X

มข.จับมือ ออสก้า โฮลดิ้ง เปิดตัวมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า STROM แบตเตอรี่ UVOLT "โครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน"

Last updated: 25 ม.ค. 2567  |  1275 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มข. จับมือ ออสก้า โฮลดิ้ง เปิดตัวมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า STROM แบตเตอรี่ UVOLT และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่

มข. จับมือ ออสก้า โฮลดิ้ง เปิดตัวมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า STROM แบตเตอรี่ UVOLT และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ ในรูปแบบ "โครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน” พร้อมให้บริการทั้งในรูปแบบขายและเช่า เผยเป็นโครงการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Smart City ของเทศบาล

ทั้งนี้"โครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน” เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ บริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด โดยมหาวิทยลัยขอนแก่นเป็นผู้พัฒนา  แบตเตอรี่ UVOLT และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่  ส่วนมอเตอร์โซค์ไฟฟ้า STROM เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่าง มข.และ ออสก้า โฮลดิ้ง


รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความเข้มแข็งในด้านการค้นคว้าวิจัย และคิดค้นขึ้นใหม่จากนวัตกรรมเชิงวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์มาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และเป็นสถาบันที่มีนักศึกษาอยู่ประมาณ 38,000 คัน มีบุคลากรกว่า 10,000 คัน ทำให้มีการใช้รถจักรยานยนต์หลายหมื่นคัน จึงมีแนวคิดว่าหากสามารถเปลี่ยนรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันมาเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจะส่งผลดีในแง่ของการใช้พลังงานสะอาดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงร่วมมือกับ บริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด จัดทำ “โครงการบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน” ในรูปแบบของการนำผลิตภัณฑ์ที่เป็น Deep Technology หรือเทคโนโลยีระดับสูง สู่การใช้งานจริง


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเสริมว่า การดำเนินการครั้งนี้มีผลเชิงยุทธศาสตร์ Great Place to Live มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นไปตามที่สภามหาวิทยาลัยขอนแก่นกำหนดให้มีการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมเป็น Green University หรือ มหาวิทยาลัยสีเขียว มีการบูรณาการอนุรักษ์ด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อมเข้าไปในการเรียน การสอน การวิจัย และในทุกกิจกรรม “โครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน” สนับสนุนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยในประเด็นการสนับสนุนทางด้านงานวิจัย และนวัตกรรมการพัฒนาแบตเตอรี่ให้สามารถนำมาใช้ได้จริง รวมทั้งประเด็นการส่งเสริมยุทธศาสตร์ “Education Transformation” การปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการซ่อม หรือ การดูแลรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมยุทธศาสตร์ Social Contribution การมีส่วนร่วมในการสนับสนุน หรือช่วยเหลือสังคม ที่ส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) หลายด้าน อาทิ SDG 7 : Affordable and Clean Energy  พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้  SDG 13 Climate Action ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น การลดฝุ่นละอองจากการใช้เครื่องยนต์ SDG 11 Sustainable Cities and Communities ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย และยั่งยืน


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาวุธ ยิ้มแต้ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มข.มีเป้าหมายสำคัญสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีส่วนร่วมให้ประเทศไทยเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 “โครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน” เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มุ่งมั่นลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการขนส่ง โดยใช้ยานพาหนะไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  หวังว่าโครงการนี้จะเป็นต้นแบบให้กับการใช้พลังงานสะอาด ในภาคการขนส่งให้กับหน่วยงานอีกหลายแห่งในประเทศไทย เพื่อช่วยกันประหยัดพลังงานสำหรับโลกอนาคต และร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกตามนโยบาย Net Zero อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน



รองศาสตราจารย์ ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ กล่าวว่า โรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำหน้าที่ผลิตแบตเตอรี่แบรนด์ UVOLT ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน UNR 136 และ มอก.2952-2561 และจำหน่ายให้กับ STROM ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของไทย นอกจากนี้โรงงานฯ ยังสามารถผลิตแบตเตอรี่เพื่อรองรับการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องการแบตเตอรี่ เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ทางการเกษตร และระบบกักเก็บพลังงานร่วมกับโซล่าร์เซลล์

