X

ม.เกษตรศาสตร์ ฟิต! จัดสัมมนาควบฝึกอบรมฯ มุ่งผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ไทยสู่ EV HUB ของอาเซียน

Last updated: 7 ก.พ. 2567  |  924 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ม.เกษตรศาสตร์ ฟิต! จัดสัมมนาควบฝึกอบรมฯ มุ่งผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ไทยสู่ EV HUB อาเซียน

ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมกับ สอวช. สวทช. EVAT สถาบันยานยนต์ และพันธมิตรยานยนต์ไฟฟ้า ร่วมผลักดันการขับเคลื่อนยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ของไทย สู่ EV HUB ของอาเซียน ในรูปแบบงานสัมมนา และการอบรมเชิงปฏิบัติการ

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา นำโดยผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม วิทยาเขตศรีราชา (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุเทน สุปัตติ) และกองบริหารการวิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สอวช. สวทช. EVAT สถาบันยานยนต์ และพันธมิตรยานยนต์ไฟฟ้า จัดสัมมนาในหัวข้อ “การผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ของไทยสู่ EV Hub ของอาเซียน” เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2567 ณ โรงแรม เฮลท์ แลนด์ รีสอร์ต แอนด์ สปา เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการนที่ 28 มกราคม 2567 ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดชลบุรี


ผู้ช่วยดร.สุภัทรชัย ชมพันธุ์ ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร วิทยาเขตศรีราชา ผู้แทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา กล่าวว่าที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) และพันธมิตร จัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาแล้ว 2 ครั้ง เชื่อว่า EV และพลังงานจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ดังนั้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้กำหนดให้ EV และพลังงาน เป็นหนึ่งในจำนวน 9 ด้านของแผนปฏิบัติการ New S-Curve


การจัดสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าและบุคลากรในประเทศไทย ให้สามารถคิดค้นวิจัยและพัฒนานวัตกรรมได้ด้วยตนเอง รวมทั้งยังเป็นการเตรียมตัวสำหรับโอกาสใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น มีการอัพเดตนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ พร้อมการเรียนรู้จากตัวอย่างนโยบายการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมจำนวนมากจากทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ EV Hub ของอาเซียนต่อไป


คุณสุโรจน์ แสงสนิท  รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์- ซีพี จำกัด และ อุปนายกฯ ฝ่ายอุตสาหกรรม และการพัฒนาธุรกิจ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “พลิกโฉมอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย “ยานยนต์ไฟฟ้า โอกาส ความพร้อม และความท้าทาย” ได้มีการบรรยายให้ทราบถึงสถานการ์ณปัจจุบัน ความพร้อม และโอกาสของอุตสาหกรรมยายนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ที่มีแนวโน้มในการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมีหมุดหมายในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี (EV Hub) และชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค

เอสเอไอซี มอเตอร์- ซีพี คาดว่าในปี 2573 ไทยจะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 725,000 คัน ต่อปี คิดเป็น 30 %ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ความตรงนี้ยืนยันได้จากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย มีจำนวนมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน คิดเป็นกว่า 79% แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยพร้อมเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นผลมาจากการสร้างการรับรู้การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทำให้มีการการใช้งานอย่างแพร่หลายจากการที่ภาครัฐมีมาตรการสนับสนุน และมีการกำหนดมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ซึ่งมีส่วนชักจูงให้นักลงทุนต่างประเทศสนใจการเข้ามาลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนได้ตระหนักถึงความท้าทายและอุปสรรคในการที่เป็น EV Hub นั้น ยังคงเป็นคำถามที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน เช่น การส่งเสริมการพัฒนาโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างเพียงพอ การสร้างกฎระเบียบ มาตรฐาน และแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า การผลักดันนโยบายและมาตรการด้านการจัดการแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แล้ว รวมถึงการพัฒนากำลังคนและพัฒนาความสามารถด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี


ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย เลขานุการคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นักยุทธศาสตร์ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย (ECAT) ได้กล่าวถึงทิศทางนโยบายและแนวทางการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี EV Conversion โดยนำเสนอ สถานการณ์แนวโน้มและความท้าทาย นโยบายและเป้าหมายที่ประเทศกำหนดไว้ การรับมือด้วยยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่าน การพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญและการสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนกลไกเพื่อสนับสนุนการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในส่วนของภาครัฐ ผ่านคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ และภาคเอกชน ผ่านหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานที่จำเป็น เช่น สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทย เป็นต้น


ดร.อุเทน สุปัตติ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม วิทยาเขตศรีราชา ถ่ายทอดบทเรียนการดัดแปลงรถบรรทุกขนาดเล็กไฟฟ้าเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยให้ข้อมูลประสบการณ์ แนวทางการดัดแปลง การทดสอบที่สำคัญ ปัญหาอุปสรรค การนำไปใช้งานจริงตลอดจนข้อเสนอแนะจากผู้ใช้งานจริง เพื่อนำไปสู่แนวทางการกำหนดทิศทางการขับเลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงของประเทศไทยต่อไป

การเสวนาหัวข้อ “ประเทศไทยกับการเตรียมพร้อมสู่การเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน” : มาตรฐาน การทดสอบ และการจดทะเบียน ผู้เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนะ เยี่ยงกมลสิงห์ กรรมการ สมาคม EVAT ดร.ธงชัย จินาพันธ์ กรรมการ สมาคม EVAT ดร.กมล เอื้อชินกุล ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) นายวรธน สุขสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนกทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า สถาบันยานยนต์ และ ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย โดยมี ผศ.ดร.อุเทน สุปัตติ เป็นผู้นำการประชุม โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้เข้าร่วมการประชุมในประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ การสนับสนุนเชิงนโยบายจากภาครัฐ ความปลอดภัย มาตรฐานศูนย์ทดสอบ การบังคับใช้กฎหมาย และการเตรียมความพร้อมของบุคลากร ที่ต้องมีการบูรณาการทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เป็นต้น

ไฮไลท์ที่น่าสนใจของการจัดสัมมนาครั้งนี้อยู่ที่การอบรมเชิงปฏิบัติการในวันที่สอง ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ทองประศรี พร้อมทีมงานอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา และ ทีมงานจาก บริษัท KBM Technology ได้นำคณะผู้เข้าอบรมเรียนรู้เกี่ยวกับมอเตอร์และพื้นฐานระบบการขับเคลื่อนในการประยุกต์ใช้ในด้านยานยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย


ที่มา : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้