Last updated: 27 พ.ย. 2566 | 527 จำนวนผู้เข้าชม |
รองนายกฯ ภูมิธรรม หารือ ประธานฉางอัน เสนอให้พิจารณาหนุนวิจัยและพัฒนายานยนต์ OEM ส่งเสริม Supply Chain และพัฒนาบุคลากรวิศวกรรมยานยนต์ไทย ให้ได้เรียนรู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งทดลองนั่งรถยนต์ไฟฟ้า รุ่น DEEPAL S07 และ DEEPAL L07
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายจรู ฮวาหลง(Mr.Zhu Huarong) ประธานบริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล และคณะ ที่ห้องรับรอง ชั้น 11 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ว่า กระทรวงพาณิชย์ชื่นชมในการเติบโตและความสำเร็จของฉางอัน ออโตโมบิล ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของจีน ที่มีความเชี่ยวชาญในกระบวนการทำงานด้านต่าง ๆ ทั้งการวิจัยและพัฒนารถยนต์ รวมถึงทุกขั้นตอนในการทดสอบและตรวจสอบคุณภาพรถยนต์ รวมถึงได้ก่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา 10 แห่ง ในกว่า 6 ประเทศ ในจีน อิตาลี ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และเยอรมัน พร้อมร่วมมือกับแบรนด์รถยนต์ชื่อดังของโลกหลายแบรนด์ เช่น Ford / Mazda / Suzuki และ Peugeot เป็นต้น
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประชุมหารือกับนายจรู ฮวาหลง(Mr.Zhu Huarong) ประธานบริษัทฉางอัน ออโตโมบิล และคณะ เมื่อวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องรับรอง ชั้น 11 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
โครงการลงทุนของฉางอัน ออโตโมบิล ได้รับการอนุมัติจาก BOI เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศครั้งสำคัญของไทยในปี 2566 และเป็นโครงการลงทุนครั้งใหญ่แห่งแรกนอกประเทศจีนของฉางอัน ออโตโมบิล ซึ่งมีเป้าหมายผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรมนุษย์ ห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยบริษัทจะพัฒนาโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด 4 จังหวัดระยอง บนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คาดว่าจะสร้างรายได้กว่า 24,000 ล้านหยวน (ประมาณ 118,000 ล้านบาท) และเกิดการจ้างงานกว่า 2,600 อัตรา
“การลงทุนในไทยเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV, PHEV, REEV และแบตเตอรี่ ที่รวมหน่วยงานวิจัยและพัฒนา การผลิต การสนับสนุนชิ้นส่วน การจำหน่าย และการจัดส่งเอาไว้ในที่เดียวกัน ช่วยสนับสนุนห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของทั้ง 2 ประเทศ ตลอดจนสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน รวมทั้งเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนไทย ให้ไทยเป็นฐานการผลิตต่อไป”
นายภูมิธรรมได้เสนอแนะให้ฉางอันพิจารณา 3 เรื่อง 1.สนับสนุนการพัฒนาและวิจัย การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ที่เป็น OEM (Original Equipment Manufacturer) 2.ส่งเสริมการยกระดับความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำ (Supply Chain Management) และ3.ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมยานยนต์ไทย ให้แรงงานไทยที่มีศักยภาพได้เรียนรู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีซึ่งจะเป็นประโยชน์กับ 2 ประเทศ
สำหรับเป้าหมายการลงทุนในไทยของฉางอัน ประกอบด้วยบริษัทที่ดูแลการจำหน่าย โรงงานผลิตในประเทศ และผลิตชิ้นส่วนในประเทศ ที่ครอบคลุมทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่งานตัวถัง งานพ่นสี งานประกอบชิ้นส่วนเทคโนโลยีต่าง ๆ งานตรวจสอบคุณภาพอย่างละเอียด จนกลายเป็นรถยนต์ที่สมบูรณ์แบบ โดยวางกำลังการผลิตในระยะแรก 100,000 คันต่อปี เพื่อรองรับตลาดในประเทศ และส่งออกไปยังอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการหารือนายภูมิธรรม ได้ลองนั่งรถ EV รุ่นใหม่ของบริษัทที่บริเวณลานชั้น 3 ของกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ นายจรู ฮวาหลง(Mr.Zhu Huarong) ประธานบริษัทฉางอัน ออโตโมบิล ที่นำมา จำนวน 2 รุ่น SUV และซีดาน คือ รุ่น DEEPAL S07 และรุ่น DEEPAL L07 โดยรถทั้ง 2 รุ่นจะเป็นรุ่นที่มาผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย
ที่มา :กระทรวงพาณิชย์