X

อว.เดินหน้าลุย 3 โปรเจกต์เปลี่ยนโลก เร่งสร้างกำลังคน EV ส่งเสริมหน่วยงานใช้รถยนต์ไฟฟ้า พัฒนาอุตฯ EV เป็น Flagships

Last updated: 18 ก.พ. 2567  |  933 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อว.เดินหน้าลุย 3 โปรเจกต์เปลี่ยนโลก เร่งสร้างกำลังคน EV ส่งเสริมหน่วยงานใช้รถยนต์ไฟฟ้า พัฒนาอุตฯ EV เป็น Flagships

จับตา อว.เดินหน้าลุย 3 โปรเจกต์เปลี่ยนโลก เร่งสร้างกำลังคน EV 150,000 คน ส่งเสริมหน่วยงานในสังกัดใช้รถยนต์ไฟฟ้า มุ่งสู่ Green campus ตั้งเป้าหมายพัฒนาอุตฯยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็น Flagships มั่นใจนำไทยสู่ EV HUB ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประกาศเดินหน้าแผนพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศทันที หลังนายกฯ มีคำสั่งแต่งตั้ง รมว.อว. เป็น ‘บอร์ดอีวี’ เร่งดำเนินการ 3 แผนงาน ‘พัฒนากำลังคน เพิ่มสัดส่วนการใช้รถ EV และหนุนงบวิจัย EV ทั้งระบบ’ ตามนโยบายรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอันดับหนึ่งของภูมิภาค และ 10 อันดับแรกของโลก



โดยมีเป้าหมายผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2573 คิดเป็นกำลังการผลิตรถ EV ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าประมาณ 675,000 คัน เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ทั้งนี้การพัฒนากำลังคน (EV-HRD) คือการพัฒนาทักษะกำลังคน ต้องมีการ ยกระดับทักษะ (Up-skill) สร้างทักษะ (Re-skill) และเสริมทักษะใหม่ (New-skill) เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ การออกแบบ การผลิต การพัฒนาซอฟแวร์ และการซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า สถานีบรรจุไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐาน มีเป้าหมายในการผลิตกำลังคน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 150,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี

โดยปี 2567 จะผลิตกำลังคนให้ได้ 5,000 คน โดยมอบหมายให้ สภานโยบายอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน
 
“ที่ผ่านมาได้มีการเริ่มจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมยานยนต์ไฟฟ้าในทุกมหาวิทยาลัยที่มีคณะวิศวฯ หรือราชมงคล อว.ได้หารือกับมหาวิทยาลัยให้มีการพัฒนาหลักสูตรยานยนต์หรือเครื่องกลอยู่แล้วให้มีเพิ่มในเรื่องของ EV และได้ร่วมกับหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการ มีการให้สิทธิพิเศษ หรือการสนับสนุนบุคลากรที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยานยนต์สันดาปเป็น EV รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเดิมให้สามารถปรับเปลี่ยนระบบรองรับอุตสาหกรรม EV และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ”

ด้านการเพิ่มสัดส่วนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ได้มีแผนดำเนินการในรูปแบบ EV-Transformation การส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้ อว. ปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ สถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงขึ้น และจัดทำระบบต้นแบบการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของกระทรวง อว. เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของ Green campus โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานอื่นของกระทรวง อว.

อว.มีส่วนราชการ มหาวิทยาลัย วิทยาลัยต่างๆ รวมกว่า 200 หน่วยงาน มีบุคลากรมากว่า 2 แสนคน มีนักศึกษาที่ดูแลในระบบ 1 ล้าน 7 แสนคน และยังมีนอกระบบอีก เท่าที่ประเมินดูพบว่ามีการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลประมาณ 45,000 คัน มอเตอร์ไซค์ประมาณ 5 แสนคัน ยังมีส่วนแฝงอยู่ที่นับไม่ได้ ที่ใช้อยู่ในมหาวิทยาลัย ยังไม่รวมที่ในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีรถกอล์ฟ รถราง รถมินิบัส รถบัส รถบรรทุก รถกระบะอีกมากมาย บางมหาวิทยาลัยมีเป็นร้อยคัน เราจะส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนรถในสังกัด อว.และมหาวิทยาลัยให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2030 ตามนโยบายของรัฐบาล