“การให้บริการและศักยภาพของโรงงานแบตเตอรี่และพลังงายยุคใหม่ มีการรับรองการผลิตที่ถูกกฎหมายและมีผลิตภัณฑ์หลายอย่าง ซึ่งรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอีกตัวอย่างที่รองรับการใช้งานแบตเตอรี่ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันโรงงานแบตเตอรี่อยู่ระหว่างการรองรับให้เป็นห้องปฏิบัติการทดสอบที่มีมาตรฐาน ในอนาคตหวังว่าโรงงานแห่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนด้านยานยนต์ไฟฟ้า การกักเก็บพลังงานสมัยใหม่ที่ใช้แบตเตอรี่ที่ได้มาตรฐานและเป็นการพัฒนาแบตเตอรี่โดยใช้เทคโนโลยีไทย”



พันโท หม่อมราชวงศ์ พีรานุพงศ์ ภาณุพันธ์ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการ บริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า การผลักดันการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยรุ่นที่หลักๆที่เป็นการร่วมมือระหว่างบริษัท กับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คือรุ่น STROM Gorilla เป็นรถจักรยานยนต์รุ่นใหญ่ สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ เหมาะกับบุคลากร นักศึกษา และ บุคคลทั่วไป ราคาเริ่มต้น 69,900 บาท อีกรุ่นจะเป็นรุ่นที่เล็กลงมา คือ รุ่น STROM Seal เหมาะสำหรับขับขี่ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย หรือขับขี่ภายในตัวเมือง มีทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีราคาเริ่มต้น 59,900 บาท ทั้งนี้บุคลากรและนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถนำแบตเตอรี่มาสับเปลี่ยนได้ฟรีที่สถานีสับเปลี่ยนภายในมหาวิทยาลัย

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่าเทศบาลมียุทธศาสตร์ของจังหวัดในด้าน Smart City  ที่สนับสนุนด้าน Smart environment และ Smart mobility และกำลังทำเรื่องลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านโครงการที่หลากหลาย เมื่อมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกาศนโยบายว่ามีโครงการในลักษณะนี้เราต้องรีบเข้ามาช่วยและให้ความร่วมมือทันที มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ากับมอเตอร์ไซค์ใช้น้ำมันราคาแตกต่างกันไม่มาก จะจูงใจให้คนมาใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าได้อย่างไร แม้จะเป็นสิ่งที่ยากแต่เป็นสิ่งที่หลายภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งในด้านการสร้างสำนึกรักสิ่งแวดล้อม การสร้างแรงจูงใจที่เป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ใช้งาน ซึ่งไม่หวังให้เป็นจริงภายในเร็ววัน แต่เชื่อว่า Smart City จะเกิดขึ้นได้จริงในที่สุด เพราะโครงการนี้ไม่ได้ส่งผลดีแค่เฉพาะหน่วยงานเท่านั้นแต่ประโยชน์สูงสุดจะตกอยู่กับประชาชนและ สิ่งแวดล้อม


นายสุรชัย สินประกอบ พลังงานจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เรามีหน้าที่นำผลงานวิจัยของทุกท่าน หรือนำความร่วมมือระหว่างเอกชน กับ มหาวิทยาลัยไปเผยแพร่สู่ประชาชนให้ได้รับทราบและได้ใช้งาน สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเลือกได้ 2 แนวทาง คือ  1. การทำสัญญาเช่าราย 3 เดือน – 1 ปี โดยสามารถใช้ทั้งจักรยานยนต์ไฟฟ้าและมาสลับแบตเตอรี่ได้ฟรี และ 2. การซื้อ สามารถซื้อเป็นเงินสดหรือขอสินเชื่อผ่านธนาคารออมสิน และกรุงศรีออโต้ ซึ่งค่างวดถูกสุด ไม่เกินเดือนละ 1,500 บาท รถของสตรอมส์อีวีสามารถชาร์จที่บ้านก็ได้ หรือ หากใช้ในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็มีตู้ให้บริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่

ผู้ใช้บริการสามารถนำแบตเตอรี่ที่หมดแล้วเข้าตู้สับเปลี่ยนเอาแบตเตอรี่ก้อนใหม่ออกไปใช้ในเวลาไม่ถึง 1 นาที ผู้ที่สนใจสามารถมาดูและสั่งจองรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างเลือกพื้นที่ในการจัดตั้งโชว์รูม และศูนย์บริการซ่อมภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น



 

บรรยากาศงานแถลงข่าว “โครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้าโดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน” โดยมี รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาวุธ ยิ้มแต้ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม รองศาสตราจารย์ ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ พันโท หม่อมราชวงศ์ พีรานุพงศ์ ภาณุพันธ์ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการ บริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด นายสุรชัย สินประกอบ พลังงานจังหวัดขอนแก่น และนายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น  ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567

 ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียด รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ได้ที่

https://www.facebook.com/STROM.EV/

 

ที่มา : มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้