X

กระแสตอบรับดี Hyler เดินหน้าลุยตลาดในฐานะกระบะไฟฟ้าแบรนด์ไทยเต็มรูปแบบปีหน้า

Last updated: 16 พ.ย. 2566  |  966 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กระบะไฟฟ้า EV Hyler รุ่น EV5

กำลังอยู่ในกระแสความสนใจของกลุ่มผู้ใช้รถปิกอัพไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์อย่างมาก ทั้งในด้านดีไซน์ สมรรถนะ และความเป็น EV 100% สำหรับการโชว์ตัวของรถกระบะไฟฟ้า Hyler รุ่น EV5 ในงาน Health&Wealth Expo 2023 เมื่อเร็วๆนี้

จุดเด่นที่น่าสนใจของกระบะไฟฟ้า Hyler ในอีกมิติหนึ่งคือความเป็นรถกระบะไฟฟ้าแบรนด์ใหม่ เป็นโมเดลที่ผ่านการคัดสรรและพัฒนาร่วมกันระหว่างทีมวิศวกรประเทศจีนและไทยจนลงตัวในระดับหนึ่ง นำไปสู่การนำมาเปิดตัวเช็คกระแสจากตลาดผู้ใช้รถกระบะทั่วไป (ตลาด B to C) เพื่อดูฟีดแบ็คว่าจะได้รับการตอบรับมากน้อยแค่ไหน


นายศรราม พรหมมาการ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ไทย เทคโนโลยี แอนด์ เดเวลลอปเมนท์ จำกัด (TTD) เปิดเผยว่า การนำรถกระบะไฟฟ้า Hyler รุ่น EV5 มาโชว์ตัวในงานนี้ค่อนข้างตอบโจทย์ด้านการตลาดที่ต้องการให้คนรู้จักแบรนด์ ส่วนเป้าหมายที่สองคือการทำตลาดเพื่อเซอร์เวย์กลุ่มคนที่สนใจรถอีวีในกลุ่มบีทูซี เพราะก่อนหน้านี้ทางบริษัททำตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว เป็นการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้ามาทำตลาดในกลุ่มบีทูบี ปัจจุบันมีแผนพัฒนารถกระบะ EV ในนามแบรนด์ไทย จึงทดลองทำแบรนด์ Hyler (ไฮเลอร์) มาเทสต์ตลาด


“มีฟีดแบ็คด้านราคาที่เราตั้งไว้ 1.49 ล้านบาท ว่าค่อนข้างสูง  เพราะราคารถกระบะส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณล้านต้นๆ ถ้าเป็นแบรนด์ดังก็ประมาณล้านสองหรือล้านสาม”

“ที่เราตั้งราคานี้ก็เพื่อเปิดให้จองภายในงาน แต่ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องมีผลลัพท์หรือยอดจองเท่าไหร่ ตรงนี้มีการพูดคุยกับทีมงานและทีมขายแล้วว่า เป้าหมายของเราคือการพีอาร์ให้คนรู้จักแบรนด์ และโมเดลสินค้าของเรา แผนการตลาดของเราคือการทำตลาดในอีก 1-2 ปีข้างหน้า มองในมุมการตลาดต้องยอมรับว่าถ้าเปิดตัวช้าไม่น่าจะส่งผลดี เพราะแบรนด์ดังๆที่มีชื่อติดตลาดอยู่แล้วจะมีการเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้าเร็วๆนี้ นั่นหมายความว่าเราถือโอกาสนี้ชิงเปิดตัวก่อน เพื่อให้คนรู้จักก่อนแบรนด์อื่น”


ในเมื่อมีแผนจะทำเป็นแบรนด์ไทยในอีก 1-2 ปี ข้างหน้า จึงเกิดคำถามตามมาว่า การนำรถออกมาโชว์เพื่อดูฟีดแบ็คของทางบริษัทนั้นได้รับผลตอบรับมากน้อยแค่ไหน และจะนำไปสู่การพัฒนาไปในทิศทางใด?


“เรากำลังศึกษาว่าคนสนใจโมเดลไหน ราคาที่ตอบโจทย์กลุ่มบีทูซีในไทยนั้นอยู่ที่เท่าไหร่ ต้องยอมรับว่าจีนเป็นแบรนด์ชั้นนำอันดับต้น ๆ ที่มีความชำนาญในเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาร่วมกับจีน จะมีการเก็บข้อมูลมาพัฒนาเป็นเวอร์ชั่นของไทยเรา ส่วนการลงทุนนั้นจะเป็นการลงทุนของคนไทยทั้งหมด”


