X

ไทยสำรวจพบแหล่งลิเทียมผลิตแบตรถอีวีได้มากกว่า 1 ล้านคัน รมว.อุตสาหกรรม เร่ง กพร.จัดหาแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ

Last updated: 4 ม.ค. 2567  |  11464 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

พิมพ์ภัทรา เร่ง กพร. จัดหาแหล่งวัตถุดินผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เบื้องต้นสำรวจพบแปลงลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง เผยแหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรอง 14.8 ล้านตัน สามารถผลิตแบตเตอรี่รถ EV ขนาด 50 kWh ได้มากกว่า 1 ล้านคัน

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งจัดหาแหล่งวัตถุดิบสำหรับผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ผลสำรวจเบื้องต้นพบแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตแบตเตอรี่ในเชิงพาณิชย์ ขานรับมติ ครม. เริ่มใช้มาตรการ EV 3.5 ตั้งแต่ 2 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าลิเทียมเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV จึงได้สั่งการให้ กพร. เร่งสำรวจแหล่งแร่ลิเทียมที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตว่าประเทศไทยจะมีลิเทียมในการผลิตแบตเตอรี่เพื่อรองรับการตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้ สอดรับกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน


นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กพร. ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบเพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง เพื่อสำรวจแหล่งลิเทียมในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า หินอัคนีเนื้อหยาบมากสีขาวหรือหินเพกมาไทต์ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพาแร่เลพิโดไลต์สีม่วงหรือแร่ที่มีองค์ประกอบของลิเทียมมาเย็นตัวและตกผลึกจนเกิดเป็นแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% และแหล่งบางอีตุ้มที่อยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียดเพื่อประเมินปริมาณสำรอง

“หากมีการอนุญาตประทานบัตร คาดว่าลิเทียมจากแหล่งเรืองเกียรติจะสามารถนำแร่ลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน ที่สำคัญคือเทคโนโลยีการแต่งสินแร่ลิเทียมในปัจจุบันสามารถควบคุมและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี”

นอกจากนี้ กพร. ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถ Reuse และ Recycle แบตเตอรี่ที่ใช้แล้วและนำกลับมาใช้เป็นแหล่งพลังงานซ้ำ (Second Life EV Batteries) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก อาคารบ้านเรือน สำนักงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร เพื่อรองรับการบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่ผ่านการใช้งานแล้วในอนาคตตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย

“นโยบาย EV 3.5 ของรัฐบาลสร้างแรงจูงใจให้บริษัทยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ ๆ เข้ามาตั้งฐานการผลิตภายในประเทศ หากประเทศไทยมีปริมาณสำรองลิเทียมเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นส่วนสำคัญที่สร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มูลค่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และจะส่งผลดีต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและซัพพลายเชนทั้งระบบ รวมทั้งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งด้านการลงทุนและการจ้างงาน กพร. จึงเร่งดำเนินการอนุญาตอาชญาบัตรให้มีการสำรวจแหล่งลิเทียมเพื่อกำหนดเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองเพิ่มเติม โดยจะเร่งอนุญาตประทานบัตรทำเหมือง เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคต่อไป” นายอดิทัตฯ กล่าวทิ้งท้าย


ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้