“กระทรวงได้มีการจัดทำแพล็ตฟอร์มรวบรวมการปรับเปลี่ยนรถในมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานของอว.ทั้งหมด รวมทั้งมีการรายงานผลในเรื่องการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เห็นว่าเราช่วยโลกได้เท่าไหร่ ทุกหน่วยงานสามารถเข้ามาเรียนรู้จากแพล็ตฟอร์มของอว.ที่ขณะนี้กำลังพัฒนาแอพอยู่ เราจะเป็นกระทรวงนำร่อง เป็นกระทรวงแรกที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เป็นแหล่งสะสมองค์ความรู้ที่สำคัญในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์สู่ EV เพื่อที่จะสามารถเรียนรู้ และถอดบทเรียนให้เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานราชการ และเอกชน”

ในส่วนของการหนุนงบวิจัย EV ทั้งระบบ หรือ EV-Innovation เป็นการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยปรับปรุงแผนด้าน ววน. ให้มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ให้เป็น Flagships 1 ใน 15 แผนงานสำคัญ

เพราะฉะนั้น EV จะไม่ถูกทอดทิ้ง ที่สำคัญของกองทุนส่งเสริม ววน. และเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) มาร่วมดำเนินการขับเคลื่อนงานวิจัย

ที่ผ่านมามีการให้ทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเป็นการจัดสรรงบประมาณ ววน.สาขายานยนต์ไฟฟ้า ผ่านหน่วยงานบริหารและจัดการทุน (PMU) โดยในปี 2566 จัดสรรงบประมาณผ่าน บพข. 445.5 ล้านบาท NIA 90 ล้าน มูลค่ารวม 535.5 ล้านบาท ปี 2567 จัดให้ บพข. 610 ล้านบาท NIA 100 ล้านบาท มูลค่าร่วม 710 ล้านบาท ทั้งนี้ได้มีการตั้งประมาณการงบประมาณ 5 ปี รวมทั้งสิ้น 3,500 ล้านบาท

สำหรับกลไกการให้ทุนวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของกระทรวง อว. สามารถที่จะให้ทุนโดยตรงกับสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา หรือผู้ประกอบการ โดยเน้น 3 ด้านหลักๆ

1.โครงสร้างพื้นฐานและส่วนประกอบสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า ในเรื่องการพัฒนาสถานีชาร์จ ทำอย่างไรให้มีจำนวนมาก ติดตั้งได้รวดเร็ว ต้องมีการพัฒนาแบตเตอรี่ให้เก็บประจุได้มากขึ้น ชาร์จได้ไวขึ้น

2.การให้ทุนวิจัยแพล็ตฟอร์มและบริการสนับสนุน สมัยนี้ Application เข้ามามีบทบาทมาก ต้องมีการพัฒนาแพล็ตฟอร์มรองรับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การพัฒนาแอพฯจองคิวชาร์จแบตเตอรี่ ทุกวันนี้มีบางคนกลัวว่าจะไปชาร์จรถ EV ที่ไหน รอคิวนานเท่าไหร่ เลิกงานไปชาร์จได้ไหม เป็นเรื่องที่ต้องซัพพอร์ตเอนด์ยูสเซอร์ให้มาใช้รถอีวีเยอะๆ

3.การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่มีลักษณะเฉพาะ ยานยนต์เชื่อมต่อ และขับขี่อัตโนมัติ ประเทศไทยแข่งขันในอุตสาหกรรม EV แบบรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยาก อาจต้องไปเน้นรถบัส มินิบัส หรือว่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแทน รวมทั้งต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอนาคตโดยเน้นในเรื่องของประสิทธิภาพความปลอดภัย

ทั้งหมดคือรายละเอียดแผนปฏิบัติการรองรับนโยบาย อว. For EV EV-HRD การพัฒนาทักษะกำลังคน EV-Transformation การส่งเสริมหน่วยงาน อว. ให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และ EV-Innovation การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า โดยการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในกระทรวง อว. เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม EV ยกระดับคุณภาพชีวิตในหลายมิติ ถ้าหากทำได้สำเร็จตามเป้าหมายย่อมสามารถเปลี่ยนโลกยานยนต์สู่ EV ได้อย่างยั่งยืน

“กระทรวง อว. มั่นใจว่าแผนงานทั้ง 3 นี้ จะเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็น EV HUB ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และก้าวไปสู่เป้าหมายการผลิตยานยนต์ไม่ปล่อยมลพิษร้อยละ 30 ภายใน 5 ปี ตามที่รัฐบาลต้องการได้อย่างแน่นอน” นางสาวศุภมาส กล่าวในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้