ก่อนหน้านี้ “ไทย เทคโนโลยี แอนด์ เดเวลลอปเมนท์” ประกอบกิจการนำเข้าและจัดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถตู้ มินิบัส รถบัส เป็นการทำตลาดรถยนต์พาณิชย์กับหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งต่อมาผู้บริหารได้ให้แนวทางทีมการตลาดว่าตลาดรถเล็ก กลุ่มรถบ้าน ก็น่าสนใจ จึงหาตัวโมเดลต่างๆมาเลือกกันว่าโมเดลไหนน่าลองเอามาแนะนำสู่ตลาดไทย ก็ได้ข้อสรุปว่าเป็นรถขนส่งขนาดเล็กและรถกระบะไฟฟ้า โดยในมุมการตลาดคิดว่าโมเดลที่เอามาเปิดตัวต้องมีความโดดเด่นและแตกต่างจากรถกระบะ EV ที่มีขายในตลาดไทย ณ ขณะนี้


“เมื่อลงตัวในเรื่องโมเดลกระบะอีวี ส่วนของโลโก้นั้นมีการออกแบบใหม่ ตรงนี้เป็นแผนของการทำตลาดแบรนด์ของเรา ที่อาจจะมีการปรับปรุงและพัฒนาอีกในอนาคต การนำรถมาโชว์ครั้งนี้ถือเป็นการเทสต์ตลาดระยะแรก อาจจะยังไม่ดีที่สุด มีคอมเมนท์หลายคอมเม้นท์ตอบกลับจากคนที่ได้เข้ามาชมรถจริง มีหลายข้อที่ต้องนำกลับไปปรับปรุง ต้องยืนยันว่าเรายังอยู่ในช่วงของการพัฒนาผลิตภัณฑ์”


จากการออกบูธในงาน 3-4 วัน ได้ข้อสรุปว่าลูกค้าที่สนใจมาชมรถส่วนใหญ่มีอายุประมาณ 35-50 ปี เป็นกลุ่มวัยทำงานหรือกลุ่มสูงวัย ถ้าเป็นกลุ่มวัยทำงาน อายุ 35-40 ปี ส่วนใหญ่จะสนใจกระบะอีวี ถ้าอายุมากกว่านั้นจะสนใจดูรถตู้ไฟฟ้า ซึ่งมี 2 รูปแบบด้วยกัน แบบแพสเซนเจอร์ และโลจิสติกส์


“จริงๆ รถตู้ไฟฟ้าถูกออกแบบมาเป็นโลจิสติกส์ ถ้าเป็นแบบแพสเซนเจอร์จะขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าต้องการให้ปรับจำนวนที่นั่งเป็นเท่าไหร่ ลูกค้าสามารถระบุความต้องการมาได้เลย เพราะเรายังมีความเป็นบีทูบีอยู่ เวลาขายรถอีวีหรือสินค้าเชิงพาณิชย์ให้ลูกค้ากลุ่มนี้เราจะปรับตามความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก”


“ในส่วนของรถตู้ไฟฟ้าฟีดแบ็คก็ดีไม่แพ้กัน อาจจะมีลูกค้าบางคนกังวลในเรื่องของราคา การทำตลาดรถตู้มีแนวคิดเหมือนรถกระบะ คือเป็นโมเดลที่เอามาเช็กตลาดเช่นเดียวกัน ด้วยความที่เห็นว่ามีพื้นที่เหลือก็เลยอยากจะเอามาลองดูว่ามีคนสนใจไหม แล้วราคาเท่าไหร่ถึงจะถูกใจกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ได้ข้อมูลทั้ง 2 รายการ ต้องบอกว่ากลับไปรอบนี้ฝ่ายการตลาดต้องทำงานเยอะพอสมควร”


“ฟีดแบ็คที่ได้รับทำให้มีแนวโน้มได้ลุยต่อ ทางผู้บริหารเคาะมาแล้ว จากที่ปรึกษากันนอกรอบ และหลังจากได้ดูฟีดแบ็คทางโซเชียลและสื่อหลักช่องทางต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มว่าตัวราคาสามารถปรับลดลงได้ แต่ต้องมาคุยและกางแผนการตลาดกันอีกทีว่าเราตั้งเป้าที่เท่าไหร่ จะเดินหน้าไปในทิศทางไหน แล้วก็กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน ซึ่งทางผู้บริหารก็ไกด์ไลน์มาให้บ้างแล้ว” ผู้จัดการฝ่ายการตลาดกระบะไฟฟ้า Hyler กล่าวอย่างมั่นใจ



สเปคกระบะไฟฟ้า EV Hyler รุ่น EV5

Pick up EV Double cab ราคาจำหน่าย 1.49 ล้านบาท  



ขนาดตัวถัง (มม.) 5330*1870*1864

จำนวนที่นั่ง 5

ความจุแบตเตอรี่ (kW) 65

ความเร็วสูงสุด (กม./ชม.) 130

จำนวนระยะทาง (Km) 350-400

อัตราสิ้นเปลือง (1กม.)  0.6 บาท/กม.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้