี) ซึ่งมีจำหน่ายภายในประเทศ รวมทั้งการส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน พร้อมเปิดให้คณะกรรมการฯ และนักวิชาการ เข้าศึกษาดูงานทั้งในโรงงานประกอบรถยนต์ และโรงงานแบตตารี่ของบริษัท เพื่อให้รับทราบในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต
ในวันเดียวกัน คณะกรรมการ อว. For EV ได้เดินทางเข้าศึกษาดูงานโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าต่อ ณ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด จังหวัดระยอง โดยมี นายปัณณวิชญ์ เพี้ยนภักตร์ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการผลิตและวิจัยพัฒนา ให้การต้อนรับ พร้อมให้นักวิชาการให้การบรรยายในขั้นตอนการผลิตและจัดจำหน่ายแบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออนฟอสเฟต Lithium iron phosphate battery (LFP) ด้วยนวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่ SemiSolid ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมทั้งรับชมห้องปฏิบัติการที่มีความทันสมัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้สอบถามถึงแผนและแนวทางการพัฒนาศักยภาพกำลังคน รวมถึงการพัฒนากำลังผลิตของบริษัท เพื่อนำไปใช้เป็นแบบอย่างในการขับเคลื่อนและพัฒนาการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องของกระทรวง อว. ต่อไป