X

วิจัยกรุงศรีฯ วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ยานยนต์ไฟฟ้า ปี 2567-2569 พร้อมเผย 4 ข้อจำกัดการเติบโต

Last updated: 16 มิ.ย. 2567  |  2953 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วิจัยกรุงศรีฯ วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ยานยนต์ไฟฟ้า ปี 2567-2569 พร้อมเผย 4 ข้อจำกัดการเติบโต

วิจัยกรุงศรีฯ วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ยานยนต์ไฟฟ้า รถยนต์นั่งไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า และรถยนต์เชิงพาณิชย์  ปี 2567-2569 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 270,000 คัน 2,500 คัน และ 1,000 คัน ตามลำดับ พร้อมเผย 4 ข้อจำกัดการเติบโต

วิจัยกรุงศรีฯ ได้วิเคราะห์ภาพรวมแนวโน้มอุตสาหกรรมไทยในระยะ 3 ปี ข้างหน้า (ปี 2567-2569) ครอบคลุมโอกาสและปัจจัยท้าทายที่สะท้อนความน่าสนใจ (Attractiveness) ในการทำธุรกิจของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค และปัจจัยภายในเฉพาะด้านของอุตสาหกรรม โดยในส่วนของสถานการณ์ยานยนต์ไฟฟ้าในปีที่ผ่านมา “วิจัยกรุงศรีฯ” ได้วิเคราะห์ว่า...

  • ช่วง 10 เดือนแรก จำนวนรถยนต์ไฟฟ้า (xEV) ที่จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นทุกประเภท แบ่งเป็นรถยนต์นั่งไฟฟ้า 139,435 คัน (96.1% YoY) รถโดยสารไฟฟ้า 1,211 คัน (187.6% YoY) รถกระบะและรถบรรทุกไฟฟ้า 395 คัน (797.7% YoY) โดยมีปัจจัยกระตุ้นจาก (1) มาตรการสนับสนุนของภาครัฐ (ทั้งมาตรการให้เงินอุดหนุนและลดภาษีสรรพสามิต) (2) การพัฒนาโมเดลที่หลากหลายมากขึ้น (ในเดือนกรกฎาคม 2566 มีจำนวนโมเดลรถยนต์นั่งไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ 37 โมเดล จาก 21 แบรนด์) และ (3) การพัฒนาประสิทธิภาพของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (เช่น รถยนต์นั่งไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ในปี 2566 รุ่นราคา 0.8-1.0 ล้านบาท สามารถวิ่งได้ไกลมากกว่า 400 กิโลเมตรต่อ 1 รอบการอัดประจุ ตามมาตรฐาน Worldwide Harmonised Light Vehicle Test Procedure (WLTP) ของ United Nation (UN))
  • รถยนต์นั่งไฟฟ้าและรถโดยสารไฟฟ้ามีสัดส่วน 23.9% และ 17.3% ของรถยนต์จดทะเบียนใหม่ทั้งหมดในกลุ่มรถยนต์นั่งและรถโดยสาร ตามลำดับ ขณะที่รถกระบะและรถบรรทุกไฟฟ้ามีสัดส่วนเพียง 0.19% ของจำนวนรถกระบะและรถบรรทุกที่จดทะเบียนใหม่เท่านั้น ส่วนหนึ่งมาจากข้อจำกัดของรถกระบะและรถบรรทุกไฟฟ้าในด้านระยะทางวิ่งในการขนส่ง จำนวนสถานีอัดประจุในต่างจังหวัด และราคาที่เกินกำลังซื้อ ทั้งนี้รถยนต์นั่งไฟฟ้ามีความได้เปรียบจากการมีเฟสของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของตลาด โดยเริ่มต้นจาก HEV เปลี่ยนผ่านไปสู่ PHEV และ BEV ตามลำดับ ทำให้สามารถเข้าถึงตลาดได้ง่ายกว่ารถโดยสารไฟฟ้าและรถยนต์เชิงพาณิชย์ไฟฟ้าที่เริ่มต้นจาก BEV ซึ่งตลาดยังต้องใช้เวลาในการยอมรับ
  • ในช่วงที่เหลือของปี ยอดขายจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น ได้อานิสงส์จาก (1) การเร่งจำหน่ายรถยนต์นั่งไฟฟ้าภายใต้มาตรการเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (EV 3.0) ให้ทันภายในสิ้นปี 2566 โดยเฉพาะในงาน Motor Show ที่จัดในเดือนธันวาคม (2) การเพิ่มการให้บริการรถโดยสารไฟฟ้าของเอกชนที่ให้บริการในกรุงเทพฯ ทำให้คาดว่าทั้งปี 2566 รถยนต์นั่งไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า และรถยนต์เชิงพาณิชย์ไฟฟ้า จะมียอดจดทะเบียนรวม 170,000 คัน 1,500 คัน และ 500 คัน ตามลำดับ


ขณะเดียวกันยังได้มีการวิเคราะห์แนวโน้มในอีก 3 ปี ข้างหน้า (ปี 2567-2569) มีรายละเอียดดังนี้

  • ยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์นั่งไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า และรถยนต์เชิงพาณิชย์ไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 270,000 คัน 2,500 คัน และ 1,000 คัน ตามลำดับ จาก (1) มาตรการ EV3.5 (ปี 2567-2570) ที่ภาครัฐได้อนุมัติให้เงินสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในช่วงราคา 50,000-100,000 บาทต่อคัน (2) แนวโน้มด้านราคาที่จะปรับตัวลงจากจำนวนรุ่นและแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น (3) ปริมาณการผลิตรถยนต์นั่ง BEV ภายในประเทศที่จะเพิ่มขึ้นในช่วง 4 ปีข้างหน้า ตามเงื่อนไขผลิตชดเชยการนำเข้าของ BOI (4) อุปสงค์ล่วงหน้าในช่วงก่อนอัตราภาษีสรรพสามิตจะเริ่มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป และ (5) การใช้รถโดยสารไฟฟ้าทั้งแบบสาธารณะและส่วนบุคคลที่มีแนวโน้มมากขึ้น (เช่น EEC ได้ตั้งเป้าใช้รถโดยสารไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 คัน ภายในปี 2571)
  • ปัจจัยที่ยังเป็นข้อจำกัดการเติบโต ได้แก่ (1) จำนวนสถานีอัดประจุที่อาจยังเพิ่มขึ้นไม่เพียงพอ (2) แนวโน้มการจำกัดการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้าโดยสถาบันการเงิน (3) รถโดยสารไฟฟ้าที่ผลิตทั้งหมดเป็นรถโดยสารปรับอากาศ ขณะที่กรมขนส่งทางบกมีข้อกำหนดจำกัดสัดส่วนการให้บริการรถโดยสารแบบปรับอากาศเพื่อลดต้นทุนในการเดินทางของผู้โดยสารระดับกลาง-ล่าง และ (4) ข้อจำกัดด้านระยะทางวิ่งที่ยังเป็นข้อจำกัดในการให้บริการขนส่งระหว่างจังหวัด
 
ที่มา : วิจัยกรุงศรีฯ

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้