X

พิพัฒน์ รมว.กระทรวงแรงงงาน พร้อมส่งแรงงานฝีมือ 100,000 คน เข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2568

Last updated: 24 มี.ค. 2567  |  441 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รมว.กระทรวงแรงงงาน พร้อมส่งแรงงานฝีมือ 100,000 คน เข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2568

"พิพัฒน์" รมว.กระทรวงแรงงงาน พร้อมส่งแรงงานฝีมือ 100,000 คน เข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2568 เร่งเดินหน้าพัฒนาแรงงานระดับปฏิบัติการ ช่างเทคนิค วิศวกรไฟฟ้า และนักพัฒนาซอฟท์แวร์ รองรับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และอะไหล่ยานยนต์ไฟฟ้า

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  กล่าวในเวทีเสวนาในหัวข้อ การยกระดับการทำงานของคนไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567ว่า กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการพัฒนาแรงงานฝีมือ รองรับและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติตามนโยบายรัฐบาล และมาตรการส่งเสริมการลงทุน การสนับสนุนนโยบายด้านการลงทุนของประเทศไทย ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค ทั้งในส่วนการผลิตและประกอบยานยนต์ แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์สถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า และอะไหล่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ ในปี 2568 กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีเป้าหมายพัฒนาแรงงานฝีมือ จำนวน 10,097,015 คน การพัฒนาแรงงานนวัตกรรมเพื่อรองรับการลงทุน จำนวน 100,000 คน การเร่งติดอาวุธและพัฒนาคุณภาพแรงงาน ตั้งแต่วัยเรียนเพื่อลดการขาดแคลนแรงงานในระยะสั้น 1,000,000 คน


นายพิพัฒน์ กล่าวถึงปัจจัยที่มีผลต่อความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยว่า จำนวนแรงงานฝีมือที่มีความรู้ความเข้าใจในงานด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มีจำนวนน้อยกว่าความต้องการของอุตสาหกรรม ประกอบกับภาครัฐมีงบประมาณส่งเสริมการพัฒนาแรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจำนวนจำกัด จึงทำให้การพัฒนาแรงงานมีจำนวนแรงงานฝีมือไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรม แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยอย่างยั่งยืน จะต้องอาศัยการพัฒนาให้ประเทศไทยจากประเทศผู้รับจ้างผลิตไปสู่ประเทศผู้ผลิต ซึ่งนำมาสู่การจ้างงานที่ยั่งยืน



ขณะเดียวกันต้องมีการเร่งพัฒนาแรงงานฝีมือเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งในส่วนระดับผู้ปฎิบัติการ อาทิ ช่างเทคนิครวมถึงวิศวกรยานยนต์ วิศวกรไฟฟ้า นักพัฒนาซอฟแวร์ เป็นต้น รวมถึงการสร้างนโยบายส่งเสริมการลงทุน จากบริษัทฯ ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลกในประเทศไทย พร้อมกำหนดข้อตกลงในการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในการวิจัย พัฒนา รวมทั้งการผลิตและประกอบยานยนต์ แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์สถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า และ อะไหล่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทย การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นที่แพร่หลาย โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์สาธารณะ และยานยนต์ในองค์กรของรัฐ ตลอดจนการศึกษาอย่างจริงจังในส่วนการนำแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้ากลับมาใช้สำหรับกิจการอื่นๆ รวมถึงการรีไซเคิลชิ้นส่วน และการทำลายขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม


“กระทรวงแรงงานจะทำงานร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะสำนักงานอาชีวศึกษา พัฒนาหลักสูตรการอบรมที่เกี่ยวเนื่องกับ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานนานาชาติ  สนับสนุนและติดอาวุธสำหรับนักเรียน นักศึกษา ที่ศึกษาในภาควิชาด้านวิศวกรรม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ผ่านการอบรมทักษะของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งผลักดันโครงการ CREDIT BANK เพื่อกระตุ้นให้นักเรียน นักศึกษา สนใจพัฒนาทักษะฝีมือ พร้อมเสริมสร้างประสบการณ์การทำงานตั้งแต่วัยเรียน ซึ่งนำไปสู่การลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในระยะยาว มีการพัฒนาระบบแนะแนวอาชีพที่มีความต้องการของอุตสาหกรรมในอนาคต มีการลงทุนช่วงระยะ 10 ปีข้างหน้า ในกลุ่มครูแนะแนวในระดับประถมศึกษา และ มัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” นายพิพัฒน์ กล่าวในที่สุด



 ที่มา : กระทรวงแรงงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้