Last updated: 1 เม.ย 2567 | 1629 จำนวนผู้เข้าชม |
เอ็มเทค สวทช. ร่วมกับ พันธมิตรภาคอุตสาหกรรม เปิดตัว “ค้ำคูณ” ต้นแบบรถสามล้อไฟฟ้ารุ่นใหม่ ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก บพข. เผยเป็นโครงการตอบสนองการพัฒนาการขนส่งอัจฉริยะ เล็งขยายผลสู่การผลิตเชิงพาณิชย์
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยกลุ่มวิจัยระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ (RMT) ร่วมกับ บริษัท เทคโนโลยีอีสานเหนือ จำกัด โดย วิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ เปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้าต้นแบบรุ่นใหม่ “ค้ำคูณ” ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อยกระดับขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสร้างผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ พร้อมเป็นหนึ่งตัวอย่างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การขนส่งสาธารณะในเมือง
ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ สวทช. กล่าวว่า “การพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งแห่งอนาคตและระบบนิเวศธุรกิจ” การขนส่งแห่งอนาคตนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ตลอดจนส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ เราได้รวบรวมผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการขนส่งแห่งอนาคตมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการพัฒนาธุรกิจภายใต้บริบทเศรษฐกิจสีเขียวและการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตอย่างยั่งยืนผ่านการเปิดตัวต้นแบบ “ค้ำคูณ” ผลงานจากโครงการวิจัยร่วมระหว่างเอ็มเทค สวทช. ร่วมกับ บริษัท เทคโนโลยีอีสานเหนือ จำกัด โดย วิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า “บพข. ร่วมกับ สกสว. ได้ปรับแผนด้าน ววน. (วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) มุ่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็น Flagship สำคัญของกองทุนส่งเสริม ววน. เพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ โดยในปี 2566 บพข. ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ววน. ด้านยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 445.5 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2567 จำนวน 610 ล้านบาท โดยได้สนับสนุนทุนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีเกี่ยวเนื่องในหลายด้านรวมถึงการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟ้ฟ้าและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง
ต้นแบบรถสามล้อไฟฟ้า “ค้ำคูน”ได้ตอบโจทย์การวิจัยในด้านนี้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก บพข.ในโปรแกรม 10 ยกระดับความสามารถการแข่งขันและวางรากฐานทางเศรษฐกิจ แผนงานย่อยการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบคมนาคมแห่งอนาคต และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในปีงบประมาณ 2565 และบพข. พร้อมสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีเกี่ยวเนื่อง เพื่อยกระดับเทคโนโลยี เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ เพื่อให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียนต่อไป
ทั้งนี้ยานยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ “ค้ำคูณ” นับเป็นหนึ่งในแผนงาน EV-Innovation ของ สวทช.ในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การขนส่งสาธารณะในเมือง และตอบตอบสนองนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะในภูมิภาค มีแผนขยายผลนวัตกรรมนี้สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ และต่อยอดสู่การใช้งานไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยหากแต่รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านต่อไป
ที่มา : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
8 ก.ย. 2567